รีเซต

“ศบค.” เห็นชอบรับ “4 กลุ่มต่างชาติ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกำชับแนวทางทำสถานกักกันโรคฯ “แรงงานต่างด้าว”

“ศบค.” เห็นชอบรับ “4 กลุ่มต่างชาติ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกำชับแนวทางทำสถานกักกันโรคฯ “แรงงานต่างด้าว”
มติชน
22 กรกฎาคม 2563 ( 14:54 )
143
“ศบค.” เห็นชอบรับ “4 กลุ่มต่างชาติ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พร้อมกำชับแนวทางทำสถานกักกันโรคฯ “แรงงานต่างด้าว”
“ศบค.” เห็นชอบรับ “4 กลุ่มต่างชาติ” ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พร้อมกำชับแนวทางทำสถานกักกันโรคฯ “แรงงานต่างด้าว” กว่าแสนราย

เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ที่ ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้มีความคืบหน้าในการจัดการทำข้อตกลงพิเศษ(Special Arrangement) และมาตรการสำหรับบุคคลในคณะทูต หรือคณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนรัฐบาล หน่วยงานของรัฐหรือต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการต่างประเทศ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มนักธุรกิจ/ผู้เชี่ยวชาญ 2.กลุ่มนักการทูต โดยเมื่อเข้ามาแล้วจะต้องอยู่ในสถานกักกันโรคของรัฐ(State Quarantine) โดยเฉพาะนักการทูตที่ได้หารือไปแล้ว วันนี้ได้อนุมัติในหลักการและให้กระทรวงการต่างประเทศลงรายละเอียด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน เสนอการพิจารณาแนวทาง/หลักเกณฑ์อนุญาตแรงงานต่างดาว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว กัมพูชา เข้ามาในประเทศไทย เนื่องจากความต้องการแรงงานไร้ฝีมือและต้องการแรงงานเป็นส่วนใหญ่ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่มีใบอนุญาตการทำงาน(Work permit)และมีวีซ่าอยู่แล้ว จำนวน 69,235 คน 2.กลุ่มที่ไม่มีใบอนุญาตการทำงาน(Work permit) หรือไม่มีวีซ่า แต่ต้องการนำเข้ามา จำนวน 42,168 คน รวมทั้งสิ้นกว่าแสนคน เพื่อเข้ามาในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน หรือ ก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร และเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเข้าสถานกักกันโรคฯ และไม่ให้ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของธุรกิจนั้น จึงมีข้อเสนอในการให้หน่วยงาน หรือ เจ้าของกิจการจัดสถานที่กักกันโรคฯ ในรูปแบบของ (Organizational Quarantine) ที่ให้คนกลุ่มนี้เข้าพักได้มากกว่า 1 คน/ห้อง โดยจะต้องมีการดูแลระบบควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ตามข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ซึ่งเป็นไปตามสถานกักกันโรคฯ แบบ State and Local Quarantine

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การพิจารณาการเตรียมความพร้อมเพื่อผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายในอนาคต มี 4 กลุ่ม คือ 1.การอนุญาตให้ชาวต่างชาติเข้ามาจัดแสดงสินค้าในราชอาณาจักร ที่ประชุม ศบค.ได้หารือในแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ 1.ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ไม่เกิน 3 วัน ก่อนเดินทาง 2.ทำประกันสุขภาพ (ประกันโควิด-19) ตามข้อกำหนดของรัฐบาล USD 100,000 3.ข้อมูลที่ต้องแจ้งกับผู้จัดงานก่อนการเดินทาง 3.1 โปรแกรมการเดินทางและกำหนดการที่อยู่ในประเทศไทย 3.2 ผลการตรวจว่าไม่พบเชื่อ 3.3 ตั๋วเครื่องบินทั้งมาและกลับ 3.4 ลงนามในหนังสือยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลไทย และที่ผู้จัดงานกำหนด 3.5 เลือกแพคเกจการดูแลระหว่างอยู่ในประเทศไทย ซึ่งบริหารจัดการ DMC ที่ได้รับการรับรอง 3.6 ระบุโรงแรมที่พัก ตามที่ผู้จัดงานกำหนดให้เท่านั้น (โดยการรับรองของ ศบค.) 4.ลงทะเบียนแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” สำหรับการบันทึกประวัติ

“ในการเข้ามาจะต้องมีการดูแลด้านการป้องกันโรค เช่น การพูดคุยเจรจาธุรกิจจะต้องมีฉากกั้นระหว่างการพูดคุย โดยมีความสนใจเข้ามาเพิ่มมากขึ้น ในเดือนกันยายนมี 1 งาน ผู้เข้าร่วมงาน 680 คน เดือนตุลาคมมี 8 งาน ผู้เข้าร่วม 400 คน เดือนพฤศจิกายนมี 4 งาน ผู้เข้าร่วมงาน 4,000 คน เดือนธันวาคมมีงานนานาชาติ 2 งาน ผู้เข้าร่วมงาน 1,200 คน ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 ชาวต่างชาติเข้ามาถ่ายภาพยนตร์ในราชอาณาจักร โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เสนอข้อปฏิบัติ เช่น ตรวจหาเชื้อโควิด-19 ก่อนเดินทางเข้ามา การเข้ากักกันโรคฯ ในโรงแรม Alternative State Quarantine มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตาม เป็นต้น โดยที่ประชุมได้รับข้อเสนอเพื่อพิจารณาแล้ว กลุ่มที่ 3 กลุ่ม Medical and wellness program เป็นการรักษาโรคของชาวต่างชาติในรูปแบบการท่องเที่ยว ซึ่งจะสามารถเที่ยวตามโปรแกรมได้หลังจากที่อยู่ในโรงพยาบาลจนครบ 14 วัน และ กลุ่มที่ 4 ชาวต่างชาติที่ถือบัตร Thailand Elite card ซึ่งมีสมาชิกกว่า 10,000 คน โดยจะมีการนำร่องในจำนวน 200 คน ดูแลโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

“ทั้งหมดนี้มีรายละเอียดอีกมากมาย แต่โดยหลักการแล้ว ทาง ศบค.ชุดใหญ่ได้ให้หลักการและให้แต่ละกระทรวงที่รับผิดชอบ ลงในรายละเอียด หลังจากนั้นจะมีการเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเฟซบุ๊ก ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ต่อไป” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง