รีเซต

สธ.รับลูก ศบค.หา 'กลุ่มเสี่ยง-พื้นที่เปราะบาง' ติดโควิด-19 เป้า 7.5-8 หมื่นเคส ใน 1 เดือน

สธ.รับลูก ศบค.หา 'กลุ่มเสี่ยง-พื้นที่เปราะบาง' ติดโควิด-19 เป้า 7.5-8 หมื่นเคส ใน 1 เดือน
มติชน
7 พฤษภาคม 2563 ( 18:39 )
179
สธ.รับลูก ศบค.หา 'กลุ่มเสี่ยง-พื้นที่เปราะบาง' ติดโควิด-19 เป้า 7.5-8 หมื่นเคส ใน 1 เดือน

สธ.รับลูก ศบค.หา ‘กลุ่มเสี่ยง-พื้นที่เปราะบาง’ ติดโควิด-19 เป้า 7.5-8 หมื่นเคส ใน 1 เดือน

โควิด-19 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในการตรวจเพื่อเฝ้าระวังและค้นหาในกลุ่มประชากรเสี่ยงหรือสถานที่เสี่ยงที่มีความแตกต่างจากการค้นหาแบบเชิงรุกในชุมชุน (Active case finding) ว่า การผ่อนปรนกิจการ/กิจกรรมที่เป็นลักษณะสีขาวนับจากวันที่ 3 พฤษภาคม มาเป็นระยะเวลา 5 วัน และเตรียมการที่จะผ่อนปรนกิจกรรมที่เป็นลักษณะของสีเขียวต่อไป จึงมีประชาชน นักวิชาการมีข้อกังวลว่าจะมีโอกาสกลับไปสู่สถานะที่เรียกว่าการระบาดอีกครั้งหรือไม่? ดังนั้นในส่วนของ สธ. โดยข้อสั่งการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. และ นพ.สุขุมกาญจนพิมาย ปลัด สธ.

“ตลอดจนวันนี้ ที่มีการประชุมที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ได้มีข้อสั่งการให้เร่งดำเนินการ คือ การตรวจเพื่อเฝ้าระวังและค้นหาในกลุ่มประชากรเสี่ยง หรือ สถานที่เสี่ยง ซึ่งต่างจากการค้นเชิงรุกในชุมชน โดยการค้นหาเชิงรุกในชุมชนจะหาในพื้นที่มีการระบาดของโรคอย่างต่อเนื่อง เช่น มากกว่า 28 วัน เป็นการค้นหาในพื้นที่ที่เจอผู้ป่วยยืนยันที่หาสาเหตุไม่ได้ แต่กรณีของการตรวจเพื่อเฝ้าระวังเชิงรุกในการตรวจเพื่อเฝ้าระวังและค้นหาในกลุ่มประชากรเสี่ยง หรือ สถานที่เสี่ยงจะต้องเข้าไปดำเนินการในกลุ่มประชาชนที่ไม่มีอาการใดๆ เพื่อสร้างความมั่นใจ ในการควบคุมป้องกันโรค เพื่อให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ได้มีแนวทางในการดำเนินงานเฝ้าระวังเชิงรุกภายในพื้นที่รับผิดชอบ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า สำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงดูจากกลุ่มซึ่งมักจะรวมตัวกันเป็นจำนวนมากๆ การทำงานเสี่ยงด้วยการไปพบปะผู้คนจำนวนมากๆ และกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญลำดับต้น ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ จะเน้นในเรื่องตัวแทนของบุคลากรทางการแพทย์ในภาพรวม เพื่อการเฝ้าระวัง และเพื่อให้รับทราบสถานการณ์การติดเชื้อในบุคลการ 2.กลุ่มผู้ต้องขัง เป็นอยู่ในเรือนจำ 3.ผู้ต้องกัก คือ บุคคลที่อาจจะอยู่ในส่วนของศูนย์กักกันฯ เช่น ศูนย์กักตัวผู้ต้องกักตรวจคนเข้าเมือง อ.สะเดา จ.สงขลา 4.คนขับรถ หรือพนักงานประจำรถสาธารณะ 5.กลุ่มแรงงานแรงงานทั้งชาวไทยและต่างด้าว ที่มีลักษณะของการอยู่ร่วมกันอย่างแออัด ทั้งในสถานที่ทำงานและที่พักอาศัย และ 6.กลุ่มอาชีพอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ แม่ค้า/พ่อค้าในตลาดหรือห้างสรรพสินค้า สำหรับสถานที่เสี่ยง ก็เป็นที่มีคนมาอยู่รวมกันมากๆ หากมีการผ่อนปรนแล้วก็มีการเปิดสถานที่ก็จะมีบางจุดที่จะมีความเสี่ยงอันเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น 1.ชุมชนแออัด 2.ศาสนสถาน 3.สถานีขนส่งผู้โดยสาร ทั้งเส้นทางบก น้ำ อากาศ และ 4.สถานีรถไฟฟ้าจากที่เป็นข่าว

“จะพบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – วันที่ 4 พฤษภาคม ประเทศไทยมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ) จำนวนกว่า 230,000 ตัวอย่าง คิดการตรวจตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน พบว่า ตรวจไปจำนวนมากกว่า 3,400 ตัวอย่างต่อประชากร 1 ล้านคน หากเปรียบเทียบแล้วก็จะตรวจมากกว่าประเทศที่ควบคุมโรคได้ดี เช่น ไต้หวัน เวียดนาม และสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีการตรวจมากกว่าเรา แต่ผ่อนจนกระทั่งเกิดการระบาดรอบที่ 2 ส่วนเกาหลีใต้ เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิตชุดตรวจ จึงมีความสามารถทั้งในแง่ของทรัพยากร รวมถึงการดำเนินงานจึงทำให้ประเทศเกาหลี มีการตรวจจำนวนค่อนข้างจะมาก” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า จำนวนที่ตรวจมากไม่ได้สัมพันธ์กับผลลัพธ์ของการป้องกันควบคุมโรค หากดูที่อิตาลี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และมาเลเซีย ที่ตรวจมากกว่าไทย แต่ผลลัพธ์ในการป้องกันควบคุมโรคไม่ได้ดีเทียบเท่าไทย ก็หมายความว่าประเทศไทยจัดอยู่ในประเทศที่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการระดับปานกลาง โดยมีผลลัพธ์ในการป้องกันควบคุมโรคที่อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ขณะนี้ตั้งเป้าภายใน 1-2 เดือน จะเร่งรัดให้มีการตรวจให้ได้ถึง 6,000 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งคำนวณออกมาที่จะต้องตรวจ นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา จนถึงเป้าที่ตั้งไว้ จะต้องสะสมประมาณมากกว่า 400,000 ตัวอย่าง

“ตอนนี้ตรวจไปประมาณ 230,000 ตัวอย่าง หมายความว่า ต้องตรวจเพิ่มอีกประมาณ 170,000 ตัวอย่าง เชื่อว่าภายใต้การตรวจในสถานพยาบาลสามารถที่จะตรวจภายใน 1 เดือน ได้ถึง 75,000-80,000 ตัวอย่าง จึงจะนำมาเฝ้าระวังในเรื่องของเชิงรุกซึ่งจะกระจายในเรื่องของการตรวจทางห้องแล็บ 77 จังหวัด โดยให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้กำหนดประชากรกลุ่มเสี่ยง กำหนดประชากรที่อยู่ในสถานที่เสี่ยง พร้อมทำแผนและดำเนินการ ซึ่งหมายความว่าเมื่อดูใน 77 จังหวัด จังหวัดที่แม้ว่าประชากรน้อยที่ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงต่ำก็จะต้องตรวจ ไม่น้อยกว่า 400 ราย จังหวัดที่มีประชากรมากๆ มีความเสี่ยง เนื่องจากมีการระบาดมาก่อนหน้านี้และยังคงมีรายงานผู้ป่วยในรอบ 28 วันที่ผ่านมา เช่น กรุงเทพมหานคร จะต้องตรวจไม่น้อยกว่า 15,000 ราย” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ ได้มีการประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอซักซ้อมกับผู้รับผิดชอบงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในสัปดาห์หน้า จะมีการกระจายในส่วนของวัสดุสนับสนุนไปยัง 77 จังหวัด คาดว่าจะพยายามเร่งรัดในเรื่องของการตรวจเพื่อเฝ้าระวังเชิงรุก ให้ครอบคลุม 77 จังหวัด เพื่อเตรียมการให้สอดคล้องกับการผ่อนปรนกิจกรรม/กิจการในระยะถัดมา เราไม่ได้ตรวจเพื่อตรวจ แต่เราตรวจเพื่อวางแผน ในการที่จะดำเนินการมาตรการผ่อนปรน ให้สร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ให้สามารถรู้ว่าหากเกิดโรคขึ้น เราสามารถตรวจจับได้เร็ว ทรัพยากรมีเพียงพอ

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยในพื้นที่หรือสถานที่เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของศูนย์กักกันฯ โรงงาน ที่พักคนงานในกรณีของชุมชนแออัด กิจการประมง หรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ขณะนี้ ได้มีการดำเนินการจัดทำมาตรการและออกเป็นคู่มือแล้ว อยู่ในระหว่างตรวจทาน คาดว่าจะมีการแจ้งไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มเสี่ยงและทุกสถานที่เสี่ยง

“ตราบใดที่สถานการณ์ในต่างประเทศยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และคาดว่าต้องอยู่กับโรคนี้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ปี แต่สามารถอยู่ได้ ถ้าประชาชนยังคงเข้มข้นในมาตรการที่คุ้นชินตลอด 1 เดือนกว่าๆ ที่ผ่านมา ขอให้ดำเนินการต่อเนื่อง ในส่วนของกิจการ/กิจกรรม ต้องดำเนินการแบบมีความรับผิดชอบต่อสังคม ทั้งนี้ ประเทศไทยสามารถผ่อนปรนเพื่อให้วิถีทางสังคมและเศรษฐกิจกลับคืนมา โดยที่ภาพรวมของประเทศยังคงปลอดภัย” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง