รีเซต

หมอจุฬาฯ ห่วงโควิดสู้ภูมิคุ้มกัน ชี้วัคซีนเต็มที่ 4 เข็ม แนะรอบูสต์รุ่น 2

หมอจุฬาฯ ห่วงโควิดสู้ภูมิคุ้มกัน ชี้วัคซีนเต็มที่ 4 เข็ม แนะรอบูสต์รุ่น 2
มติชน
3 เมษายน 2565 ( 14:02 )
62
หมอจุฬาฯ ห่วงโควิดสู้ภูมิคุ้มกัน ชี้วัคซีนเต็มที่ 4 เข็ม แนะรอบูสต์รุ่น 2

เมื่อวันที่ 3 เมษายน ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเกี่ยวกับติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ผสมโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.1 กับ BA.2 ว่า การผสมพันธุ์ของไวรัสเป็นผลที่เกิดจากการแพร่กระจายของไวรัสอย่างเข้มข้น แต่ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่ติดเชื้อดังกล่าวจะต้องมีอาการหนัก หรือเสียชีวิต แต่การแพร่เชื้อลักษณะนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ไวรัสปรับตัวอยู่กับมนุษย์ติดต่อกันต่อไปได้ รวมถึงปรับตัวเพื่อเอาชนะภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน และภูมิคุ้มกันที่เกิดจากธรรมชาติเมื่อหายจากการติดเชื้อ ฉะนั้น เราจะเห็นการรายงานลักษณะนี้ทั่วโลกทุกสัปดาห์ เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ

 

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่เราฉีดกันแล้ว 3 หรือ 4 เข็มนั้น ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ขณะที่การป้องกันอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ก็เริ่มเป็นที่สงสัย เนื่องจากการฉีดวัคซีนที่มากเกินไป ภูมิคุ้มกันที่ได้อาจเป็นภูมิคุ้มกันที่ไม่ดีต่อร่างกาย อาจกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่เข้าข้างกับไวรัส คือ ผู้ติดเชื้ออาจจะมีอาการหนักเกิดขึ้นได้เมื่อติดเชื้อ และเพิ่มการอักเสบที่มากขึ้นได้ ซึ่งเริ่มเห็นได้มากพอสมควร ดังนั้น การฉีดวัคซีนในขณะนี้ หากเริ่มด้วยเชื้อตาย 2 เข็ม ก็ให้ตามด้วยวัคซีนชนิดอื่นอีก 2 เข็ม แต่สำหรับผู้ที่ฉีด 2 เข็มแรกที่ไม่ใช่เชื้อตาย ก็ฉีดเพียง 3 เข็ม ก็น่าจะเพียงพอ แล้วให้รอวัคซีนรุ่นใหม่ที่ครอบคลุมเชื้อโควิด-19 ในหลายตัว ทั้งสายพันธุ์ในอดีตและสายพันธุ์ในอนาคตได้

 

“สำหรับการฉีดวัคซีน 3-4 เข็ม ไม่ต้องฉีดแล้ว เพราะอาจเกิดทั้งในผลข้างเคียงของวัคซีน แต่ในส่วนนี้เราสามารถใช้การฉีดเข้าในชั้นผิวหนังได้ตามที่ศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ และโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน มีการศึกษาว่า สามารถลดอาการข้างเคียงได้ แต่อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนที่มากเกิดไป ก็อาจจะไม่มีผลเรื่องป้องกันติดเชื้อ เพราะบางรายฉีดเข็มที่ 5 แล้วยังติดเชื้อ และบางส่วนเข้า รพ.พบว่าอาการหนักก็มีเยอะพอสมควร” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้ในขณะนี้ เป็นการเริ่มศึกษาเมื่อมีการระบาดโรคโควิด-19 ในปี 2020 ซึ่งยังเป็นการอนุมัติใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินเกือบทั่วโลก ดังนั้น ด้วยขณะนี้ไม่มีไวรัสที่มีความรุนแรง หรืออันตราย ฉะนั้น การฉีดวัคซีนต้องชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่ได้รับกับผลข้างเคียงของวัคซีน อย่างไรก็ตาม อะไรที่มากเกินไปก็อาจเกิดผลร้ายขึ้นได้เสมอ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง