รีเซต

วิทยุการบินฯ ชี้โควิดพ่นพิษต่อเนื่อง หลังฉุดปริมาณเที่ยวบิน ม.ค.64 วูบกว่า 40 เปอร์เซ็นต์

วิทยุการบินฯ ชี้โควิดพ่นพิษต่อเนื่อง หลังฉุดปริมาณเที่ยวบิน ม.ค.64 วูบกว่า 40 เปอร์เซ็นต์
มติชน
17 กุมภาพันธ์ 2564 ( 15:55 )
48

เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ รายงานข่าวจาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ระบุว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจการบินของประเทศไทยอีกครั้ง ปริมาณเที่ยวบินเข้า-ออก ผ่านน่านฟ้าไทยในช่วงต้นปี 2564 ลดลงจากปลายปี 2563 เป็นอย่างมาก เนื่องจากสายการบินยกเลิกเที่ยวบิน ปรับตารางการบิน และยกเลิกเส้นทางบินเป็นการชั่วคราวในหลายเส้นทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการควบคุมการแพร่ระบาดและความต้องการเดินทาง

 

สำหรับ การประเมินการจราจรทางอากาศ เมื่อเดือนมกราคม 2564 บวท.ได้ให้บริการจราจรทางอากาศ รวม 23,536 เที่ยวบิน โดยแบ่งเป็น เที่ยวบินภายในประเทศ 10,170 เที่ยวบิน เที่ยวบินระหว่างประเทศ 5,244 เที่ยวบิน เที่ยวบินผ่านน่านฟ้า 2,657 เที่ยวบิน เที่ยวบินสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจทางทหารและราชการ 5,465

 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับธันวาคม 2563 ลดลง 15,970 เที่ยวบิน หรือลดลงถึง 40%

 

ขณะที่ 10 สายการบินที่ให้บริการเที่ยวบินสูงสุดในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2564 ประกอบด้วย สายการบินไทยแอร์เอเชีย ครองอันดับ 1 ด้วยปริมาณเที่ยวบิน 2,703 เที่ยวบิน ตามด้วย สายการบินนกแอร์ 1,574 เที่ยวบิน, ไทย เวียตเจ็ท 1,567 เที่ยวบิน, ไทย ไลอ้อน แอร์ 1,313 เที่ยวบิน, ไทยสมายล์ 1,012 เที่ยวบิน, บางกอกแอร์เวย์ส 805 เที่ยวบิน, การ์ตาร์แอร์เวย์ 519 เที่ยวบิน, เอมิเรตส์แอร์ไลน์ 519 เที่ยวบิน, สิงคโปร์แอร์ไลน์ 446 เที่ยวบิน และ เคแอลเอ็ม โรยัลดัตซ์ แอร์ไลน์ 388 เที่ยวบิน

 

รายงานข่าวระบุอีกว่า ส่วน 5 สนามบินภูมิภาคที่มีปริมาณเที่ยวบินสูงสุดในเดือนมกราคม 2564 ได้แก่ สนามบินเชียงใหม่ 1,785 เที่ยวบิน สนามบินภูเก็ต 1,315 เที่ยวบิน สนามบินหาดใหญ่ 1,090 เที่ยวบิน สนามบินนครศรีธรรมราช 985 เที่ยวบิน และ สนามบินอุดรธานี 966 เที่ยวบิน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง