09.00 INDEX ปราการ ส.ว. พลังประชารัฐ ต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
บทบาทของ 47 ส.ว.ที่ประสานกับ 25 ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐ
ยื่นหนังสือผ่านประธานรัฐสภาเพื่อส่งให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256
คือจังหวะก้าวหนึ่งแห่งการประสานและร่วมมือกันระหว่าง 250 ส.ว.กับ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ
นอกเหนือจากที่ร่วมปฏิบัติการเมื่อวันที่ 24 กันยายน
แม้จะยังไม่มีความเห็นใดๆ จาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่ทั้ง นายวิษณุ เครืองาม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ แสดงความแปลกใจในการเคลื่อนไหว
แต่เมื่อสังคมย้อนมองไปยังสถานภาพไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่าจะเป็น นายวิษณุ เครืองาม ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่าอดีต ไม่ว่าปัจจุบัน
คิดหรือว่าสังคมจะเชื่อในคำอ้างของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือ นายวิษณุ เครืองาม
ตรงนี้แหละที่เป็น ‘ปม’ สำคัญและแหลมคมในทางการเมือง
คำถามอันเสนอเข้ามาก็คือ ตกลง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในทางเป็นจริงหรือไม่
เป็นคำถามไม่เพียงแต่จากสังคมเท่านั้น หากแต่น่าจะมาจากภายในของพรรคประชาธิปัตย์
เพราะว่าการแถลงนโยบายของรัฐบาลที่บรรจุเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นนโยบาย 1 ใน 12 ที่มีความเร่งด่วนเมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 ก็มาจากพรรคประชาธิปัตย์
แต่จนแล้วจนรอดก็แทบไม่มีการเคลื่อนไหวอะไรจากฟากของรัฐบาล กระทั่งมีการปรากฏขึ้นของ ‘เยาวชนปลดแอก’ ในเดือนกรกฎาคม 2563 จึงเริ่มมีการขยับ
กระนั้น ในเดือนกันยายนก็ขยับได้แต่เพียงการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อศึกษาสิ่งที่ศึกษามาแล้ว
และในเดือนพฤศจิกายนก็มีการเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความว่าสามารถแก้รัฐธรรมนูญผ่านมาตรา 256 ได้หรือไม่
ความข้องใจเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นอย่างไร้ความเป็นมาก็ในเมื่อ 250 ส.ว.มาจากการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ในเมื่อ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ
เมื่อ 2 ส่วนนี้ไม่ต้องการแก้เสียแล้วจะเป็นไปได้อย่างไร
เรื่องนี้ชาวบ้านรู้ พรรคร่วมฝ่ายค้านรู้ แต่น่าสงสัยว่า พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา รู้หรือไม่
เป็นความลี้ลับอันดำมืดหรือไม่ในทางการเมือง