รีเซต

เสียงคนสงขลา-พัทลุง กับการผุดสะพาน 2 จังหวัด

เสียงคนสงขลา-พัทลุง กับการผุดสะพาน 2 จังหวัด
มติชน
29 ตุลาคม 2565 ( 12:17 )
94
เสียงคนสงขลา-พัทลุง กับการผุดสะพาน 2 จังหวัด

ต ามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 ให้กรมทางหลวงชนบทดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา-ต.จองถนน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง วงเงิน 4,841 ล้านบาท โดยโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลามีขนาด 2 ช่องจราจร ขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทางทั้งสิ้น 7 กิโลเมตร (กม.) ช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง เพิ่มศักยภาพในการเดินทางระหว่าง จ.พัทลุง กับ จ.สงขลา ร่นระยะทางลงได้ประมาณ 80 กม. หรือเวลาการเดินทางราว 2 ชั่วโมง

 

สุรพล กำพลานนท์วัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเขตภาคใต้ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า การได้รับงบประมาณในการพัฒนาพื้นที่ถือเป็นเรื่องที่ดีสะพานข้ามทะเลสาบเชื่อมสงขลา-พัทลุง เป็นการสร้างแลนด์มาร์กทางการท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เมื่อการเดินทางสะดวกมากขึ้นก็จะมีการค้าการลงทุนตามมา เราเป็นภาคเอกชนในภาคธุรกิจท่องเที่ยว ก็ต้องชื่นชมภาคการเมืองที่สนับสนุนจัดสรรงบประมาณลงมา

 

ขณะที่ ธนวัฒน์ พูนศิลป์ ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลา กลับมีมุมมองถึงการใช้งบก้อนใหญ่นี้ว่า หากจะนำมาก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองสงขลา เป็นมอเตอร์เวย์แทนน่าจะดีกว่า การสร้างถนนจะเอื้อประโยชน์ในเชิงธุรกิจได้มากกว่าการใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่อสร้างสะพาน แม้สะพานเชื่อมแห่งนี้จะร่นระยะทางได้ถึง 80 กิโลเมตร แต่หากอยู่ อ.หาดใหญ่ จะเดินทางไปพัทลุงก็ยังคงใช้ถนนสายเดิม เพราะหากจะขึ้นสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา ต.เกาะใหญ่ อ.กระแสสินธุ์ ไปยัง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง นั้น หากออกจาก อ.หาดใหญ่ ขับรถไปยัง อ.กระแสสินธุ์ ก็จะใช้เวลาและระยะทางใกล้เคียงกัน มองว่าหากนำงบ 4,800 ล้าน มาแบ่งให้ 2 จังหวัดเท่าๆ กัน เชื่อว่าภาคธุรกิจจะเลือกสร้างถนน ขยายถนน พัฒนาเส้นทางที่ส่งเสริมกับเศรษฐกิจ เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากกว่า

 

อีกทั้งในความเป็นจริงพื้นที่ก่อสร้างไม่ได้เป็นเส้นทางการท่องเที่ยว นอกจากนั้น การสร้างสะพานข้ามทะเลสาบก่อนหน้านี้อย่างเช่น สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 (เส้นทาง พท.3070) เริ่มจากทะเลน้อยใน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ไปจนถึง อ.ระโนด จ.สงขลา รวมระยะทางกว่า 14 กิโลเมตร มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากน้อยแค่ไหน

 

ประธานหอการค้าจังหวัดสงขลายังกล่าวต่อว่า ช่วงการเปิดเวทีแสดงความเห็นกับโครงการนี้ ได้คัดค้านไปก่อนแล้ว การเกิดประโยชน์ไม่ได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ใช้ แต่เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วก็ต้องดำเนินการกันไปในความเป็นจริงนั้นการบริหารงบประมาณควรจะดำเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่าง อบจ.ที่จัดสรรโครงการพัฒนาภายใต้บริบทของแต่ละจังหวัด สามารถพัฒนาได้ตรงจุดของแต่ละจังหวัด ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง

 

อย่างไรก็ตาม สายัณห์ ทองศรี ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทำงานด้านอนุรักษ์ทั้งอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา แสดงความเห็นด้วยต่อโครงการหลายพันล้านที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า เห็นชัดคือราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้น ยังมองเห็นภาพของการท่องเที่ยวบนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ครอบคลุมและรอบด้านระหว่างลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาของสงขลากับพัทลุง ส่วนเรื่องสิ่งแวดล้อมจะไม่กระทบ ตราบใดที่ไม่มีการสร้างเขื่อนกั้นน้ำเค็มกับน้ำจืดระหว่างทะเลสาบตอนกลางกับทะเลหลวง เพราะหากสร้างส่วนนี้จะกระทบระบบนิเวศ 3 น้ำของทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านในพื้นที่ 2 จังหวัดไม่ยอมแน่นอน

ลองฟังความเห็นของภาคเอกชน จ.พัทลุง กันบ้าง

กิตติพิชญ์ กลับคุณ ประธานหอการค้าจังหวัดพัทลุง เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ช่วยให้การเดินทางระหว่างพัทลุง-สงขลาใช้เวลาน้อยลงด้วยระยะทางที่สั้นลง ช่วยลดต้นทุนการขนส่ง ลดน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเส้นทางใหม่ในการเดินทางระหว่างจังหวัดใกล้เคียง เช่น จ.นครศรีธรรมราช จากเดิมเคยใช้เส้นทางสะพานเฉลิมพระเกียรติฯ แต่เมื่อมีสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาเส้นใหม่เท่ากับมีเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก ที่ยังจะเชื่อมกับ จ.นครศรีธรรมราช ด้วย ส่วนพัทลุงมีจุดแข็งการท่องเที่ยวชุมชนและสุขภาพ สร้างสะพานแห่งใหม่ก็ขยายพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มขึ้น ตอนนี้ก็มีการลงทุนรีสอร์ตที่พักในพื้นที่เพื่อรองรับโครงการสะพานนี้แล้ว

ส่วน จรูญ หาดทอง นายกสมาคมการท่องเที่ยวพัทลุง เชื่อว่าพัทลุงจะได้ประโยชน์เมื่อสะพานสร้างเสร็จ โดยเฉพาะในส่วนของ อ.เขาชัยสน บางแก้ว และปากพะยูน ทั้ง 3 อำเภอนี้ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวไม่เคยชัดเจน ถ้ามีสะพานนี้การท่องเที่ยวทุกอย่างจะดีขึ้น ราคาที่ดินจะแพงขึ้นตาม ผลประโยชน์ตกกับชาวบ้านในพื้นที่

สิ่งที่อยากให้รัฐบาลเข้ามาดำเนินการคือ กำหนดปฏิทินท่องเที่ยวที่ชัดขึ้น คือช่วงไหนที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้ามาเที่ยวได้ มีอะไรที่ไหนบ้าง หรือที่ อ.ปากพะยูน มีกุ้งสามน้ำ คนสามารถเดินทางมากินกุ้งได้เดือนไหน หากกำหนดชัดเชื่อว่าสามารถดึงนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวภายใน จ.พัทลุง ได้เพิ่มขึ้น จรูญกล่าว

ในส่วนของ เจริญชัย ช่วยชู ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวใน จ.พัทลุง ก็เห็นด้วยที่จะเกิดสะพานแห่งใหม่ พัทลุงมีทุนเดิมเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณี และประวัติศาสตร์มากมาย เริ่มจากเทือกเขาบรรทัด มีชนเผ่ามันนิ ขณะที่การล่องแก่งหนานมดแดงตามสายน้ำธรรมชาติ ทั้งเส้นทางเดินป่า สามารถดึงนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ ถัดมาโซนกลางเป็นเรื่องของประเพณี วัฒนธรรม ที่วัดเขาอ้อ ที่มีชื่อเสียงเรื่องสำนักตักศิลามหาเวทย์ สถานที่แห่งศรัทธาด้านสรรพเวทย์ สรรพยาที่เข้มขลังเลื่องลือมากที่สุดในภาคใต้ ส่วนวัดเขียนบางแก้ว วังเก่าวังใหม่ วังเจ้าเมือง ที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้ และในโซนทะเลสาบ พัทลุงมีอุทยานนกน้ำทะเลน้อย พื้นที่แรมซาร์ไซต์ โลมาอิรวดี นับเป็นแหล่งโลมาน้ำจืด 1 ใน 5 แห่งของทั่วโลก ที่สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา จ.พัทลุง ได้

นับเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์มากมายให้กับประชาชนและภาคธุรกิจในพื้นที่ล้วนต่างเฝ้ารอทั้งสิ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง