รีเซต

“เด็กบางคนเติบโตในท้องของแม่ แต่ผมเติบโตมาในหัวใจสองดวงของทั้งพ่อและแม่”

“เด็กบางคนเติบโตในท้องของแม่ แต่ผมเติบโตมาในหัวใจสองดวงของทั้งพ่อและแม่”
บีบีซี ไทย
9 กรกฎาคม 2563 ( 17:03 )
44
“เด็กบางคนเติบโตในท้องของแม่ แต่ผมเติบโตมาในหัวใจสองดวงของทั้งพ่อและแม่”

ไมเคิล บันทา โพสต์ข้อความเป็นภาษาอังกฤษทางเฟซบุ๊ก เล่าเรื่องที่เขาได้รับการเลี้ยงดูมาโดยครอบครัวชาวอเมริกันตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

หน้าตาและผิวพรรณที่แตกต่างไปจากพ่อแม่ที่อยู่ด้วยในสหรัฐฯ ทำให้เขาตั้งคำถาม

"เรื่องมันเป็นยังไงครับ"

เมื่อจูเลียและสตีฟ ตอบทันทีในตอนนั้นว่าเขาถูกรับมาเลี้ยงจากเมืองไทย ไมเคิลตอบกลับว่า

"โอเค งั้นผมไปเล่นต่อแล้วกัน"

คำยืนยันจากจูเลียกับสตีฟว่าไม่ใช่พ่อแม่ที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันกับเขาไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย

ในช่วงต้นของชีวิต ไมเคิลเติบโตมาในสถานสงเคราะห์หลายแห่ง เขาได้เรียนรู้ในภายหลังเมื่อย้ายไปอยู่สหรัฐฯ แล้วว่าแม่ที่แท้จริงเลี้ยงเขาด้วยตัวคนเดียวได้ราว 10 เดือน ก็จากไป โดยเอาเขาไปฝากเลี้ยงกับครอบครัวของครูคนหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช หลังจากอยู่กับครูที่รับจ้างเลี้ยงได้ 3 เดือน ก็ต้องย้ายเข้าไปอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กบ้านศรีธรรมราชเพราะครอบครัวครูรับภาระไม่ไหว เขาจึงเริ่มต้นชีวิตเด็กกำพร้าเต็มตัวในวัยขวบเศษ

หากช่วง 5 ปีนับจากแรกเกิด เป็นวัยสำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ เป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่จะฝึกให้ลูกได้รู้จักการทำกิจวัตรประจำวันตามเวลาเพื่อพัฒนาการที่ดีในระยะยาว แต่สำหรับไมเคิลแล้วห้าปีแรกของชีวิตคือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความสับสน

"ผมจำอะไรได้ไม่มาก จำได้แค่ว่าผมอยู่ในสถานสงเคราะห์เด็กหลายแห่ง มีทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ผมจำได้แค่ว่า ผมเล่นอยู่คนเดียว ไม่มีเพื่อน มันเป็นประสบการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งผมอยากจะหนีไปจากมัน"

หลังอยู่ที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านศรีธรรมราชได้เพียง 6 เดือน ไมเคิลถูกย้ายไปอยู่บ้านสงขลา เจ้าหน้าที่สถานสงเคราะห์เด็กบ้านศรีธรรมราชพบว่าเขามีพัฒนาการช้ากว่าวัย แม้จะอายุ 5 ขวบแล้ว แต่ไม่สามารถพูดจาเป็นประโยคได้ พูดได้เป็นคำไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่พอจะรู้แล้วว่าเขามีความบกพร่องทางการได้ยินและต้องการให้ได้รับการตรวจรักษาจากสถานพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า ซึ่งบ้านสงขลาคือสถานที่เหมาะสมในเวลานั้น

"ผมไม่รู้ว่าทำไมตอนเป็นเด็ก ตัวเองถึงพูดไม่ได้ ผมเป็นใบ้ ได้แต่ชี้สิ่งนั้น สิ่งนี้ เมื่อต้องการบอกอะไร" ไมเคิลบอกเราตอนที่คุยกันผ่านแอปพลิเคชัน Zoom ด้วยภาษาอังกฤษสำเนียงอเมริกันอย่างคล่องแคล่ว

ปี 2537 ในวัย 7 ขวบ เขาเกือบจะได้ย้ายไปอยู่กับครอบครัวบุญธรรมชาวยุโรปที่เป็นใบ้ ซึ่งได้ยื่นคำขอรับเด็กต่อกรมประชาสงเคราะห์ในขณะนั้น (กรมกิจการเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน) แต่ทีมงานนักสังคมสงเคราะห์ของสหทัยมูลนิธิและศูนย์อำนวยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมที่ได้พบตอนไปประเมินความเหมาะสม คือผู้ทำให้ชะตาชีวิตของไมเคิลต้องพลิกผัน

กรณิศ สุดมี หัวหน้ากลุ่มงานบริการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม สหทัยมูลนิธิ จำได้ว่าเด็กน้อยหน้าตาสะอาดสะอ้าน แววตาครุ่นคิดคนนี้ คอยเฝ้าดูการทำงานของเธอและเพื่อนในทีมอย่างใคร่รู้

"เวลาถามอะไรไป เขาก็ตอบกลับมาเป็นคำ ๆ พูดเสียงอืออาเหมือนคำรามอยู่ในลำคอ ฟังแทบไม่รู้เรื่อง แต่นั่นหมายความว่าเขาไม่ได้หูหนวกเสียทีเดียว เขาเพียงสูญเสียการได้ยิน เราจึงมาทบทวนกันว่าเขาควรจะต้องอยู่ในโลกเงียบต่อไปหรือ"

ในที่สุดศูนย์บุตรบุญธรรมตัดสินใจยกเลิกการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของครอบครัวชาวยุโรปที่เป็นใบ้ และย้ายไมเคิลจากสงขลาไปอยู่ที่สถานสงเคราะห์บ้านนนทภูมิ ปากเกร็ด ในระหว่างรอจัดหาครอบครัวบุญธรรมใหม่

สถานสงเคราะห์ที่ย้ายไปอยู่ใหม่จัดหาเครื่องช่วยฟังให้ได้ตามกำลังทรัพย์ ระดับคุณภาพจึงไม่สูงมากนักความเป็นเด็กทำให้เขาไมได้ใช้มันอย่างเต็มที่ ถูกเพื่อนดึงเล่นบ้าง ทำหล่นเสียหายจนต้องซ่อมบ้าง ในที่สุดทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าเพื่อประโยชน์กับตัวเด็ก ควรส่งเขาไปอยู่ที่โรงเรียนการศึกษาพิเศษลพบุรี

ไมเคิลออกเดินทางอีกครั้ง

ในช่วงเปิดเทอมเขาพักอยู่กับครอบครัวเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในสถานสงเคราะห์ ส่วนเวลาปิดเทอมเขาพักอยู่ที่สำนักงานของมูลนิธิสหทัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการไปเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งวันนั้นก็มาถึง

หลังจากใช้เวลาเดินเรื่องอยู่สองปี ครอบครัวบันทาจากสหรัฐฯ ที่ต้องการช่วยเหลือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ รับไมเคิลไปอยู่ด้วย ตอนที่เขาอายุได้ 10 ปี 4 เดือน

"ตอนแรกเลยผมไปอยู่ที่เมืองแอตแลนตา ในรัฐจอร์เจียสองปี แล้วย้ายไปอยู่รัฐเท็กซัส ตอนอายุสิบสอง เพราะพ่อบุญธรรมได้งานทำในรัฐนี้ ในครอบครัวเดียวกันกับผม พ่อแม่มีลูกของตัวเอง 3 คน และผมมีพี่น้องบุญธรรมที่ถูกขอมาเลี้ยงเหมือนกันอีกสามคนด้วย น้องผู้หญิงคนหนึ่งมาจากเชียงใหม่ อีกคนมาจากจีนและบราซิล รวมแล้วครอบครัวเรามีพี่น้องเจ็ดคน แม่ผมทำงานสถานสงเคราะห์เด็ก แต่ตอนนี้ทั้งพ่อและแม่เกษียณแล้ว"

ไมเคิลไปสหรัฐฯ โดยที่ความสามารถในการพูดภาษาไทยยังไม่เต็มที่ ส่วนภาษาอังกฤษถือได้ว่าเป็นศูนย์ แต่ที่บ้านของพ่อแม่บุญธรรม เขามีพี่น้องจากหลายเชื้อชาติ ทำให้เขาไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง

"ผมถามแม่เหมือนกันว่าพี่น้องของผมมาจากไหนกัน แม่ก็เล่าให้ฟัง เราแลกเปลี่ยนเรื่องราวของกันและกัน และแบ่งปันความรักให้กัน"

พ่อบุญธรรมของไมเคิลเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของสหรัฐฯ ส่วนแม่บุญธรรมเรียนจบด้านการศึกษาพิเศษ ในสหรัฐฯ ไมเคิลได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ได้เรียนภาษามือที่เขาใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว ได้รับการรักษาอาการสูญเสียการได้ยิน จนเขาก้าวเข้ามาสู่โลกแห่งการได้ยินอย่างเต็มตัว

"ตอนไปโรงเรียนในสหรัฐฯ ใหม่ ๆ ผมพูดอะไรไม่รู้เรื่องเลย ได้แต่อึกอัก ๆ แล้วก็ขี้อาย แต่ผมมีครูอยู่ด้วยตลอด มีนักแก้ไขการพูดช่วยเหลือ ผมได้เจอแต่คนที่ดี ไม่ถูกเพื่อนแกล้งเพราะเราอยู่ในกลุ่มคนต่างชาติที่มาเรียนภาษาอังกฤษเหมือนกัน ทุกคนมองผมด้วยความสนใจ"

ไมเคิลเคยกลับไปเมืองไทยตอนอายุได้ 14 ปี เขายังไม่ค่อยพูดแต่ยิ้มเก่งและอารมณ์ดี

"มาเจอเขาอีกครั้งตอนเขาอายุ 33 ปี เมื่อปี 2562 คราวนี้พูดเป็นต่อยหอย พูดเป็นประโยคเหมือนคนทั่วไป เขายังต้องพึ่งเครื่องช่วยฟังขนาดจิ๋ว แต่จะเราไม่รู้เลยว่าเขาคือเด็กที่เคยเป็นใบ้ไม่ยอมพูดมาก่อน แต่ตอนนี้เขาเลือกสื่อสารด้วยคำพูด ไม่ใช่ภาษามือ เราดีใจจนกลั้นน้ำตาไม่อยู่ เขาก็เข้ามาปลอบ และเล่าว่าเรียนจบแล้ว" ครั้งนั้น กรณิศ ไปพบเขาที่อเมริกา

ปัจจุบันไมเคิลทำงานเป็นครูสอนเด็กชั้น ป.2 ที่มีปัญหาทางการได้ยิน และใช้ความรู้จากการเรียนด้านการทำอาหาร สอนทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ในวิดีโอของเขา ไมเคิลสอนทั้งแบบใช้ภาษามือและพูดปกติ

"เป้าหมายของผมคือทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารไทย แต่ตอนนี้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น"

การทำอาหารไทยเป็นส่วนหนึ่งของรากเหง้าในชีวิต และสิ่งที่เขาอยากสัมผัสในฐานะคนไทย

"ผมรักเมืองไทย ผมคิดว่าเป็นประเทศที่มหัศจรรย์ ในเวลาเดียวกันเมื่อผมมาอยู่ในสหรัฐฯ ผมก็มีประสบการณ์ที่ดี มีครอบครัวที่ดี ที่สนับสนุนผม ให้ผมได้ไปโรงเรียนที่ดี พ่อแม่สอนผมว่าจะเป็นคนที่มีความรับผิดชอบและทำให้ชีวิตในอนาคตของตัวเองดีขึ้นได้อย่างไร"

แน่นอนว่าไมเคิลต้องการขุดค้นรากเหง้าของตัวเอง และวางแผนจะมาเมืองไทยอีกครั้งในปีนี้ แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะการระบาดของโรคโควิด-19

"ผมอยากเจอพ่อแม่ของตัวเอง ผมไม่เคยรู้เรื่องของพวกเขาเลย รู้แต่ว่ามีครอบครัวหนึ่งเลี้ยงผมมา อยากไปสถานที่ที่ตัวเองเคยเติบโตมา ผมไม่โทษและไม่สนใจเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต เพราะผมรู้ว่าทุกคนมีความยากลำบากในชีวิต ผมแค่อยากจะรู้ว่าตัวเองเป็นใคร และอยากจะมีความสุข"

ไมเคิลแต่งงานแล้ว และพยายามที่จะมีลูกของตัวเอง เขาวางแผนจะรับเด็กจากเมืองไทยมาเป็นบุตรบุญธรรมอีก 2 คนในอนาคต

"ผมเคยรู้สึกสับสน ไม่รู้ว่าใครเป็นพี่เป็นน้อง ใครเป็นพ่อแม่ คนถามตลอดว่าทำไมผมถึงมีหน้าตาไม่เหมือนพ่อแม่ในอเมริกา ผมก็พูดตรงไปตรงมากับทุกคนว่าผมถูกขอมาเลี้ยงและครอบครัวที่ผมอยู่ด้วยก็ดูแลผมเป็นอย่างดี ผมคิดบวก ผมเปิดใจ และไม่ได้อยากทำให้ตัวเองเจ็บปวด ปรากฏว่าทุกคนที่รู้เรื่องของผม มองมันว่าเป็นเรื่องราวที่พิเศษและน่าทึ่ง"

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง