รีเซต

หลักสูตรแพทย์จุฬาฯ อินเตอร์ 4 ปี แห่งแรกในไทย “จบปริญญาตรีสาขาใด ถ้ามีความตั้งใจ ก็เป็นแพทย์ได้”

หลักสูตรแพทย์จุฬาฯ อินเตอร์ 4 ปี แห่งแรกในไทย “จบปริญญาตรีสาขาใด ถ้ามีความตั้งใจ ก็เป็นแพทย์ได้”
TrueID
13 พฤษภาคม 2563 ( 14:17 )
2.3K
หลักสูตรแพทย์จุฬาฯ อินเตอร์ 4 ปี แห่งแรกในไทย “จบปริญญาตรีสาขาใด ถ้ามีความตั้งใจ ก็เป็นแพทย์ได้”
 
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมเปิดหลักสูตร แพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) หรือ CU-MEDi (Doctor of Medicine – International Program) หลักสูตรใหม่ล่าสุดที่จัดขึ้นเป็น “แห่งแรกในประเทศไทย” สานฝันของผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขาให้สามารถศึกษาต่อเพื่อเป็นแพทย์วิชาชีพได้
 


โดย ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการหลักสูตร และผู้ช่วยคณบดี ฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เป็นหลักสูตรใหม่ ที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ เนื้อหาการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ 
 
โดยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โรงพยาบาลในเครือสภากาชาดไทย และสถาบันชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ตั้งเป้ารับนิสิตแพทย์ในหลักสูตรนี้ จำนวน 40 คนต่อปี หลังจากที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้ประชาสัมพันธ์หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตนานาชาติออกไป ก็ได้รับการตอบรับจากผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก


• คุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรฯ นี้ได้ มีดังนี้ 

- ไม่จำกัดอายุ เพศ เชื้อชาติ
- จบการศึกษาระดับปริญญาตรีไม่จำกัดสาขา หรือเป็นผู้ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีภายใน พ.ศ. 2564
- สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในระดับดี โดยมีผลคะแนนสอบวัดความสามารถ TOEFL (Internet-based) ไม่ต่ำกว่า 85 หรือ IELTS (Academic) ไม่ต่ำกว่า 7
- มีผลคะแนนสอบ Medical College Admission Test (MCAT) ซึ่งคือการสอบวัดความรู้ทางวิทยาศาสตร์เบื้องต้น


• เอกสารประกอบเพิ่มเติมเพื่อยื่นต่อคณะกรรมการคัดเลือก ดังนี้

1. หนังสือแนะนำตัว (Statement of purpose)
2. Curriculum Vitae (CV)
3. จดหมายแนะนำ (Letter of Recommendation) 2 ฉบับ
 
การเรียนการสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ด้วยระยะเวลา 4 ปีนี้ อาจจะดูแปลกใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ในต่างประเทศ มีการยอมรับหลักสูตร 4 ปี ลักษณะนี้อย่างกว้างขวาง สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) นี้จะเป็นหลักสูตรผสมผสานที่ให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการดูแลผู้ป่วย มีศักยภาพในการสร้างนวัตกรรม รวมทั้งมุ่งพัฒนาจุดเด่นของแต่ละคนและพัฒนาความเป็นผู้นำ เตรียมความพร้อมในการเป็นแพทย์ในศตวรรษที่ 21 โดยแบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 ส่วนหลัก

 

ระยะที่ 1 : Pre-clerkship

• ในภาคเรียนที่ 1 - 3 จัดการเรียนการสอนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการผสมผสานการเรียน โดยนิสิตจะได้เรียนรู้ถึงปัญหาของผู้ป่วยตั้งแต่แรก และนำประเด็นปัญหานั้น ไปสู่การอธิบายถึงกายวิภาค และพยาธิสรีรวิทยา โดยเน้นการเรียนกลุ่มย่อย การศึกษาด้วยตนเอง และการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จำลอง ควบคู่กับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยอาจารย์ที่ปรึกษา และยังมีรายวิชาซึ่งเน้นให้นิสิตได้เริ่มทำการวิจัย รวมทั้งสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์อีกด้วย


ระยะที่ 2 : Clerkship

• นิสิตจะได้ฝึกปฏิบัติดูแลผู้ป่วยที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย โดยมีอาจารย์ชาวต่างชาติร่วมในการเรียนการสอนด้วย


ระยะที่ 3 : Externship

• นอกจากฝึกปฏิบัติดูแลผู้ป่วยในประเทศไทยแล้วในระยะสุดท้ายของการเรียน นิสิตจะได้ไปฝึกปฏิบัติงานยังโรงพยาบาลคู่ความร่วมมือชั้นนำในต่างประเทศทั้งในสหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 เดือน นอกจากนี้ยังมีเวลาอีก เดือน ซึ่งนิสิตจะสามารถเลือกเพิ่มพูนทักษะ หรือศึกษาวิจัยในสาขาที่สนใจ ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย

นับเป็นมิติใหม่ของการศึกษาวิชาแพทยศาสตร์ ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพหลากหลาย และพร้อมในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นกำลังหลักของสังคมในระดับสากล

สนใจสามารถสมัครได้โดยตรงที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ คาดว่าจะเริ่มเปิดรับสมัครในเดือนมกราคม พ.ศ.2564 จากนั้น จะเข้าสู่กระบวนการสอบสัมภาษณ์ การคัดเลือก และเปิดภาคการศึกษาแรกในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2564 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
 
 
 
 
โทรศัพท์:  +669-5061-1237 (วันจันทร์-วันศุกร์ 08:00-17:00 น. เว้นวันหยุดราชการ)
 

 

 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง