รีเซต

วิกฤตโควิด-19 ผนึกไทยทุกคนก้าวสู่ "ชีวิตวิถีใหม่"

วิกฤตโควิด-19 ผนึกไทยทุกคนก้าวสู่ "ชีวิตวิถีใหม่"
มติชน
1 มิถุนายน 2563 ( 08:28 )
4K
3

ขณะนี้สถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในประเทศไทย ดูเหมือนว่าเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี มีการกลับมาเปิดกิจการ/กิจกรรมต่างๆ เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจต่อไป

ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาทิศทางประเทศไทย: ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สู่ชีวิตวิถีใหม่ มีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญครอบคลุมทุกมิติทั้งภาคเศรษฐกิจ สังคม สาธารณสุข และสุขภาพ ร่วมเสวนาเปิดมุมมองแนวทางการพัฒนาประเทศไทยภายหลังวิกฤตโควิด-19

ทั้งนี้ พระไพศาล วิสาโลŽ เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวผ่านระบบประชุมทางไกลออนไลน์ถึงแนวทางการปฏิบัติตัวของประชาชนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ว่า การรักษาใจสำคัญไม่แพ้กับการรักษากาย การใช้ชีวิตวิถีใหม่ช่วงยุคโควิด-19 มีหลักปฏิบัติ 4 ข้อ ที่ช่วยทุกคนได้ คือ 1.ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ตระหนักว่าความเครียด วิตก กลัว ทำร้ายจิตใจ 2.พยายามอย่าอยู่นิ่ง หากิจกรรมทำคลายเครียด 3.ทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เช่น ผลิตหน้ากากผ้าแบ่งปันตามกำลังที่พอทำได้ 4.ปรับตัว หาช่องทางเพิ่มรายได้ เช่น การขายผ่านออนไลน์ อย่างไรก็ตาม วัดยังเป็นสถานที่พึ่งพิงของประชาชนที่ช่วยเหลือด้านปัจจัย 4 อาหาร และเป็นที่พึ่งพิงทางจิตใจได้

นายวรากรณ์ สามโกเศศ กรรมการคณะที่ปรึกษาด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) กล่าวว่า สถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ เปรียบเสมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่สู้กับศัตรูที่มองไม่เห็น ทำให้ผู้คนเกิดความผวา ซึ่งเป็นการต่อสู้เชิงจิตวิทยา ขณะที่ประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่างโต้แย้งกันว่าเหตุการณ์โรคระบาดนี้เกิดขึ้นเพราะใคร ทุกประเทศจะต้องเผชิญปัญหาใหญ่ คือ การว่างงาน สงครามการค้า วิกฤตราคาน้ำมัน ตลาดทุน ความขัดแย้งระหว่างประเทศมหาอำนาจ ปัญหาสำคัญคือ การเกิดหนี้สาธารณะ ส่งผลต่อความไม่คล่องตัวในการใช้ทรัพยากรในอนาคต โดยคนรุ่นหลังจะต้องเป็นผู้รับใช้หนี้ ลงไปถึงงบประมาณใช้จ่ายในแต่ละปีจะลดน้อยลง

“ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการเร่งด่วนเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส กำกับการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัญหาการว่างงาน ปัญหาฝนแล้ง ช่วยเหลือสภาพคล่องของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และมีมาตรการช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในระยะยาวการฟื้นฟูประเทศ ควรกำกับการใช้เงินกู้จากพระราชกำหนดแก้ไขวิกฤตโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้เงินกู้เพื่อกระตุ้นการผลิตและการจ้างงาน ไม่มุ่งเฉพาะการเยียวยา และปรับคุณภาพแรงงานให้มีทักษะพร้อมกับโลกยุคใหม่ และแก้ความเหลื่อมล้ำ พร้อมสร้างความมั่นใจให้นานาชาติ”Ž นายวรากรณ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายวรากรณ์ ระบุว่า มีการพยากรณ์กันว่า ประเทศไทยจะกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาสแรกของปี 2564 ภายใต้เงื่อนไขของยารักษาโลกและวัคซีนป้องกัน การระบาดของโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เปลี่ยนวิถีก่อค่าใช้จ่ายใหม่ คนไทยจะเกิดสติในการสร้างสุขภาพ ระวังการใช้จ่ายและเงินออม คนจะหันมาเรียนรู้ระบบออนไลน์ ถูกท้าทายจากเทคโนโลยีใหม่ๆ สิ่งที่ประชาชนต้องเตรียมพร้อมคือ การปรับแนวคิดของตนเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก พัฒนาทักษะตนเอง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และสุขภาพ

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มนุษย์อยู่ได้ในภาวะปกติจะต้องมี 4 สัปปายะ ได้แก่ โภชนะสัปปายะ คือ อาหารเป็นที่สบาย เทศนะสัปปายะ คือ ที่อยู่เป็นที่สบาย บุคคลสัปปายะ คือ บุคคลเป็นที่สบาย และธรรมะสัปปายะ คือ ความคิดเป็นที่สบาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงแก้ปัญหาเรื่องดินให้แก่เกษตรกรจนได้รับรางวัลระดับโลก ไทยติดอันดับ 1 ใน 6 ประเทศที่มีแหล่งอาหารสำรองของโลก เพราะมีต้นทุนด้านเกษตรกรรมที่ดีอยู่แล้ว ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้แรงงานกลับบ้านเกิดมากขึ้น เกิดโอกาสในการพัฒนาชุมชน สิ่งที่รัฐต้องเร่งทำคือ การแก้ปัญหา เช่น ภัยแล้ง จัดสรรแหล่งน้ำ เพื่อให้ทำมาหากินได้ รัฐควรเดินหน้านโยบายเกษตรยั่งยืนอย่างจริงจัง โดยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ได้ ต้องให้ความสำคัญการฟื้นฟูที่ดินทำกิน ลดการใช้สารเคมี ทุกหมู่บ้านควรมีคลังพันธุ์พืชของตนเองไม่ต้องรอรัฐ และหาแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ ไทยควรจัดตั้งองค์กรเกษตรกรเข้มแข็ง มีโรงเรียนเกษตรกร มีศูนย์ฝึกหมู่บ้าน เพื่อลดการพึ่งพาของรัฐ ส่วนสังคมเมืองควรปรับพื้นที่ที่จำกัดให้สามารถปลูกพืชผักที่สามารถนำมาพึ่งพาตัวเองได้ด้วย

นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เฉพาะการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และอดีตนายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน สาขาระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ.กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 4 ล้านคนทั่วโลก สร้างความเสียหายอย่างมหาศาล คาดว่าจะกินเวลา 12-18 เดือนเป็นอย่างน้อย จนกว่าจะมีวัคซีน และภูมิต้านทานธรรมชาติ รูปแบบของการระบาดต่อจากนี้ จะเกิดได้จากภายนอกเข้ามาในประเทศ ส่วนการติดเชื้อในประเทศเป็นแบบวงจำกัดแบบกลุ่มก้อน หรือแบบวงกว้างก็ได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มมาตรการเฝ้าระวังและการควบคุมตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ทั้งด้านสาธารณสุข สังคม และการล็อกดาวน์ ขณะที่การสร้างบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) จะต้องเปลี่ยนค่านิยมระยะยาว โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ก่อนความสนุก สะดวกสบาย โดยรัฐบาลจะลงทุนดูแลคนมากขึ้น เรื่องสุขภาพจะกลายเป็นวาระสำคัญของโลก เพราะสถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่หนังสั้น แต่เป็นซีรีส์เรื่องยาวกินเวลาอย่างน้อย 12 เดือน และอาจจะอยู่ไปเรื่อยๆ อย่างเช่น โรคเอดส์ โดยซีรีส์เรื่องนี้ ผู้เขียนบท ผู้เล่น ผู้กำกับ ไม่ใช่รัฐบาล แต่เป็นคนไทยทุกคน โดยจะต้องทำให้การแพร่เชื้ออยู่ในระดับต่ำ เพื่อให้ระบบสาธารณสุขรองรับผู้ป่วยได้ ต้องเลือกเดินสายกลาง โดยจะต้องปฏิบัติเพื่อชะลอการระบาดด้วยวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งมี 2 ส่วน คือ การปฏิบัติŽ และ ค่านิยมŽ ซึ่งทิศทางที่ควรจะเป็นคือ ปรับให้เป็นค่านิยม

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าวว่า วงจรการเกิดโรคระบาดมี 3 ระยะ คือ 1.ระยะความกลัว กังวล เพราะยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจ 2.ระยะการเรียนรู้ และ 3.ระยะเกิดพัฒนาการสู่การเปลี่ยนแปลง ที่นอกจากจะให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยเพื่อป้องกันโควิด-19 แล้ว ยังนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อการป้องกันในอนาคตทั้งในระดับบุคคล สังคม/สิ่งแวดล้อม และเชิงระบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการป้องกันโรคระบาด โดยในระดับบุคคล เน้นรักษาความสะอาดร่างกาย การกิน การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง และยังต้องคำนึงถึงการทำให้สุขภาพกายและใจแข็งแรง ด้วยการลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า รวมถึงการมีกิจกรรมทางกาย การบริโภคอาหาร และพฤติกรรมเพื่อสุขภาพอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ นอกจากการใช้มาตรการเชิงนโยบายและการบังคับใช้ในช่วงเกิดการระบาดแล้ว ยังต้องเสริมด้วยกระบวนการสร้างค่านิยมวัฒนธรรมที่นำไปสู่การเห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงในวิถีใหม่ของชีวิตด้วย อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการในการสร้างเสริมสุขภาพที่ สสส.ใช้อยู่ สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ทันที

“การขับเคลื่อนการสร้างชีวิตวิถีใหม่จะเชื่อมโยงปัจจัยและระบบสุขภาพ สังคม การศึกษาเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยรัฐและสังคมไทยต้องร่วมกันกำหนด จุดหมายŽ ของวิถีใหม่ ที่เห็นพ้องกันว่าจำเป็นและเหมาะสม โดยอาจร่วมกับโลกในการเร่งการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่ประชาคมโลกได้ลงปฏิญญาไว้แล้ว ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และใช้กระบวนการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ในก้าวเบื้องต้นของการเดินทางไกล”Ž ทพ.สุปรีดา กล่าว

ล่าสุด สสส. และภาคีเครือข่าย ได้จัดทำไกด์ไลน์แนวทางปฏิบัติการสร้างชีวิตวิถีใหม่แล้ว 7 คู่มือ ครอบคลุมประเด็นการใช้ชีวิตประจำวัน การป้องกันและเฝ้าระวังโรค มาตรการสำหรับโรงเรียน สถานศึกษา รวมถึงการจัดระเบียบสังคม การสร้างความเข้าใจเพื่อลดการตีตราผู้ป่วย โดยได้กระจายให้หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน และสถานศึกษา มากกว่า 1 แสนเล่ม ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดคู่มือได้ที่ www.thaihealth.or.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง