รีเซต

เลือกตั้ง 2566 "พิธา" เลื่อนแจงบัญชีทรัพย์สิน 18 มิ.ย. นี้

เลือกตั้ง 2566 "พิธา" เลื่อนแจงบัญชีทรัพย์สิน 18 มิ.ย. นี้
TNN ช่อง16
13 มิถุนายน 2566 ( 18:04 )
72
เลือกตั้ง 2566 "พิธา" เลื่อนแจงบัญชีทรัพย์สิน 18 มิ.ย. นี้

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.   เปิดเผยภาพรวมการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ ส.ส.  หลังพ้นจากตำแหน่ง หลังครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่าน ว่า  ตามกฎหมายต้องยื่นทรัพย์สินภายใน 60 วัน หลังจากพ้นตำแหน่ง โดยขณะนี้มีการยื่นทรัพย์สินมายัง ป.ป.ช.แล้วประมาณ 384 ราย หรือกว่าร้อยละ  70 ที่เหลือที่ยังไม่ได้ยื่นอีกประมาณ 100 กว่าบัญชี ซึ่งมีหลายรายที่ขอขยายเวลาการยื่น ที่ตามกฎหมายสามารถขอขยายได้ 30 วัน โดยจะครบในวันที่ 18 มิถุนายนนี้   สำหรับการยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นจากตำแหน่งนั้น มีหลักการตรวจสอบคือ เปรียบเทียบกับบัญชีขาเข้ารับตำแหน่งว่ามีทรัพย์สินใดที่เพิ่มมากขึ้นผิดปกติหรือไม่ หรือมีหนี้สินลดลงผิดปกติหรือไม่ เป็นประเด็นสำคัญของการตรวจสอบ และหากพบเหตุอันควรสงสัยว่าผิดปกติจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบเชิงลึก หรือหากตรวจสอบพบว่าถึงขนาดมีเหตุร่ำรวยผิดปกติก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการไต่สวน


ทั้งนี้  ในส่วนของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ยังไม่ได้ยื่น  “บัญชีทรัพย์สิน” และทราบว่ามีหนังสือขอขยายเวลาส่งมาที่ป.ป.ช. ซึ่งจะครบกำหนดยื่นในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ และตามกฎหมายไม่ได้ให้ขยายเวลาได้อีก แต่อาจพิจารณาเจตนาและเหตุผลของผู้ยื่นว่า ยื่นล่าช้าเพราะอะไร  ทั้งนี้หลักกฎหมายที่เขียนไว้คือ หากมีเจตนาปกปิด อำพราง ซ่อนเร้น ทรัพย์สินหรือหนี้สินและตรวจพบว่ามีพฤติการณ์เช่นนั้น จึงจะสามารถวินิจฉัยชี้มูลความผิดได้ กรณีที่นายพิธา  ถูกสังคมจับตาเป็นพิเศษ ป.ป.ช.จะตรวจสอบปกติ ไม่ได้เพ่งเล็งแต่อย่างใด ยืนยันว่าทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการเดียวกัน มีบรรทัดฐานเดียวกัน 


ส่วนกรณีที่นายพิธา ยื่นทรัพย์สินเพิ่มเติมมานั้น เลขาธิการ ป.ป.ช กล่าวว่า  เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ว่าเป็นหุ้นไอทีวีหรือไม่ หรือเป็นหุ้นอะไร  มีมูลค่าเท่าไหร่ เป็นการยื่นในฐานะผู้จัดการมรดกตามที่หมายเหตุเอาไว้หรือไม่  หรือมีคำสั่งศาลหรือไม่ ส่วนกรณีที่นายพิธาโอนหุ้นบริษัทไอทีวีแล้วนั้น ต้องจะนำมาพิจารณาประกอบในกรณีที่นายพิธา  จะยื่นทรัพย์สินกรณีพ้นตำแหน่งส.ส. โดยพิจารณาเปรียบเทียบกันระหว่างวันที่เข้ารับตำแหน่งและวันที่พ้นจากตำแหน่ง เพื่อดูว่ายังมีอยู่หรือไม่ แต่ขณะนี้นายพิธายังไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีพ้นตำแหน่งเข้ามาจึงยังไม่ได้ดู  ซึ่งหากยื่นมาแล้วไม่มีหุ้นไอทีวี ก็ต้องดูว่าหุ้นที่หายไปมีมูลค่าเท่าไหร่ ซึ่งเจ้าหน้าที่อาจจะต้องตรวจสอบเพิ่มเติมได้หากเห็นว่าเป็นสาระสำคัญ 



ขณะที่ความเคลื่อนไหวของนายพิธา ในช่วงเวลา  15.30-16.30น. วันนี้ จะนำคณะพบปะกับตัวแทนสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อหารือถึงสถานการณ์เอสเอ็มอี ปัญหาและข้อเสนอเร่งด่วน โดยเฉพาะประเด็นร้อนอย่างการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทต่อวัน ที่จะกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยแน่นอน โดยปัจจุบันเอสเอ็มอีมีการจ้างงานมากกว่า 12 ล้านคน

 

ทั้งนี้ ทาง สมาพันธ์ฯ เตรียมเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน ที่รัฐบาลใหม่ควรต้องทำ ประกอบด้วย มาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก มุ่งกระจายรายได้ส่วนท้องถิ่น มีผลต่อการเพิ่มสัดส่วนจีดีพีประเทศ จากรายได้และกำลังซื้อเพิ่มขึ้น พร้อมสร้างตลาดส่งออก /มาตรการแก้ไขปัญาต้นทุนให้เอสเอ็มอี และลดค่าครองชีพประชาชน เช่น ปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน / มาตรการเข้าถึงแหล่งต้นทุนต่ำ สำหรับเอสเอ็มอี และฟื้นฟูหนี้เอ็นพีแอล เน้นสร้างแต้มต่อดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอี จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเอสเอ็มอี / มาตรการยกระดับขีดความสามารถเอสเอ็มอีและภาคแรงงาน และมาตรการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของเอสเอ็มอี เพื่อสามารถปฏิบัติได้จริง

 

ขอบคุณข้อมูลข่าวจาก TNN: https://www.tnnthailand.com/home

ข่าวที่เกี่ยวข้อง