รีเซต

เทคโนโลยีผ้าอ้อมสำเร็จรูป และการเก็บอาหารแบบสุญญากาศ ช่วยพัฒนาถุงใส่ศพแห่งอนาคตได้อย่างไร

เทคโนโลยีผ้าอ้อมสำเร็จรูป และการเก็บอาหารแบบสุญญากาศ ช่วยพัฒนาถุงใส่ศพแห่งอนาคตได้อย่างไร
ข่าวสด
23 กรกฎาคม 2563 ( 10:57 )
123

 

เทคโนโลยีผ้าอ้อมสำเร็จรูป และการเก็บอาหารแบบสุญญากาศ ช่วยพัฒนาถุงใส่ศพแห่งอนาคตได้อย่างไร - BBCไทย

"แนวคิดในการออกแบบถุงบรรจุศพไม่เคยมีการปรับปรุงมาเลยนับตั้งแต่ได้ถูกคิดค้นขึ้นมาในปี 1968" น.ส.อันนุกา บาธิจา นักนิติมานุษยวิทยา (forensic anthropologist) กล่าว

ในฐานะนักนิติมานุษยวิทยา น.ส.บาธิจา ได้ทุ่มเทเวลาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไปกับการค้นหาวิธีจัดการกับศพมนุษย์ให้ดีขึ้น

Getty
ถุงใส่ศพแบบมาตรฐานที่ใช้กันในปัจจุบัน (แบบที่ผู้ประท้วงกลุ่มนี้ใช้) มักทำให้ศพเน่าเปื่อยอย่างรวดเร็ว จนทำให้ระบุเอกลักษณ์ศพได้ยาก

เธอเป็นหนึ่งในทีมงานที่ก่อตั้งโดยสภากาชาดระหว่างประเทศ (International Council of the Red Cross - ICRC) เพื่อพัฒนาถุงใส่ศพที่มีประสิทธิภาพขึ้น

เป้าหมายหลักของถุงบรรจุศพคือ ใช้ในการปกปิด เคลื่อนย้าย และเก็บรักษาร่างผู้เสียชีวิตจากวิกฤตการณ์และภัยพิบัติต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้กำลังมีความต้องการใช้อย่างมากในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ อย่างไรก็ตาม ถุงใส่ศพที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบันก็มีข้อเสียที่สำคัญอยู่

ผู้เชี่ยวชาญ ชี้ว่า ถุงบรรจุศพที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันมีสภาพที่เอื้อให้ศพเกิดกระบวนการเน่าเปื่อยเร็วเกินไป บางครั้งก่อนที่จะสามารถระบุเอกลักษณ์บุคคลได้เสียอีก

"ความท้าทายนี้มุ่งเน้นไปที่การชะลออัตราการเน่าเปื่อยของศพมนุษย์ในพื้นที่ที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ และมีศพมากเกินขีดความสามารถในการรองรับของสถานที่เก็บศพ" น.ส.บาธิจา กล่าว

ICRC
อันนุกา บาธิจา (ซ้าย) และคริสตี แอนน์ วินเทอร์ (ขวา) ร่วมกับทีมงานออกแบบถุงใส่ศพรุ่นใหม่

ทีมงานของเธอได้เริ่มภารกิจออกแบบถุงเก็บศพรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติดีขึ้น ในงานชุมนุมทางวิชาการที่จัดขึ้นโดยองค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป หรือเซิร์น (CERN) เมื่อปี 2014

แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญยังไม่ประทับใจกับผลงานขั้นต้นที่มีเวลาในการคิดค้นเพียง 48 ชม.ของพวกเธอ

ดร.มอร์ริส ทิดบอลล์ บินซ์ นักนิติมานุษยวิทยาแถวหน้าของโลก ซึ่งเป็นผู้ช่วยก่อตั้งหน่วยนิติวิทยาศาสตร์ของสภากาชาดระหว่างประเทศ และดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของหน่วยจนถึงปี 2017 ได้ตรวจสอบถุงใส่ศพต้นแบบ และพบว่ามันยังมีข้อด้อยในการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทาย

ทีมงานได้เก็บเอาความคิดเห็นดังกล่าวไปใช้ปรับปรุงผลงานการออกแบบชิ้นนี้

บทเรียนจากภาคสนาม

ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานในพื้นที่จริงตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่าถุงบรรจุศพทำอะไรได้บ้าง เขาพบว่ามันมีความสำคัญต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต โดยช่วยยืดระยะเวลาให้พวกเขาสามารถบ่งชี้เอกลักษณ์ และร่ำลาบุคคลอันเป็นที่รักได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตร้อน

ในเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในประเทศเฮติเมื่อปี 2010 ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ ได้ลงพื้นที่กรุงปอร์โตแปรงซ์ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่กาชาดในท้องถิ่นจัดการกับศพผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติครั้งนี้

"ผมยังจำได้อย่างชัดเจนถึงกรณีของเด็กชายวัยประมาณ 8-9 ปีคนหนึ่งที่ศพของเขาถูกนำไปยังโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง"

ทีมงานของ ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ ได้ตรวจสอบร่างของเด็กชาย ก่อนที่จะนำร่างของเขาใส่ไว้ถุงทางการแพทย์

ภัยพิบัติในครั้งนั้นทำให้เฮติได้ความเสียหายอย่างหนัก และมีผู้เสียชีวิตกว่า 230,000 คน ซึ่งศพของผู้ประสบภัยเหล่านี้ได้ถูกเก็บกู้แล้วนำไปกองรวมกันไว้ที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลดังกล่าว

"ผมรู้สึกสิ้นหวังกับความคิดที่ว่าร่างของเด็กชายคนนี้จะแปรสภาพจนจำเค้าเดิมไม่ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว"

ICRC
ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานในพื้นที่จริงว่าถุงบรรจุศพสำคัญอย่างไร และรุ่นที่ใช้ในปัจจุบันมีข้อด้อยอะไรบ้าง

"ผมคิดถึงครอบครัวของเขา ว่ามันจะยากแค่ไหนที่จะไม่ได้เห็นภาพที่คุ้นเคยของลูกชายพวกเขา และไม่สามารถยืนยันตัวตนของเขาได้จากการดูใบหน้า" ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ กล่าว

ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น พายุไซโคลน น้ำท่วม แผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิ มักคร่าชีวิตผู้คนในพื้นที่ประสบภัยไปเป็นจำนวนมาก และเมื่อเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา บางครั้งก็แทบจะเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องใช้วิธีฝังศพหมู่

ที่เป็นเช่นนี้เพราะศพเริ่มเน่าเปื่อยจนไม่เหลือสภาพให้จดจำได้ก่อนที่จะมีการบ่งชี้ว่าศพนั้นคือผู้ใด การตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลด้วยสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ ก็ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมเสมอไป เช่นในกรณีของเฮติที่มีศพเน่าเปื่อยของผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวอยู่หลายร้อยร่าง เนื่องจากเป็นกระบวนการตรวจสอบที่ใช้เวลานานและมีราคาแพง

ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ เล่าว่า "อุณหภูมิที่นั่นอยู่ระหว่าง 34 - 40 องศาเซลเซียส ใบหน้าศพเริ่มบวมอย่างรวดเร็วทำให้การบ่งชี้เอกลักษณ์บุคคลจากใบหน้าไม่สามารถทำได้หลังจากเสียชีวิตไปเพียง 24 - 36 ชม.

ดังนั้น ในปฏิบัติการครั้งใหญ่ ถุงบรรจุศพจึงอาจเป็นสิ่งเดียวที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยใช้ในการเก็บรักษา และขนส่งร่างผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ถุงเหล่านี้ไม่สามารถใช้ยับยั้งกระบวนการเน่าสลายของศพได้

"ตามปกติเราจะใช้ตู้หรือห้องเย็นในการเก็บรักษาศพ และในหลายพื้นที่ที่เราไปทำงานไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้จากผลของภัยพิบัติที่เกิดขึ้น"

Getty Images
ถุงใส่ศพมีความสำคัญมากในปฏิบัติการของหน่วยกู้ภัยในเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ

"และมีบ่อยครั้งที่ถุงใส่ศพจะเกิดการแตก ฉีกขาด มีรูรั่ว และไม่ช่วยเก็บกลิ่น" ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ กล่าว

ดังนั้นเมื่อถุงใส่ศพถูกนำไปไว้ใกล้กับโรงพยาบาล เช่นที่เกิดขึ้นในเมืองหลวงเฮติ ก็ก่อให้เกิดปัญหาซ้ำเติม

"ผมชินกับกลิ่นนี้ (กลิ่นศพ) แต่คนส่วนใหญ่คิดว่ามันเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ และในช่วงที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน เราไม่อาจปล่อยให้กลิ่นเหล่านี้เข้าไปในโรงพยาบาลได้"

เทคโนโลยีผ้าอ้อมสำเร็จรูปและการเก็บรักษาอาหาร

ประสบการณ์ทำงานที่ยาวนานของ ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ แสดงให้เห็นแล้วว่ารูปแบบถุงบรรจุศพที่ใช้กันในปัจจุบันล้าสมัยมาก ดังนั้น น.ส. บาธิจา และทีมงานจึงรับเอาข้อแนะนำของเขาไปพิจารณา แล้วเริ่มหาทางแก้ปัญหาเพื่อจำกัดปริมาณออกซิเจน ความชื้น และความร้อนในถุงใส่ศพรุ่นใหม่ที่อาจช่วยเก็บรักษาศพให้คงสภาพดีได้นานถึง 72 ชม.

ทีมงานจึงพิจารณาทำเป็นถุงสุญญากาศ ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกับการเก็บรักษาอาหารที่คิดค้นโดย ดร.คาร์ล บุช ในปี 1963 และยังคงใช้กันอย่างแพร่หลายมาจนถึงทุกวันนี้

ดร.ทิดบอลล์ บินซ์ ชี้ว่า "เราพบว่าหลักการสุญญากาศอาจช่วยชะลออัตราการเน่าเปื่อยของร่างผู้เสียชีวิตที่เก็บไว้ในถุงบรรจุศพได้"

Gabriele Holtermann/Pacific Press/Getty
นักเคลื่อนไหวในสหรัฐฯ ใช้ถุงใส่ศพเป็นสัญลักษณ์แทนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในประเทศ

ดังนั้น ทีมงานจึงเริ่มใช้เครื่องดูดอากาศออกมา หลังจากศพถูกใส่ในถุงบรรจุแล้ว

น.ส.คริสตี แอนน์ วินเทอร์ นักวิทยาศาสตร์อีกคนในทีม อธิบายว่า "หากระดับออกซิเจนลดลง อัตราการเน่าเปื่อยก็จะลดลงตาม และสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียได้"

ถุงบรรจุศพที่พวกเขาคิดค้นขึ้นนี้ยังมีวัสดุดูดซับ แบบเดียวกับผ้าที่ใช้ในการทำผ้าอ้อมสำเร็จรูป ซึ่งจะช่วยดูดซับของเหลวจากศพได้

"ถ้าไม่มีของเหลวที่ศพ เนื้อเยื่อจะแห้งและคงสภาพเดิมเอาไว้ได้ดีขึ้น ส่วนของเหลวจะเร่งการเน่าเปื่อย และทำให้จดจำเอกลักษณ์คนตายได้ยากขึ้น" น.ส.วินเทอร์ กล่าว

ส่วนการควบคุมอุณหภูมิภายในถุง ทีมงานได้เพิ่มชั้นอลูมิเนียมฟอล์ยเข้าไปเพื่อสะท้อนแสงและควบคุมความร้อน

ผลการทดสอบ

Getty Images
ICRC ทดสอบถุงบรรจุศพรุ่นใหม่ที่ประเทศไทยเมื่อปี 2019

มีการทดสอบประสิทธิภาพของถุงบรรจุศพรุ่นใหม่นี้ที่ประเทศไทยและอังกฤษเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

งานวิจัยที่นำโดยมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลแลงคาเชียร์ในอังกฤษ ทำการศึกษาโดยนำหมูที่ตายแล้วไปใส่ไว้ในถุงที่ออกแบบขึ้นใหม่ และถุงรุ่นเก่า รวมทั้งมีการทิ้งศพหมูไว้กลางแจ้ง

น.ส.วินเทอร์ เล่าถึงผลการศึกษานี้ว่า "ศพหมูที่อยู่กลางแจ้งเน่าเปื่อยอย่างรวดเร็ว ตามด้วยหมูที่ใส่ไว้ในถุงบรรจุศพรุ่นเก่า ส่วนศพหมูในถุงรุ่นใหม่เกิดกระบวนการเน่าเปื่อยช้ากว่า"

การนำเอาวัสดุสะท้อนแสงมาใช้ร่วมด้วยนั้น ช่วยลดอุณหภูมิในถุงลงได้ราว 10 - 20 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับถุงรุ่นเก่า

ทีมนักวิจัยระบุว่า "การทดสอบเบื้องต้นพบว่าถุงรุ่นใหม่มีกลิ่นศพเล็ดลอดออกมาด้านนอกถุงลดลง"

ICRC
การทดสอบในประเทศไทยพบว่า ถุงรุ่นใหม่ทำให้เกิดกระบวนการเน่าเปื่อยช้ากว่าถุงรุ่นเก่า

จากนั้น โครงการนี้ก็เข้าสู่ขั้นต่อไป นั่นคือการทดสอบกับศพมนุษย์จริง ๆ

แม้ปัจจุบัน น.ส.บาธิจา จะย้ายไปทำโครงการอื่นแล้ว แต่ทีมงานที่เหลือกำลังร่วมงานกับศูนย์นิติมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเทนเนสซี ในสหรัฐฯ ซึ่งทำโครงการ "ฟาร์มศพ" เพื่อศึกษากระบวนการเน่าเปื่อยของศพมนุษย์

ขณะเดียวกัน ICRC ได้รับมอบถุงบรรจุศพต้นแบบ 100 ชิ้นเพื่อนำไปใช้ในการปฏิบัติงานภาคสนาม

ICRC
การนำเอาวัสดุสะท้อนแสงมาใช้ร่วมด้วยช่วยลดอุณหภูมิในถุงลงได้ราว 10 - 20 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับถุงรุ่นเก่า

น.ส.บาธิจา บอกว่า ผลการใช้งานจริงและข้อมูลที่ได้จากมหาวิทยาลัยเทนเนสซีจะถูกนำไปปรับปรุงถุงใส่ศพรุ่นใหม่นี้ให้ดีขึ้น ซึ่งทีมงานหวังว่ามันจะถูกนำไปผลิตเป็นจำนวนมากและมีแพร่หลายขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

ใช้งานง่าย

ถุงบรรจุศพรุ่นใหม่นี้มีรูปทรงคล้ายเรือ ต่างจากถุงรุ่นเดิมที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก

นอกจากนี้มันยังพับเก็บได้ง่าย อย่างไรก็ตาม มันยังคงมีน้ำหนักพอ ๆ กับถุงรุ่นเก่า และยังคงต้องใช้คน 2 คนในการเก็บศพใส่ถุง

Raziq Sabra / Sijori /Barcroft / Getty
มีการนำถุงใส่ศพไปกรุในโลงศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซีย

ส่วนวัสดุที่ใช้ถูกออกแบบมาเพื่อไม่ให้ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ เพื่อให้สามารถใช้ในการฝังศพแบบชั่วคราวได้

ถุงใส่ศพรุ่นใหม่นี้อาจไม่มีประโยชน์สำหรับศพที่ได้รับความเสียหายจนไม่เหลือสภาพเดิมให้จดจำได้แล้ว เช่น ศพในสงคราม หรือศพที่อยู่ในน้ำมาเป็นเวลานาน เนื่องจากถุงรุ่นนี้มีเป้าหมายสำคัญในการเก็บรักษาสภาพศพ และชะลอการเน่าเปื่อยเพื่อให้ครอบครัวสามารถยืนยันตัวคนตาย และนำศพไปประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อและศาสนาได้

"เป้าหมายของเราคือทำให้ศพทุกศพได้กลับคืนสู่ครอบครัว และช่วยให้พวกเขาไม่มีอะไรค้างคาใจกับการจากไปของบุคคลอันเป็นที่รักอีกต่อไป" น.ส.วินเทอร์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง