“หมอยง” เผยผลวิจัยวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 สูตรต่างๆของประเทศไทย
วันนี้ (2 ม.ค.65) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan โดยระบุว่า
" โควิด 19 วัคซีน การกระตุ้นเข็ม 3 ในสูตรต่างๆของประเทศไทย ยง ภู่วรวรรณ 2 มกราคม 2565
วัคซีนกระตุ้นเข็มสาม จะใช้ mRNA และไวรัสเวกเตอร์ เช่น Pfizer (PZ), Modena (MN), AstraZeneca (AZ)
วันนี้จะให้ดูข้อมูลการกระตุ้นด้วย mRNA ในสูตรต่างๆของประเทศไทยที่ใช้ เช่น เชื้อตาย 2 เข็ม SP-SP, SV-SV, SV-AZ, AZ-AZ ซึ่งเป็นสูตรหลักที่ใช้ในประเทศไทย เป็นการศึกษาทางคลินิกที่มีการบันทึกอาการข้างเคียงอย่างละเอียด และกำหนดให้การได้เข็ม 2 ต้องห่างจากการกระตุ้นเข็ม 3 ที่ 5-7 เดือน ทุกรายมีอายุเกิน 18 ปีขึ้นไป มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ข้อจำกัดของการศึกษานี้กลุ่ม AZ-AZ อายุจะสูงกว่ากลุ่มอื่นตามสถานการณ์จริงของประเทศไทย การศึกษานี้จะตรวจเลือดก่อนฉีดเข็มกระตุ้น หลัง 2 สัปดาห์ และ 4 สัปดาห์ และวางแผนที่จะติดตามที่ 90 วันหลังเข็ม 3 อีก 1 ครั้ง
การใช้วัคซีน mRNA ในประเทศไทยส่วนใหญ่จะใช้เป็นเข็มกระตุ้น เพราะได้ฉีดวัคซีนชนิดอื่นมาแล้วเป็นจำนวนมาก ส่วนการกระตุ้นด้วย AZ ในกลุ่ม SV-SV-AZ ได้มีการตีพิมพ์แล้ว ส่วน SV-AZ-AZ และ AZ-AZ-AZ จะนำมาเสนอต่อไป ได้ฉีดให้ในอาสาสมัครไปแล้ว
Moderna ที่ใช้เป็นเข็มกระตุ้นในอเมริกา จะให้เพียงครึ่งโดสเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นหลังได้รับวัคซีนไฟเซอร์ Moderna หรือ J&J ที่เป็นไวรัส เวกเตอร์
ในทำนองเดียวกัน ประเทศอังกฤษ ก็ใช้วัคซีน Moderna เข็มกระตุ้นตามหลัง AZ ด้วยขนาดครึ่งโดส เพื่อลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่าอาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยคือเจ็บบริเวณที่ฉีด ยกแขนไม่ขึ้น ปวดเมื่อยเนื้อเมื่อยตัว ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องเสีย และที่สำคัญในเข็มกระตุ้น จะพบการโตของต่อมน้ำเหลืองที่ใต้แขน มากกว่าเข็มที่ 1 และ 2 (ข้อมูลของ US CDC)
ดังนั้นจึงมีการศึกษาขนาดครึ่งโดสด้วย ข้อมูลที่ให้เห็นเบื้องต้นนี้เป็นการวัดระดับภูมิต้านทาน 2 วิธี คือ วัด total immunoglobulin ต่อ RBD หน่วยจะเป็น unit/ml, และ specific IgG ต่อ RBD ของสไปรท์โปรตีน หน่วยจะเป็น BAU/ml
การศึกษาในประเทศไทย โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิกจุฬาที่ทำอยู่ แสดงให้เห็นว่าการให้เข็มกระตุ้น ไม่ว่าจะตามหลังวัคซีนเชื้อตาย SV-SV, SP-SP, SV-AZ, AZ-AZ 2 เข็มมาแล้ว ดังแสดงในรูป ผลการกระตุ้นได้ภูมิต้านทานที่สูงในการตรวจทั้ง 2 วิธี สอดคล้องกัน คือการได้รับ SV-SV มาก่อน การกระตุ้นจะได้ภูมิต้านทานที่สูงที่สุด สูงกว่ากว่า SP-SP, SV-AZ และจากข้อมูลการกระตุ้นใน กลุ่ม SV-AZ ยังได้ระดับภูมิต้านทาน เท่าเทียม AZ-AZ อย่างไรก็ตามถ้าดูระดับภูมิต้านทานแล้วทุกกลุ่มก็ยังอยู่ในระดับสูง
ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล PZ-PZ-PZ 3 เข็ม (triple P) ในประเทศไทย เพื่อนำมาเปรียบเทียบ (ขณะนี้ได้จำนวนหนึ่งแล้ว) และกำลังศึกษา AZ-AZ-AZ หรือที่เรียกว่า triple A อีกด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลทุกกลุ่มที่มีการใช้ในประเทศไทย ส่วนกลุ่ม MN-MN-MN หรือ triple M คงจะหายากหรือต้องรออีกนาน
การให้ mRNA ในขนาดครึ่งโดส โดยเฉพาะ MN ผลที่ได้ไม่ได้แตกต่างกันมากกับการให้ขนานเต็มโดส เพราะภูมิขึ้นสูงมากและที่เห็นได้ชัดคืออาการข้างเคียงน้อยกว่า
ระดับภูมิต้านทาน neutralizing antibody (NT) ต่อสายพันธุ์ต่างๆ ได้ดำเนินไปมากพอสมควรแล้ว โดยใช้ sVNT หรือไวรัสเทียม และไวรัสจริง สายพันธุ์ Delta และ Omicron (แยกไวรัสจากผู้ป่วยได้แล้ว และได้ทำไปส่วนหนึ่งแล้วโดย อาจารย์จุฑาทิพย์ และคณะ ที่ศิริราช) และปฏิกิริยาระดับเซลล์ CMIR ก็ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน จะแสดงในโอกาสต่อไป รวมทั้งเก็บเม็ดเลือดขาวที่จะศึกษาในทางลึกต่อไป
ในอดีตที่ผ่านมาการศึกษาระดับภูมิต้านทาน มีความสัมพันธ์ที่ดี กับ sVNT ในสายพันธุ์ต่างๆ ดังที่ได้มีการเผยแพร่ในวารสารนานาชาติไปแล้ว
ข้อมูลดังกล่าว จะมีการเผยแพร่ในวารสารต่างประเทศต่อไป และจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการวัคซีนในประเทศไทย ให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศไทย โดยการศึกษาใoประเทศไทย มากกว่าที่จะใช้ข้อมูลจากต่างประเทศ และในขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นที่ต้องศึกษาจากสถานการณ์จริง ถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
"
ภาพจาก สธ./รอยเตอร์/Yong Poovorawan