สปสช.จี้ รพ.เอกชน คืนเงินผู้ป่วยโควิด เผยสำเร็จแล้ว 74 ราย อีก 200 อยู่ระหว่างดำเนินการ
วันนี้ (10 พฤษภาคม 2564) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผ่านเฟซบุ๊ก ไลฟ์ เรื่อง “ป่วยโควิด-19 รักษาฟรี แม้ไปเอกชน รพ.ห้ามเรียกเก็บจากผู้ป่วย”
นพ.จเด็จ กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉิน โรงพยาบาล (รพ.) เอกชนให้เรียกเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ จาก สปสช. โดยไม่ต้องเก็บจากประชาชน ซึ่งค่าใช้จ่ายจะจ่ายตามรายการต่างๆ 4,000 กว่ารายการ ในอัตราที่มีการตกลงร่วมกันกับ รพ.เอกชน และผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว หรือหากมีรายการไหนไม่ครอบคลุม สามารถเสนอมาที่ สบส. เพื่อพิจารณาขยายรายการเพิ่มได้
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมา ที่มี รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินจากประชาชน พบว่ามี 3-4 สาเหตุ ประกอบด้วย 1.อ้างว่า สปสช.จ่ายเงินช้า ทำให้ต้องเรียกเก็บเงินจากประชาชนไว้ก่อน แต่ขณะนี้ สปสช.ปรับรอบการจ่ายเงินให้เร็วขึ้นเป็นทุก 15 วัน ดังนั้นไม่ควรมีการเก็บเงินจากผู้ป่วยด้วยเหตุผลนี้อีก 2.เบิกค่าใช้จ่ายแพงกว่าหรือเกินกว่าอัตราที่มีการตกลงกับ สปสช.ไว้ กรณีนี้ต้องขอให้เก็บตามอัตราที่กำหนด 3.เรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่ไม่มีในประกาศ ประเด็นนี้ สบส.จะพิจารณาขยายรายการจ่ายให้ และเมื่อขยายแล้ว สปสช.จะจ่ายเงินคืนให้ย้อนหลัง ดังนั้น จึงไม่มีเหตุต้องเก็บจากผู้ป่วย และ 4.โรงพยาบาลตามกติกาไม่ทัน เช่น เกณฑ์คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นระยะๆ จากเดิมที่ต้องแสดงอาการ แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นให้แพทย์พิจารณา บางโรงพยาบาลตามกติกาไม่ทัน จึงไม่ตรวจ เพราะกลัว สปสช.ไม่จ่ายเงิน
“นี่เป็น 4 สาเหตุ ที่มี รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ตอนนี้แก้ปัญหาหมดแล้ว เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ ยังกล่าวถึงกรณีที่มี รพ.เอกชนบางแห่ง ให้ข้อมูลทำนองว่า สปสช.จ่ายไม่เต็มจำนวนที่ขอเบิก ว่า ขอชี้แจงว่า สปสช.จ่ายตามอัตราที่กำหนดซึ่งเป็นราคาที่ได้มีการตกลงร่วมกันกับ รพ.เอกชนแล้ว ไม่ได้จ่ายน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และจากการตรวจสอบพบว่า โรงพยาบาลเรียกเก็บตามรายการมา 717,282 บาท แต่เก็บในราคาเกินกว่าที่มีการประกาศกำหนด สปสช.ทำความเข้าใจกับโรงพยาบาลแล้วว่า จะจ่ายตามอัตราที่ตกลงกันไว้ที่ 542,643 บาท ไม่ได้จ่ายน้อย แต่จ่ายตามกติกา และราคาที่มีการตกลงกันไว้
“นอกจากนี้ พบว่ายังมีเรียกเก็บค่าใช้จ่ายนอกรายการที่กำหนดอีก 174,639 บาท ซึ่งกรณีนี้ต้องแจ้ง สบส. พิจารณาขยายรายการและคืนเงินแก่โรงพยาบาลย้อนหลัง ต้องย้ำว่า เราจ่ายตามกติกา จ่ายตามราคาที่มีการตกลงกันไว้ ไม่ได้จ่ายต่ำกว่าที่ควรเป็น” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า จากข้อมูลพบว่ามีการร้องเรียนว่าถูก รพ.เอกชน เรียกเก็บเงินไปที่ สบส. 74 กรณี ขณะนี้โรงพยาบาลคืนเงินให้หมดแล้ว ส่วนที่ร้องเรียนมาที่ สปสช. ยังค้างในระบบเกือบ 200 กรณี กำลังอยู่ระหว่างการประสานให้โรงพยาบาลคืนเงินแก่ผู้ป่วย ซึ่งหากประชาชนไปตรวจรักษาและได้จ่ายเงินไปแล้ว สามารถร้องเรียนที่สายด่วน 1330 ของ สปสช. หรือ 1426 ของ สบส. เพื่อประสานขอเงินคืนต่อไป
ด้าน นพ.ธเรศ กล่าวว่า สบส.ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทำให้ รพ.เอกชน ทุกแห่ง ต้องดูแลผู้ป่วยเหมือนเป็นผู้ป่วยฉุกเฉิน กรณีค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้าผู้ป่วยมีประกันสุขภาพ ให้เรียกเก็บจากประกันก่อน ถ้ามีค่าใช้จ่ายเกินกว่านั้นให้มาเก็บจาก สปสช. โดยประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่อยู่ในรายการที่กำหนด สามารถแจ้งมาที่ สบส. เพื่อพิจารณาขยายเพิ่มเติมแล้วจะคืนเงินให้เมื่อผ่านการพิจารณาจาก ครม.แล้ว โดยขณะนี้สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้เสนอเพิ่มเติมรายการเข้ามา 6-7 รายการ
นพ.ธเรศ กล่าวชี้แจงกรณีที่มีข่าวชายน้ำหนักตัวสูงเข้าตรวจที่โรงพยาบาลและพบว่าติดเชื้อ ต้องเข้าห้องฉุกเฉิน ใช้เครื่องช่วยหายใจ แล้วโดนโรงพยาบาลแจ้งค่าใช้จ่าย 5 หมื่นบาท กรณีนี้ค่าใช้จ่ายต่างๆอยู่ในรายการที่ สปสช.จ่าย จึงไม่ต้องเรียกเก็บจากผู้ป่วย และเข้าใจว่าการแจ้งค่าใช้จ่ายนั้นเป็นไปตามระบบของโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องแจ้งค่าใช้จ่ายทุก 3-5 วัน ทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าตัวเองต้องจ่าย ขณะนี้ สบส.กำลังทำหนังสือถึงโรงพยาบาลเอกชนต่างๆว่ากรณีผู้ป่วยโควิด-19 ขอให้ไม่ต้องแจ้งค่าใช้จ่าย เพื่อจะได้ไม่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ทั้งนี้ กรณีที่มีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งบอกว่าตรวจรักษาฟรีในบางเครือข่ายเท่านั้น ขอแจ้งว่าประกาศของ สบส. ครอบคลุมโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ใช่เครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง แต่เป็นทุกสถานพยาบาลทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนกับ สบส. จึงไม่เป็นข้อยกเว้นว่าโรงพยาบาลเครือนี้รับ เครือนี้ไม่รับ แต่อย่างใด