รีเซต

อ่านทางนี้! "ถุงมือ" แบบไหนป้องกันเชื้อ "โควิด-19" กรมอนามัยแนะผู้ปรุง-สัมผัสอาหารยึด 5 หลัก

อ่านทางนี้! "ถุงมือ" แบบไหนป้องกันเชื้อ "โควิด-19" กรมอนามัยแนะผู้ปรุง-สัมผัสอาหารยึด 5 หลัก
มติชน
16 มิถุนายน 2563 ( 16:17 )
251
อ่านทางนี้! "ถุงมือ" แบบไหนป้องกันเชื้อ "โควิด-19" กรมอนามัยแนะผู้ปรุง-สัมผัสอาหารยึด 5 หลัก
อ่านทางนี้! “ถุงมือ” แบบไหนป้องกันเชื้อ “โควิด-19” กรมอนามัยแนะผู้ปรุง-สัมผัสอาหารยึด 5 หลัก

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 สุขลักษณะของผู้สัมผัสอาหาร การล้างมือ และดูแลมือให้สะอาดเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในกระบวนการปรุงประกอบอาหารที่ผ่านการสัมผัสมือโดยตรง ควรมีการสวมถุงมือทุกครั้งหรือใช้อุปกรณ์หยิบจับที่สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับมือ ที่พบบ่อยคือ โรคติดเชื้อทางเดินอาหาร การใช้ถุงมือจึงควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทอาหาร เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป และถุงมือต้องมีคุณภาพดี มีความปลอดภัยในการใช้งาน

 

“โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดเป็นมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) ถุงมือที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับอาหารต้องสวมใส่ง่าย และที่สำคัญถุงมือที่ใช้ต้องมีสภาพดี ไม่สกปรก ไม่ฉีกขาด ห้ามใช้ถุงมือที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล หรือใส่ถุงมือไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ไม่สะอาด เพราะอาจจะปนเปื้อนและเป็นแหล่งนำเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ มาสู่อาหารได้ และระมัดระวังการใช้ หากใช้ไม่ถูกวิธีสามารถนำเชื้อโรคได้เช่นกัน” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อไปว่า การเลือกใช้ถุงมืออย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร ผู้ปรุงและผู้สัมผัสอาหารควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ข้อหลัก 1.ใช้ถุงมือสำหรับอาหารโดยเฉพาะ (Food Grade) 2.เลือกใช้ถุงมือ 1 คู่ กับอาหารประเภทเดียวกันเท่านั้น ไม่ใช้ปะปนกัน เช่น อาหารดิบ อาหารปรุงสุกด้วยความร้อนแล้ว อาหารพร้อมปรุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น 3.ห้ามใช้ถุงมือที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล เพราะอาจจะปนเปื้อน เป็นแหล่งนำเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่างๆ มาสู่อาหารได้ 4.หากต้องไปสัมผัสกับอาหารประเภทอื่น หรือต้องหยิบจับสิ่งของอื่น ๆ เช่น เงิน ควรถอดถุงมือออกก่อนทุกครั้ง และ 5.ควรเปลี่ยนถุงมือทุกวัน ไม่ควรใช้ซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ หากถุงมือเปื้อนมากควรรีบเปลี่ยนทันทีเช่นกัน


“ทั้งนี้ กรณีที่ร้านอาหารบางร้านอาจมีคนทำอาหาร คนเสิร์ฟ และคนคิดเงินเป็นคนเดียวกัน รวมถึงร้านขายผลไม้รถเข็น การสวมถุงมือเพื่อหยิบอาหารสดหรือเนื้อสัตว์ดิบ แล้วมาหยิบอาหารที่สุกแล้ว รวมถึงรับ-ทอนเงิน จากลูกค้าโดยไม่มีเปลี่ยนหรือถอดถุงมือออกก่อน การสวมถุงมือก็ไม่ได้ช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคแต่อย่างใด เพราะเชื้อโรคอาจมาจากเนื้อสัตว์ดิบ ไข่ดิบ รวมถึงเงินสดทั้งธนบัตรและเหรียญ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงต้องดูแลล้างมือให้สะอาด ไม่ควรใช้มือหยิบจับอาหารโดยเฉพาะอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว หรืออาหารที่พร้อมรับประทาน ควรใช้อุปกรณ์หยิบจับ แต่หากใช้ถุงมือ ควรใช้ถุงมือสำหรับอาหาร (FOOD GRADE) และที่สำคัญไม่สวมถุงมือแล้วหยิบจับทั่วไป หรือทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะอาจทำให้เสี่ยงปนเปื้อนเชื้อโรคได้ง่าย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง