รีเซต

กรุงศรี มองทิศทางเงินบาทสัปดาห์นี้ อาจอ่อนค่าแตะ 34.20 บาท/ดอลล์

กรุงศรี มองทิศทางเงินบาทสัปดาห์นี้ อาจอ่อนค่าแตะ 34.20 บาท/ดอลล์
มติชน
4 ตุลาคม 2564 ( 12:29 )
76

ข่าววันนี้ นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.50-34.20 บาท/ดอลลาร์ เทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทปิดอ่อนค่าที่ 33.63 บาท/ดอลลาร์ หลังซื้อขายในกรอบ 33.32-33.97 บาท/ดอลลาร์ โดยระหว่างสัปดาห์เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบกว่า 4 ปีครั้งใหม่ ท่ามกลางแรงซื้อดอลลาร์เป็นวงกว้างในตลาดโลก ทางด้านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติด้วยเสียงเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50%  เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยแตะระดับแข็งค่าสุดนับตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ 2563 และ กรกฎาคม 2563 เมื่อเทียบกับเยนและยูโรตามลำดับ

 

ขณะที่นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าคาด หลังประธานเฟดแสดงความกังวลว่าเงินเฟ้ออาจอยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ นอกจากนี้ ดอลลาร์ยังได้รับแรงหนุนขณะที่ตลาดกังวลกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทย 2,003 ล้านบาท แต่ขายพันธบัตร 8,661 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 3 เงินบาทอ่อนค่าลงถึง 5.6% และยังคงเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคสำหรับปีนี้

 

“ นักลงทุนจะติดตามข้อมูลภาคบริการและตลาดแรงงานเดือนกันยายนของสหรัฐฯ หากสดใสเกินคาดจะช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์และบอนด์ยิลด์ต่อไป  ส่วนกรณีที่ตำแหน่งการจ้างงานต่ำกว่าคาดแต่ค่าจ้างยังสูงขึ้นอาจทำให้ตลาดยิ่งวิตกต่อภาวะ Stagflation กดดันสินทรัพย์เสี่ยงและจำกัดการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ในระยะสั้น รวมถึงประเด็นการคลังสหรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนอาจสร้างความผันผวนต่อตลาดเช่นกัน “  นางสาวรุ่ง กล่าว

 

นางสาวรุ่ง กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กนง. ประเมินว่าไตรมาส 3 เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจซึ่งจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปแต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยทางการคงประมาณการอัตราการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ที่ 0.7% และเพิ่มคาดการณ์จีดีพีปี 2565 เป็นเติบโต 3.9% จากที่เคยคาดไว้ที่ 3.7% ขณะที่เห็นว่ามาตรการด้านการเงินจะมีประสิทธิผลมากกว่าการลดดอกเบี้ย กนง. ระบุว่าการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคจะส่งผลบวกต่อความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ขณะที่ในปี 2565 เศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นตัวจากการใช้จ่ายในประเทศ โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอย่างช้าๆ จากท่าทีล่าสุดและมติที่เป็นเอกฉันท์ ทำให้กรุงศรีคาดว่ากนง. จะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ตลอดปี 2565 เป็นอย่างน้อย อย่างไรก็ดี อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีแนวโน้มสูงขึ้นตามตลาดโลกและการกู้เงินเพิ่มเติมจากภาครัฐ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง