รีเซต

ย้อนอดีต สัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ จาก 'รอยร้าว' สู่การ 'ฟื้นสัมพันธ์ทางการทูต'

ย้อนอดีต สัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ จาก 'รอยร้าว' สู่การ 'ฟื้นสัมพันธ์ทางการทูต'
มติชน
24 มกราคม 2565 ( 15:39 )
261
ย้อนอดีต สัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ จาก 'รอยร้าว' สู่การ 'ฟื้นสัมพันธ์ทางการทูต'

ข่าวใหญ่ในวงการการต่างประเทศในประเทศไทยในช่วงนี้คงต้องยกให้การที่ไทยและซาอุดีอาระเบีย จะกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตให้กลับมาเป็น “ปกติ” อีกครั้ง เมื่อทำเนียบรัฐบาลประกาศว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการในฐานะพระราชอาคันตุกะของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียระหว่างวันที่ 25-26 มกราคมนี้

 

การเดินทางเยือนครั้งนี้เป็นที่จับตามองทั้งในไทยและเวทีโลกเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทยมีรอยร้าวมาตลอดกว่า 30 ปี และจะนับเป็นความสำเร็จของรัฐบาลไทยที่สามารถยกระดับความสัมพันธ์ให้ฟื้นคืนได้อีกครั้ง และแน่นอนว่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งสองประเทศอย่างแน่นอน

 

หากจะทำความเข้าใจเรื่องราวได้ทั้งหมดคงต้องเริ่มต้นที่เหตุการณ์ที่เป็นชนวนที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียประกาศตัดลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยซึ่งอาจเรียกได้ว่าทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่เดือนเท่านั้นก็คือระหว่างปีพ.ศ. 2532-2533

 

เหตุลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทูตฯซาอุ

ชนวนที่ทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างซาอุดีอาระเบียและไทย กรณีแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2532 เมื่อเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียรายหนึ่ง ถูกลอบสังหารใจกลางกรุงเทพฯมหานคร ก่อนที่จะเกิดเหตุฆาตกรรมเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียอีก 3 ศพ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 รวมแล้วมีเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียรวม 4 ศพที่ต้องสังเวยชีวิตในประเทศไทย

 

คดีที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยมีการนำตัวผู้ต้องสงสัยมาสืบสวนสอบสวน แต่ก็ไม่สามารถนำตัวคนร้ายตัวจริงมาดำเนินคดีได้

 

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ทูตอาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยเสริมเท่านั้น เนื่องจาก ต้นตอของปัญหาเป็นเรื่องเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อในเวลานั้นมีเจ้าหน้าที่ทูตซาอุดีอาระเบียถูกลอบทำร้ายในหลายๆประเทศ ไม่เฉพาะที่ประเทศไทยเท่านั้น

 

กรณีคนงานไทยขโมยเพชรซาอุฯ

อีกชนวนเหตุสำคัญที่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบียก็คือกรณีของ “นายเกรียงไกร เตชะโม่ง” แรงงานไทยชาวลำปางที่ทำงานอยู่ที่พระราชวังเจ้าชายไฟซาล แห่งซาอุดิอาระเบีย ก่อเหตุโจรกรรม เพชร ทอง และอัญมนี ในพระราชวังเจ้าชายไฟซาล ขณะที่เจ้าชายไฟซาล เสด็จไปพักผ่อนที่ต่างประเทศในเดือนสิงหาคม เมื่อปี 2532 โดยสื่อไทยรายงานว่า เกรียงไกร ขโมยทรัพย์สินออกมาได้นับร้อยชิ้น น้ำหนักรวมกว่า 90 กิโลกรัม ในจำนวนนั้นรวมไปถึง “บลูไดมอนด์” ที่ร่ำลือกันว่าเป็นเพชรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

 

เกรียงไกร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมและถูกดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ โดยนายเกรียงไกรให้การรับสารภาพ ก่อนที่ศาลจะตัดสินให้จำคุก 3 ปี

 

แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะติดตามนำเพชรที่ติดตามได้ส่งคืนให้กับทางการซาอุฯ แต่ที่ทำให้ทางการซาอุฯไม่พอใจอย่างยิ่งก็คือของกลางกว่าครึ่งกลับเป็นของปลอม และไม่ได้มีเพชร “บลูไดมอนด์” รวมอยู่ด้วย

 

คดีนี้ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นคดีอุ้มเรียกค่าไถ่ก่อนจะฆ่าอำพรางสองแม่-ลูก ตระกูล ศรีธนะขัณฑ์ ภรรยาและลูกของ “สันติ ศรีธนะขัณฑ์” พ่อค้าผู้รับซื้อเพชรจากนายเกรียงไกร ที่ทำโดยตำรวจผู้ดูแลคดีอย่างพล.ต.ท ชะลอ เกิดเทศ ที่สุดท้ายถูกศาลตัดสินให้ประหารชีวิต ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวออกมาหลังติดคุกยาวนาน 19 ปี

 

คดีฆาตกรรม “มูฮัมหมัด อัลรูไวลี่”

การหายตัวไปอย่างเป็นปริศนาของนายโมฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดีอาระเบีย สมาชิกราชวงศ์อัลสะอูด มีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตรไฟซาล เป็นอีกเหตุผลหลักที่สร้างความไม่พอใจให้กับทางการซาอุดีอาระเบีย จนมีการประกาศลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยอย่างจริงจัง

 

นายอัลรูไวลี่ หายตัวไปที่ลานจอดรถโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2533 อย่างเป็นปริศนาไม่สามารถตามจับผู้กระทำผิดได้ อย่างไรก็ตามในปี 2535 รัฐบาลไทยต้องการฟื้นสัมพันธ์กับทางการซาอุดีอาระเบีย จึงมีการรือฟื้นคดีขึ้นใหม่

 

ผลการสืบสวนพบว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงอดีต ผบช.ภ.5 เป็นหัวหน้าทีมสอบสวน นำตัวนายอัลรูไวลีไปสอบเค้นข้อมูลว่าอาจเกี่ยวข้องกับการฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯหลายรายก่อนหน้านั้น แต่สุดท้ายเกิดความผิดพลาดจนนายอัลรูไวลี่เสียชีวิต และมีการทำลายหลักฐานที่จังหวัดชลบุรี อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวอัยการสั่งไม่ฟ้องเนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

 

รื้อฟื้นคดีอัลรูไวลี่ขึ้นใหม่

ในปี 2552 กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รื้อฟื้นคดี “อัลรูไวลี่” ขึ้นมาอีกครั้งและมีการออกหมายเรียก พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อดีตผบช.ภ.5 พร้อมลูกน้องอีก 5 คนมารับทราบข้อกล่าวหา ร่วมกันฆ่าผู้อื่น ปิดบังซ่อนเร้นทำลายศพ กักขังหน่วงเหนี่ยว โดยหลักฐานที่อัยการใช้สั่งฟ้องพบว่าเป็นแหวนรูปพระจันทร์เสี้ยว ที่ระบุว่าเป็นแหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวลี่ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหนึ่งในทีมของพล.ต.ท.สมคิด เก็บเอาไว้

 

การรือคดีดังกล่าว พล.ต.ท.สมคิด ระบุว่าอาจมีแรงจูงใจทางการเมือง เมื่อมีการช่วยเหลือพยานผู้ครอบครองแหวนให้หลบหนีไปอยู่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต้องมีการสืบพยานระหว่างประเทศ ขณะที่ดีเอสไอเอล สั่งรื้อคดีที่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องไปแล้วด้วยหลักฐานที่เป็นแหวนเพียงวงเดียว

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายครอบครัวของนายอัลรูไวลี่และทางการซาอุดีอาระเบีย มีความหวังกับคดีนี้เป็นอย่างมากว่าจะทวงคืนความยุติธรรมให้กับนายอัลรูไวรี่ได้นอกจากนี้ยังมีความเคลือบแคลงกรณีเปลี่ยนตัวผู้พิพากษากลางคันก่อนศาลชั้นต้นตัดสินคดีไม่กี่เดือน แต่ขณะเดียวกันครอบครัวเองก็ไม่ได้ยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างแหวนกับนายอัลลูไวรี่แต่อย่างใด แต่ทางการซาอุฯเองก็ยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง

 

สุดท้ายคดีดังกล่าวถูกนำเข้าพิจารณาคดีตั้งแต่ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา โดยศาลฎีกาให้คำพิพากษายืนยกฟ้องพล.ต.ท.สมคิด และพวก ทั้ง 3 ศาลโดยระบุว่าพยานหลักฐานมีน้ำหนักน้อยเกินไป

 

แน่นอนว่าผลการตัดสินสร้างความไม่พอใจให้กับทางการซาอุฯ ซึ่งยังคงค้างคาใจกับการเสียชีวิตของนาย “โมฮัมหมัด อัลรูไวลี่” รวมไปถึงเรื่องราวของ “เพชรซาอุฯ” ที่ยังคงเป็นปริศนา อย่างไรก็ตามรัฐบาลไทยก็พยายามมาอย่างต่อเนื่องเพื่อพลิกฟื้นความสัมพันธ์ของสองประเทศให้กลับมาเป็น “ปกติ” อีกครั้ง สอดคล้องกับการก้าวขึ้นมามีบทบาทในการบริหารประเทศของ”เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด”  มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการผลักดันให้ซาอุดีอาระเบียก้าวสู่ยุคใหม่ ภายใต้นโยบาย “วิชั่น2030”

 

เวที “เอซีดี” จุดเริ่มต้นฟื้นฟูความสัมพันธ์

สัญญาณเชิงบวกเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมภายหลังการพบหารือ 3 ฝ่าย ในช่วงการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย (เอซีดี) ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9-10 ตุลาคม 2559 ที่กรุงเทพระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เจ้าชายเคาะลีฟะฮ์ บิน ซัลมาน อัลเคาะลีฟะฮ์ นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรบาห์เรนในขณะนั้น และนายอาดิล บิน อะหมัด อัลณูบีร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียในขณะนั้น

 

หลังจากนั้นพลเอกประยุทธ์ได้พบกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ในช่วงการประชุมผู้นำจี 20 ที่นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2562

 

ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายยังมีการพบหารือกันเป็นระยะๆ เพื่อหารือรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน โดยนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของเจ้าชายฟัยศ็อล บิน ฟัรฮาน อัลซะอูด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือนมกราคม 2563

 

ในระหว่างวันที่ 25-26 มกราคมนี้ พลเอกประยุทธ์จะเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียตามคำเชิญของมกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบีย โดยจะมีการประกาศการปรับความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้เป็นปกติต่อไป ซึ่งจะนับว่าเป็นประโยชน์ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคมสำหรับประชาชนทั้งสองฝ่าย หลังจากเกิดรอยร้าวมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง