รีเซต

"เอสอีดิจิทัล" คาดปีหน้ามูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทะลุหมื่นล. ชี้โอกาสระดมทุนรูปแบบใหม่

"เอสอีดิจิทัล" คาดปีหน้ามูลค่าตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลทะลุหมื่นล. ชี้โอกาสระดมทุนรูปแบบใหม่
มติชน
2 พฤศจิกายน 2563 ( 13:57 )
89

นายอัฏฐ์ ทองใหญ่ อัศวนันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอส อี ดิจิทัล จำกัด บริษัทที่ให้บริการด้านที่ปรึกษาทางการเงินในการออกสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เรียกว่า ICO Portal (Initial Coin Offering Portal) บริษัทในเครือของ บริษัทหลักทรัพย์ ซีมีโก้ จำกัด ให้สัมภาษณ์ถึงโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลว่า ขณะนี้บริษัทเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการไม่น้อยกว่า 10 บริษัทที่มีแผนที่จะระดมทุนในรูปของ “สินทรัพย์ดิจิทัล” โดยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 จะมีการออกสินทรัพย์ดิจิทัล มูลค่าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท และในปี 2564 อีกไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มูลค่าทางการตลาดของสินทรัพย์ดิจิทัลแตะระดับ 10,000 ล้านบาทในปี 2564

 

“ที่ผ่านมาเวลาพูดถึงสินทรัพย์ดิจิทัล ทุกคนจะไปนึกถึง คริปโทเคอร์เรนซี(Cryptocurrency) อย่างบิทคอยน์ (Bitcoin) หรือ อิเทอร์เรียม(Ethereum) หรือสกุลเงินอื่นๆ ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า ซึ่งขณะนี้ยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นเงินที่ธนาคารกลางทั่วโลกยอมรับ ในขณะที่จริงๆ แล้ว สินทรัพย์ดิจิทัล มีมากกว่า คริปโทเคอร์เรนซี โดยปัจจุบันมีการพัฒนาออกมาอยู่ในรูปแบบของหน่วยลงทุนทางดิจิทัลที่เรียกว่า โทเคน ดิจิทัล(digital token)” นายอัฏฐ์ กล่าว

 

นาย อัฏฐ์ อธิบายว่า โทเคน ดิจิทัล เป็นรูปแบบของการลงทุนที่มีการอ้างอิงกับสินทรัพย์การลงทุนปกติ(Traditional Asset) ทำให้ง่ายต่อการเข้าใจของผู้ลงทุนทั่วไป และยังมีระบบรักษาความปลอดภัยและการคุ้มครองผู้ลงทุนในทุกโทเคนที่ซื้อขายผ่านระบบฐานข้อมูลแบบกระจายศูนย์ที่มีกลไกการทำงานที่ให้เกิดธุรกรรมได้โดยที่ไม่ต้องอาศัยคนกลางที่เรียกว่าบล็อกเชน (Blockchain) ทำให้สามารถจับต้องได้มากกว่า คริปโตเคอร์เรนซี ยกตัวอย่าง ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องการระดมทุนโดยการออก โทเคนดิจิทัล โดยผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมให้สัญญาว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 5 ต่อปี พ่วงกับสัญญาที่ให้ผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัล สามารถที่จะใช้บริการโรงแรมในเครือให้ได้ส่วนลดในอัตราร้อยละ 50 ICO Portal ในฐานะที่เป็นผู้กลั่นกรองสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคล้ายๆ กับที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นหรือหุ้นกู้ จะทำหน้าที่ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจและให้คำแนะนำกับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนต่อไป

 

“โครงสร้างของธุรกิจมีความใกล้เคียงกับการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไป(Initial Public Offering :IPO) แต่ ICO จะมีกระบวนการทำงานที่สั้นและกระชับมากกว่า เพราะเราไม่ได้ขายหุ้นของบริษัท แต่เราขายสินค้าหรือบริการของธุรกิจนั้นๆ แยกออกมาเป็นส่วนๆ ต่างหากจากบริษัท เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความคล่องตัวในการระดมเงินทุนมาใช้ในการขยายธุรกิจได้เร็วขึ้นในต้นทุนทางการเงินที่ถูกกว่าการออกหุ้นเพิ่มทุนหรือหุ้นกู้ ในขณะที่ผู้ลงทุนก็มีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น” นายอัฏฐ์ กล่าว

 

นายอัฏฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีกฏหมายรองรับการออกสินทรัพย์ดิจิทัลคือ พระราชกำหนดประกอบสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 และมีผู้ประกอบการที่สนใจจะออกสินทรัพย์ดิจิทัลหลายบริษัท ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและมีแผนที่จะออกสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างน้อย 3 บริษัทมูลค่าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาทในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ที่บริษัทเป็นที่ปรึกษาทางการเงินหรือ ICO Portal ให้

 

นายอัฏฐ์ กล่าวว่า ในปี 2564 จะมีธุรกิจที่มีแผนที่จะออกสินทรัพย์ดิจิทัลอีกไม่น้อยกว่า 7,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ธุรกิจโรงแรม ค้าปลีก สุขภาพ บริษัทเกี่ยวกับธุรกิจเช่าซื้อ เป็นต้น ปัจจุบันการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นการซื้อ-ขาย คริปโตเคอร์เรนซี โดยมีการซื้อขายเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 0.11 เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 300,000-350,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9-10.5 ล้านล้านบาท เป็นโอกาสสำหรับการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย

 

นายปิ่นปราชญ์ จักกะพาก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ็กซ์ จำกัด บริษัทที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการศูนย์การซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจทัล (Digital Asset Exchange) จากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีทุนจดทะเบียน 85 ล้านบาท เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท เอเลเวตเท็ด รีเทิร์นส์ (Elevated Return:ER) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และสินทรัพย์ดิจิทัลจากประเทศสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า โอกาสเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยยังมีศักยภาพที่จะขยายตัวได้อีกมากเนื่องจากประเทศไทยมีโครงสร้างทางกฏหมายที่รองรับการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล ในขณะเดียวกันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้ Facebook, Instagram, และ Mobile Banking มากที่สุดในภูมิภาคนี้ จึงเป็นโอกาสที่ธุรกิจนี้จะเติบโตในประเทศไทย

 

“จุดเด่นของการออกสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปของโทเคน ดิจิทัลในรูปแบบเพื่อการลงทุน(Investment Token) ที่มีสินทรัพย์จริงหนุนหลังอยู่ หรือจะเป็นโทเคนเพื่อการใช้ประโยชน์(Utility Token) ที่กำหนดสิทธิให้ผู้ถือโทเคนได้รับสิทธิในสินค้าและบริการต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ เป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจว่าเขากำลังลงทุนในอะไรและมีผลตอบแทนที่ชัดเจน และเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนที่มีจำนวนเงินไม่มากสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่าย ผ่านการสมัครแอพพลิเคชั่นของศูนย์ซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล เรียกว่าเป็นการลงทุนที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายเมื่อเทียบกับการลงทุนในหุ้นหรือในตราสารหนี้ที่ต้องใช้เงินลงทุนในจำนวนที่สูงกว่า” นายปิ่นปราชญ์ กล่าวและว่า ปัจจุบันบริษัทได้เปิดให้นักลงทุนสามารถเปิดบัญชีกับบริษัทได้แล้ว และคาดว่าจากความร่วมมือกับทางบริษัท เอสอี ดิจิทัล จำกัด จะมีสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบของโทเคนดิจิทัล เข้าซื้อขายได้ไม่น้อยกว่า 3 ตัวในปีนี้มูลค่าตลาด(Market Capitalization) ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท สินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับการลงทุนแต่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการในทุกระดับที่ต้องการระดมทุนผ่านสินทรัพย์ที่บริษัทมีอยู่ทั้งในรูปของสินค้าและบริการโดยมีกระบวนการระดมทุนที่สั้นและกระชับกว่าการขายหุ้นหรือการออกหุ้นกู้ที่มีกระบวนการและขั้นตอนในการระดมทุนที่นานกว่า ในขณะเดียวกันนักลงทุนก็มีทางเลือกในการบริหารจัดการเงินออมของตัวเองให้มีผลตอบแทนที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับการฝากเงินในสถาบันการเงิน แต่ที่ลืมไม่ได้คือ ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจในสินค้าที่ตัวเองเข้าไปลงทุนก่อนการตัดสินใจ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง