รีเซต

"โกฐจุฬาลัมพา" สามารถใช้เป็นยาต้าน COVID-19 ได้หรือไม่?

"โกฐจุฬาลัมพา" สามารถใช้เป็นยาต้าน COVID-19 ได้หรือไม่?
TNN ช่อง16
8 สิงหาคม 2564 ( 23:50 )
166
"โกฐจุฬาลัมพา" สามารถใช้เป็นยาต้าน COVID-19 ได้หรือไม่?

โกฐจุฬาลัมพา (Artemisia annua L.) สมุนไพรที่ได้รับความนิยมในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานนับพันปี ในสมัยก่อนมีการใช้สมุนไพรชนิดนี้เพื่อลดไข้และรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ และจากงานวิจัยล่าสุดโกฐจุฬาลัมพามีฤทธิ์ในการต้านไวรัสได้




งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Columbia University และ University of Washington สหรัฐอเมริกา เผยแพร่บนวารสาร Journal of Ethnopharmacology ซึ่งได้มีการศึกษาคุณสมบัติในการต้านไวรัส SARS-CoV-2 ต้นเหตุของโรค COVID-19 ในสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพาทั้ง 7 สายพันธุ์จาก 4 ทวีปทั่วโลก


ในการสกัดสารสำคัญจากสมุนไพร นักวิทยาศาสตร์ใช้วิธีแบบดั้งเดิมคือการแช่ใบโกฐจุฬาลัมพาในน้ำร้อน (คล้ายการทำชา) จากนั้นนำน้ำที่ได้มาใช้ในการกำจัดไวรัส SARS-CoV-2 ที่อยู่ในเซลล์เพาะเลี้ยง ผลปรากฏว่ามันสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ อีกทั้งยังออกฤทธิ์ต่อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์อัลฟา (สายพันธุ์อังกฤษ) และเบต้า (สายพันธุ์แอฟริกาใต้) ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ที่มาของภาพ https://www.mdpi.com/1422-0067/21/14/4986/htm

 


แต่ที่น่าแปลกคือ ในตอนแรกนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าสาร Artemisinin (อาร์ทีมิสซินิน) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการทำยาต้านมาลาเรีย และสาร Flavonoid (ฟลาโวนอยด์) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ น่าจะเป็นสารที่ออกฤทธิ์ต้านไวรัส อย่างไรก็ตาม หลังการทดลองใช้เพียง Artemisinin หรือ Flavonoid เพียงอย่างเดียวในการยับยั้งไวรัส สารเหล่านี้กลับไม่ออกฤทธิ์ตามที่คาด 


นั่นหมายความว่าในโกฐจุฬาลัมพาน่าจะมีสารบางอย่างที่ยับยั้งไวรัสได้ เพียงแต่ยังไม่ทราบว่าสารชนิดนั้นคือสารใด อีกทั้งสารตัวนี้ยังอยู่ได้เป็นเวลานานในใบของโกฐจุฬาลัมพา เพราะนักวิทยาศาสตร์พบว่าการใช้ใบแห้งที่มีอายุกว่า 12 ปี ยังให้ฤทธิ์ในการต้านไวรัสได้เช่นกัน


การออกฤทธิ์ของสารในโกฐจุฬาลัมพา ไม่ได้ป้องกันให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ (แสดงว่ามันยังบุกรุกเซลล์ปอดของเราได้อยู่) แต่สารลึกลับนี้จะป้องกันไม่ให้ไวรัสที่เข้าเซลล์ไปแล้วสามารถเพิ่มจำนวนได้ อีกทั้งยังส่งผลให้ไวรัสตายในที่สุด ซึ่งนับว่าเป็นผลลัพธ์ที่ดีเลยทีเดียว


ทั้งนี้ การทดลองดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในเซลล์เพาะเลี้ยง และในขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาผลของน้ำจากโกฐจุฬาลัมพาเพื่อใช้ต้านไวรัส SARS-CoV-2 ในมนุษย์ นักวิทยาศาสตร์จึงยังไม่แนะนำให้ใช้เป็นยาต้านไวรัสในขณะนี้ แม้การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยงจะได้ผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ แต่กลไกในร่างกายของมนุษย์มีความซับซ้อนมากกว่านั้น บางทีเมื่อคุณดื่มไปสารสำคัญอาจถูกทำลายไปในระหว่างทางเดินอาหาร หรือดื่มน้อยไปอาจไม่ออกฤทธิ์ต้านไวรัสเลย หรือดื่มมากไปอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะในร่างกายได้ด้วย 


เพราะฉะนั้นจึงควรรอให้มีการศึกษาผลของสมุนไพรชนิดนี้ในมนุษย์เสียก่อน ซึ่งอาจใช้เวลาในการทดลองสักระยะหนึ่ง อย่างที่หลายคนทราบดีว่าการทดลองวัคซีนจะต้องผ่านขั้นตอนตั้งแต่ทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง ทดลองในสัตว์ ทดลองในคน และทดลองในคนหมู่มาก กว่าจะได้เป็นวัคซีนป้องกัน COVID-19 จนทุกวันนี้ ซึ่งการทดลองของโกฐจุฬาลัมพาก็ต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้เช่นเดียวกัน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก WPI

  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง