รีเซต

คิดเห็นแชร์ : ห้าคำถามที่ต้องรู้คำตอบ ก่อนคิดจะลงทุนเกี่ยวกับน้ำมันในอนาคต

คิดเห็นแชร์ : ห้าคำถามที่ต้องรู้คำตอบ  ก่อนคิดจะลงทุนเกี่ยวกับน้ำมันในอนาคต
มติชน
25 เมษายน 2563 ( 12:00 )
80

คิดเห็นแชร์ : ห้าคำถามที่ต้องรู้คำตอบ ก่อนคิดจะลงทุนเกี่ยวกับน้ำมันในอนาคต

ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันล่าสุดที่ต่ำถึง “ติดลบ” เป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายของทุกคน
จึงตามด้วยมากมายหลายคำถาม ทั้งในมุมของราคาในอนาคต การเมือง และการลงทุน

ผมเองก็ไม่ได้รู้ไปหมด จึงได้รวบรวมหลายคำตอบจากผู้รู้ทั่วโลก และนำมาแชร์ให้นักลงทุนได้คิดไปพร้อมกันในบทความนี้

1.ตกลงใครกันแน่คือผู้ที่จะกำหนดราคาน้ำมันในอนาคต
หนึ่งคำตอบที่ดีที่สุดเป็นของ ดร.แดเนี่ยล เยอกิ้น (Daniel Yergin) ผู้เขียนหนังสือ The Prize : The Epic Quest for Oil, Money, and Power และกำลังมีหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ The New Map : Energy, Climate and Clash of Nations ที่บอกว่าในอนาคตจะ “ไม่มี” ผู้ผลิตหรือกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่เจ้าไหน ที่สามารถตั้งโต๊ะกำหนดราคาน้ำมันได้ด้วยการปรับกำลังการผลิตอีกต่อไป
โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ชัดเจนที่สุด ต่อไปนี้จึงอาจมีเพียงทิศทางการบริโภคที่จะสามารถบอกเราได้ว่าราคาน้ำมันควรอยู่จุดไหน

2.ถ้าเช่นนั้นบทบาทของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันกับราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร
ประเด็นนี้ เอ็ดเวิร์ด โมส (Edward Morse) นักวิเคราะห์ตลาดสินค้าโภคภัณฑ์จาก Citigroup ชวนให้มองปัญหาราคาน้ำมันรอบนี้ออกเป็นสองเรื่อง คือการเมืองระหว่างประเทศที่ไร้ซึ่งการประสานงาน และบทบาทของสหรัฐในฐานะประเทศผู้ผลิตน้ำมันที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก แต่กลับควบคุมกำลังการผลิตของตนเองไม่ได้
ในภาวะเช่นนี้ มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ เราอาจต้องเห็นข้อตกลงเรื่องการผลิตน้ำมันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการหารือบนเวทีของกลุ่มประเทศทั่วโลกและคงมีบทสรุปในไม่ช้า อย่างไรก็ดี เมื่อวิกฤตครั้งนี้ผ่านพ้นไป บรรดาประเทศเหล่านี้ก็จะไม่มีอะไรมากดดันต่อ และบทบาทในการ “เดินออกจากเจรจา” ด้านการควบคุมกำลังการผลิตก็จะกลับมาเหมือนเดิม

3.ถ้าราคาน้ำมันจะต่ำต่อเนื่อง การเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนจะเกิดขึ้นเร็วหรือช้าลงกันแน่
ประเด็นนี้ มิเชล เดลลา วิกนา (Michele Della Vigna) นักกลยุทธ์ตลาดเงินใหม่ฝั่งยุโรปของ Goldman Sachs (GS) เชื่อว่า “เร็วขึ้น”
วิธีคิดคือให้เราแยกบริษัทน้ำมันรายใหญ่ออกก่อน กลุ่มนี้ปกติจะพยายามพัฒนาตัวเองไปทางฝั่งพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ยิ่งมีเหตุการณ์ราคาน้ำมันตกต่ำ กระแสการพัฒนาไปสู่ธุรกิจที่ไม่ได้ยึดติดแต่กับราคาและปริมาณของน้ำมันจะยิ่งสำคัญมากขึ้นไปอีก
ส่วนธุรกิจทางอ้อม เช่น ขนส่ง หรือก่อสร้างนั้น แม้ราคาน้ำมันที่ถูกอาจทำให้ไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ในทางปฏิบัติ ราคาน้ำมันแทบไม่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของบริษัทเลย และดูจะมีเพียงกฎหมายเท่านั้นที่สามารถกำหนดพฤติกรรมได้

4.น้ำมันขาลงนี้ส่งผลกับตลาดการเงินและการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างไร
แม้ราคาน้ำมันที่ต่ำจะกดดันเงินเฟ้อ แต่ทีมวิเคราะห์ Multi-Asset ของ HSBC มองว่าการตกต่ำของราคาน้ำมันครั้งนี้ “ไม่ส่งผลดี” กับสินทรัพย์ประเภทไหน เนื่องจากระดับราคาต่ำจนสร้างปัญหาด้านเครดิต
อย่างไรก็ดี ถ้ามองในเชิงบวก เมื่อทุกประเทศเตรียมใช้นโยบายการเงินและการคลังเข้าอุ้ม ก็อาจเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะซื้อสินทรัพย์ที่ราคาปรับตัวลงแรงกว่าพื้นฐานจากวิกฤตครั้งนี้
โดยสกุลเงิน และหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวของกับน้ำมันในฝั่งยุโรป ดูเป็นกลุ่มสินทรัพย์ที่ราคาปรับตัวลงมากกว่าผลกระทบของราคาน้ำมัน ขณะที่ตราสารหนี้ของประเทศในฝั่งละตินอเมริกา ก็ดูจะกลายเป็นทวีปที่ได้รับผลลบมากที่สุด จนยีลด์ปัจจุบันเริ่มมีความสนใจมากกว่าที่อื่น

5.และสำหรับนักลงทุนที่หวังปันผลในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ยังจะปลอดภัยหรือไม่
ประเด็นนี้ งานวิเคราะห์ของ GS เรื่อง Dividend-to cut or not to cut? ให้คำตอบว่ายัง “ปลอดภัย” ด้วยเหตุผลสามอย่าง
ทั้งจากพฤติกรรมในอดีต ที่บริษัทน้ำมันรายใหญ่ทั้งในฝั่งสหรัฐและยุโรปเหล่านี้ แทบไม่เคยมีการปรับลดเงินปันผลลงในช่วงวิกฤตราคาน้ำมันตกต่ำครั้งใดมาก่อน
ส่วนในปัจจุบัน งบการเงินของบริษัทก็ดีขึ้นมากจนมีความสามารถเพียงพอที่จะจ่ายปันผลได้ต่อเนื่อง
ขณะที่ในอนาคต การลงทุนในโปรเจ็กต์ใหม่ๆ ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่น แทบไม่มีความจำเป็นที่จะต้อง คงระดับเงินสดที่สูงไว้ หรือลดปันผลซึ่งอาจสร้างแรงกดดันให้กับราคาหุ้นอย่างไม่จำเป็น
ถึงตรงนี้ผมเชื่อว่าคงคลายหลายข้อสงสัยให้กับนักลงทุนได้ไม่มากก็น้อย

โดยสรุป ผมเชื่อว่าความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันครั้งนี้ เป็นหนึ่งในสัญญาณที่ชัดที่สุดในทศวรรษว่า ตลาดน้ำมันกำลังจะเปลี่ยนไปอย่างไม่หันหลังกลับ
ระยะสั้น เราอาจต้องพบกับราคาที่ตกต่ำตามภาพเศรษฐกิจ แต่ก็อย่าประมาท เพราะหลังจากที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ น้ำมันก็อาจถูกหยิบขึ้นมาเป็นข้อต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศเมื่อไหร่ก็ได้
ส่วนบริษัทที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน แม้ในช่วงนี้จะเห็นบทบาทที่ลดลง แต่ก็เชื่อว่าจะมีการปรับตัวในอนาคตครั้งใหญ่ และผมคงเป็นคนหนึ่งที่ไม่ตกใจ ถ้าบริษัทขายน้ำมันที่ไหน จะย้ายไปผลิตรถไฟฟ้าแทนที่ธุรกิจเดิมๆ ในอนาคตครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง