ผู้ว่าฯฮ่องกงยอมรับ วิตกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จีนที่กวางตุ้งรั่วไหล ยันระดับกัมมันตภาพรังสียังปกติ
เอพี รายงานว่า นาง แครี หลั่ม ผู้ว่าการเขตปกครองพิเศษฮ่องกง แถลงเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนนี้ยอมรับว่า ทางการฮ่องกง “เป็นกังวลสูงมาก” เกี่ยวกับสถานการณ์ของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ที่ไท่ซาน ในเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ที่อยู่ห่างออกไปเพียง 135 กิโลเมตร หลังจากที่มีรายงานข่าวจากหลายกระแสระบุว่า อาจเกิดการรั่วไหลขึ้นที่เตาปฏิกรณ์ปรมาณู 1 ใน 2 ตัวภายในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้
อย่างไรก็ตามนางหลั่ม ยืนยันว่า ข้อมูลที่ได้จาก สำนักงานสังเกตการณ์แห่งฮ่องกง และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแสดงให้เห็นว่าระดับกัมมันตภาพรังสีในฮ่องกงยังคงอยู่ในระดับปกติ เช่นเดียวกับเมื่อช่วงเช้าวันเดียวกันนี้
นางหลั่มแถลงดังกล่าวหลังจากมีรายงานก่อนหน้านี้ว่า ได้รับการเปิดเผยจากเจ้าหน้าที่ของบริษัทร่วมทุนจากฝรั่งเศสของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไท่ซาน ว่ากำลัง “รับมือกับปัญหาสมรรถนะการทำงาน” ของโรงไฟฟ้าดังกล่าว แต่ระบุด้วยว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังคงทำงานในระดับของค่าความปลอดภัยที่กำหนด ในขณะที่สื่อระดับนานาชาติหลายสำนักระบุว่า โรงไฟฟ้าแห่งนี้อาจเจอปัญหาการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี
นางหลั่มยืนยันว่า ฮ่องกงมีระบบที่วางเอาไว้ให้สามารถตรวจจับระดับกัมมันตภาพรังสีอยู่แล้วและทางการพร้อมแจ้งต่อสาธารณชนทันทีหากมีปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น ทั้งนี้ทางการฮ่องกงกำลังพยายามติดต่อทางการมณฑลกวางตุ้งเพื่อความกระจ่างในเรื่องนี้ แต่ยังติดวันหยุดทำการเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า บริษัท ฟรามาโตม ที่ เอเลคทริซิเต เดอ ฟรองซ์ (อีดีเอฟ) กิจการพลังงานและการไฟฟ้าข้ามชาติของฝรั่งเศสเป็นเจ้าของ ได้ส่งหนังสือถึงกระทรวงพลังงานสหรัฐอเมริกา ว่า “กำลังจะเกิดภัยคุกคามจากนิวเคลียร์” ขึ้นเต็มทีแล้ว และกล่าวหาทางการจีนว่า ได้เพิ่มระดับกัมมันตภาพรังสีที่ยอมรับได้นอกโรงงานไฟฟ้าสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อไม่ให้จำเป็นต้องปิดการทำงานของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ซีเอ็นเอ็นอ้างในเวลาต่อมาว่า หลังจากประเมินสถานการณ์แล้ว ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐอเมริกาเชื่อว่า สถานการณ์ที่โรงไฟฟ้าไท่ซาน ยังไม่ถือว่าคุกคามต่อความปลอดภัยอย่างร้ายแรงแต่อย่างใด
เอเลคทริซิเต เดอ ฟรองซ์ แถลงเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนนี้ว่า ได้รับแจ้งว่า เกิดการสะสมมากขึ้นของก๊าซหายากบางอย่าง ในปริมณฑลของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 ของโรงไฟฟ้าไท่ซาน และได้เรียกร้องต่อบริษัทร่วมทุนฝ่ายจีน คือ กลุ่มบริษัทโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์จีนกวางตุ้ง ที่ถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนอยู่ 70 เปอร์เซ็นต์ให้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ด) เพื่อให้ฝ่ายบริหารนำเสนอข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นต่อการตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไป