รีเซต

'ยรรยง มุนีมงคลทร' กับ เอปสัน หลังวิกฤตโควิด-19

'ยรรยง มุนีมงคลทร' กับ เอปสัน หลังวิกฤตโควิด-19
มติชน
17 สิงหาคม 2563 ( 13:50 )
77
'ยรรยง มุนีมงคลทร' กับ เอปสัน หลังวิกฤตโควิด-19

ปีนี้ เป็นปีที่ 30 สำหรับ “เอปสัน” ที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย หากแต่เป็นอีกหนึ่งปีที่ดูจะยากลำบากเสียหน่อย อันเนื่องจากสถานการณ์ที่ย่ำแย่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนมาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19

 

นายยรรยง มุนีมงคลทร ในฐานะผู้อำนวยการบริหาร บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ได้ฤกษ์งามยามดี พบปะพูดคุยกับสื่อเป็นครั้งแรกของปีนี้ หลังโควิด-19 ในไทยเองเริ่มผ่อนคลายลง

 

นายยรรยง ซึ่งขึ้นเป็นผู้อำนวยการบริหารชาวไทยคนแรกของสำนักงานสาขาในภูมิภาคนี้ และเป็นคนแรกในรอบ 30 ปี ของบริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา เปิดเผยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โลกก็ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย ตั้งแต่สงครามการค้า ที่ปะทุขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน เรื่องของตลาดหุ้น ตามด้วยการเมืองในไทย และการระบาดใหญ่ของโควิด-19

 

โดยโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งโลก รวมถึงของประเทศไทย ที่ทำให้ต้องมีการปรับลดผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีลง

นายยรรยงกล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนวิถีชีวิต และพฤติกรรมต่างๆ ตั้งแต่การซื้อของผ่านออนไลน์มากขึ้น การทำงานจากที่บ้าน หรือแม้แต่การเรียนจากที่บ้าน รวมทั้งตลาดไอที

 

นายยรรยงได้เปิดเผยผลการสำรวจตลาดของจีเอฟเค พบว่า ในกลุ่มของไอทีนั้น โดยรวมยอดขายหน้าร้านลดลงไป 12 เปอร์เซ็นต์ และตลาดกล้องถือว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด

 

แต่กระนั้นก็ตาม พอทางการอนุญาตให้มีการเปิดห้างได้ ตลาดไอทีหน้าร้าน ก็เติบโตสูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หลังจากคลายล็อก ผู้คนก็หันมาซื้อสินค้าไอทีกันมากขึ้นเพื่อรองรับการทำงานและการเรียนผ่านระบบออนไลน์จากที่บ้าน ส่วนหน่วยงานราชการก็เริ่มกลับมาจัดซื้ออุปกรณ์สำนักงานกันมากขึ้น

 

ขณะที่ยอดการซื้อของผ่านทางออนไลน์ในช่วง 6 เดือนแรก เติบโตขึ้นถึง 153 เปอร์เซ็นต์

เพราะฉะนั้น โดยรวมแล้วตลาดไอทีถือว่า ยังดีอยู่!!

ในส่วนของตลาดพรินเตอร์นั้น ยังติดลบ 20 เปอร์เซ็นต์

คำถามน่าสนใจคือ แล้วหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร?

นายยรรยงกล่าวว่า เป็นคำตอบที่ยากมาก เพราะเรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเอปสันเองนั้น จะยังคงเน้นไปที่กลุ่ม บี2บี หรือกลุ่มพรินเตอร์เชิงอุตสาหกรรมเป็นหลัก และจะมีการเพิ่มจำนวนพนักงานเพื่อเข้าไปดูแลลูกค้ากลุ่ม บี2บี มากขึ้น

 

นายยรรยงกล่าวว่า ทั้งนี้ การที่ธุรกิจต่างๆ ยังอยู่ในระยะที่ไม่ค่อยดีนั้น ไอที ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำธุรกิจ สำหรับเอปสัน เครื่องพิมพ์ที่ขายได้เพิ่มขึ้นในช่วงนี้คือ เครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์ และโรบ็อต (หุ่นยนต์)

 

ในส่วนของ บี2ซี นั้น นายยรรยงกล่าวว่า ค่อนข้างอิ่มตัว คงต้องเหนื่อยพอสมควรในการเติบโต

โดยในกลุ่มของเครื่องพิมพ์เชิงพาณิชย์นั้น เครื่องพิมพ์รุ่นใหญ่ กลับมาขายดี อย่างเครื่องพิมพ์ผ้า ขายดีมาก เพราะสามารถตอบสนองความต้องการพิมพ์งานผ้าได้อย่างยืดหยุ่น อยากได้อะไรที่เป็นในแบบของตัวเอง

 

ในส่วนของบิสเนส อิงค์เจ็ท พรินเตอร์นั้น ประเทศไทยถือว่าเติบโตดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการเปิดตัวสินค้าอย่างต่อเนื่อง อย่างล่าสุด คือเปิดตัวเครื่องถ่ายเอกสารที่เป็นแบบ “หมึกเติม” ที่ทำให้การพิมพ์งานเอกสารได้ปริมาณที่มากขึ้น

 

ซึ่งในส่วนของเอปสันนั้น มีจุดเด่นในเรื่องของเทคโนโลยีที่มีอยู่คือ Precisioncore HEAT FREE ที่ไม่ได้ใช้ความร้อนเลย โดยมีการจัดแคมเปญ HEAT-FREE Technology ออกมาในช่วงกลางไตรมาส 3 เพื่อตอกย้ำถึงจุดเด่นของอิงค์เจ็ทพรินเตอร์ของเอปสัน ที่โดดเด่นและได้เปรียบเลเซอร์พรินเตอร์และเครื่องถ่ายเอกสาร ถึง 4 ด้าน ได้แก่ การประหยัดค่าไฟที่เหนือกว่า ความเร็วในการทำงานที่ทันใจกว่า ความต่อเนื่องในการทำงาน และการปล่อยความร้อนจากเครื่องที่น้อยกว่า ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการทำงานที่เปี่ยมประสิทธิภาพ

 

นายยรรยงกล่าวถึงการทำตลาดในปัจจุบันว่า คนซื้ออยากจะซื้อทั้งโซลูชั่น ซึ่งเอปสันเองจะเน้นการขายในรูปแบบโซลูชั่นที่สามารถแก้ปัญหาของลูกค้าได้ตรงจุด มากกว่าที่จะแยกขายสินค้าเป็นเครื่องๆ รวมถึงสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ในรูปแบบของ Printer as a Service ออกมานำเสนอให้มากขึ้น เช่นที่เปิดตัวไปแล้ว อย่าง บริการผู้ช่วย Epson EasyCare 360 สำหรับกลุ่มลูกค้าที่ใช้ Epson WorkForce ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานองค์กร สามารถบริหารค่าใช้จ่ายโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องการดูแลบำรุงรักษา

 

หรือบริการ Epson EasyCare Mono สำหรับกลุ่มลูกค้า Epson EcoTank M-series ที่สามารถเช่าเครื่องพร้อมหมึกแบบเหมาจ่ายรายเดือน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เอปสันมีสัดส่วนในการขายในกลุ่ม บี2บี อยู่ที่ 25 เปอร์เซ็นต์ และบี2ซี อยู่ที่ 75 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เอปสันต้องเร่งเพิ่มความพร้อมในการทำธุรกิจเชิง บี2บี ให้มากขึ้น ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของ บี2บี ให้เป็น 30 เปอร์เซ็นต์ และ บี2ซี เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ และตั้งเป้าไว้ว่า อีก 5 ปีข้างหน้า อยากจะให้ได้สัดส่วนที่ 50-50

 

นายยรรยงกล่าวว่า เอปสันได้เตรียมความพร้อมใน 3 มิติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แนวทางการทำธุรกิจในเชิง บี2บี ประสบความสำเร็จในระยะยาว มิติแรก คือการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินงานภายในองค์กร ตั้งแต่ระบบการเงินการบัญชี ระบบแบ๊กออฟฟิศเพื่อสนับสนุนการขาย การจัดจ้างบุคลากรใหม่ การฝึกพนักงานเพื่อรองรับการทำธุรกิจกับลูกค้า บี2บี

 

มิติต่อมาคือการพัฒนาและสร้างเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายให้สามารถเจาะตลาด บี2บี ได้กว้างขึ้นและลึกขึ้น ทั้งในภาคราชการและเอกชน ผ่านการฝึกอบรมรวมถึงรับตัวแทนจำหน่ายสมัครรายใหม่

 

และมิติความพร้อมสุดท้าย คือการนำเสนอคุณค่า 4 ประกาศให้แก่ลูกค้าองค์กร หรือ LEAD ที่เน้นการแก้ไขเพนพอยต์และตอบโจทย์ความต้องการด้านการพิมพ์งานภายในองค์กร ได้แก่ Low total cost of ownership หรือต้นทุนการเป็นเจ้าของที่ถูกลง, Eco-friendly environment หรือความเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อมในองค์กร, Advanced performance หรือประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์กรที่ดีขึ้น และ Digital transformation หรือศักยภาพขององค์กรในการเปลี่ยนถ่ายสู่เทคโนโลยีดิจิทัล

 

เมื่อถามว่า ในสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ จะใช้วิธีใดในการกระตุ้นให้ผู้คนออกมาใช้จ่าย นายยรรยงบอกว่า เอปสันเองมีทั้งโปรแกรมผ่อนจ่าย และการให้เครื่องลองใช้ก่อนสำหรับกลุ่มเป้าหมายต่างๆ

 

จากกลยุทธ์ทั้งหมดนี้ และจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังโควิด-19 เอปสันจึงตั้งเป้าไว้ว่า จะรักษาอัตราการเติบโตให้ได้ในระดับเดียวกับปีที่ผ่านมา ถือเป็นอีกปีที่ถือว่ายาก แต่ก็ต้องสู้กันต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง