รีเซต

“พิชัย”เชื่อมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนหนุนจีดีพีปีหน้าขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3%

“พิชัย”เชื่อมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนหนุนจีดีพีปีหน้าขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3%
ทันหุ้น
11 ธันวาคม 2567 ( 16:45 )
17

“พิชัย”เชื่อมาตรการแก้หนี้ครัวเรือนหนุนจีดีพีปีหน้าขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% หนี้ครัวเรือนลดมากกว่า 10% ประเมินลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอีกลุ่ม”บ้าน-รถยนต์”อยู่ในข่ายโครงการ 1.9 ล้านราย มูลหนี้ 8.9 แสนล้านบาท เปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมตั้งแต่ 12 ธ.ค.นี้ ถึง 28ก.พ.ปีหน้า ยันไม่เกิดปัญหา Moral Hazard ชี้เป็นกลุ่มเปราะบางจริง

 

#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุ มาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนของรัฐบาล จะเป็นส่วนในการผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3% และโครงการนี้ จะช่วยให้ระดับหนี้ครัวเรือนของประเทศลดลงไปอีกหลาย 10%จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 90%ของจีดีพี

 

ทั้งนี้ เขากล่าวระหว่างการแถลงข่าวโครงการ”คุณสู้ เราช่วย”ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขหนี้ครัวเรือนของลูกหนี้รายย่อยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันนี้และว่า จีดีพีในไตรมาสที่สามของปีนี้น่าจะเห็นตัวเลขที่ 3% และไตรมาสที่สี่จะเห็นตัวเลขใกล้ 4%รวมแล้วปีนี้จีดีพีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2.8% ส่วนปีหน้าเชื่อว่า จะขยายตัวได้มากกว่า 3%

 

“ผมฝันถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 3.5% แต่ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัย คือ การสร้างความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหาหนึ่งที่เราต้องแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและให้เศรษฐกิจสามารถเกินหน้าต่อไปได้ คือ การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ของ SMEs ซึ่งเป็นพื้นฐานของธุรกิจขนาดกลาง และขนาดใหญ่ของประเทศ”

 

ทั้งนี้ โครงการนี้จะทำให้มูลหนี้เงินต้นของลูกหนี้ที่เข้าโครงการลดลง  และ NPL ของสถาบันการเงินก็จะลดลงด้วย โดยลูกหนี้ที่อยู่ในข่ายเข้าร่วมโครงการได้จะอยู่ที่ 1.9 ล้านราย มูลหนี้ 8.9 แสนล้านบาท

 

เขากล่าวอีกว่า เมื่อมีโครงการแก้ไขปัญหาหนี้ดังกล่าวแล้ว ในเฟสต่อไปนั้น จะมีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะสอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจ ที่คาดว่า จะมีการลงทุนจากนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ โดยแบงก์รัฐจะเป็นคนอัดฉีดเงินเข้าระบบ โดยจะเน้นไปที่สินเชื่อในชนบท ซึ่งจะมีวงเงินราว 1ล้านล้านบาท

 

สำหรับเม็ดเงินที่นำมาใช้ในโครงการแก้ไขหนี้ในครั้งนี้นั้น จะมาจากการลดเงินนำส่งเข้า FIDF ของสถาบันการเงินเอกชนลงครึ่งหนึ่งจากที่เคยนำส่งอยู่ที่ 0.46% ลงเหลือ 0.23% ของฐานเงินฝากของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งจะคิดเป็นเม็ดเงินที่สามารถนำมาใช้ได้ 3.9 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมกับเม็ดเงินที่สถาบันการเงินจะเข้ามาร่วมด้วยอีก 3.9 หมื่นล้านบาท ทำให้มีเม็ดเงินที่เข้าไปช่วยแก้ไขหนี้ปีละ 7.8หมื่นล้านบาท รวม 3ปีของโครงการนี้ จะมีเม็ดเงินรวมกว่า 2 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนลูกหนี้ที่จะเข้าโครงการด้วย

 

ในส่วนของสถาบันการเงินภาครัฐนั้น นายพิชัย กล่าวว่า แบงก์รัฐจะใช้เงินจากมาตรา28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง เพื่อนำมาช่วยลูกหนี้ในโครงการ รวมถึง จะมีเม็ดเงินจากการนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐ โดยคลังอนุมัติให้ลดเงินนำส่งเหลือ 0.125%จากปกติ นำส่ง 0.25% ซึ่งจะมีเม็ดเงินช่วยลูกหนี้อีกราว7-8พันล้านบาทต่อปี

 

“การที่สถาบันการเงินเข้ามาร่วมมือแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนในครั้งนี้ จะทำให้ลูกหนี้สามารถยู่รอดได้ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินอยู่รอดได้ด้วย เพราะ90%ของลูกหนี้สถาบันการเงิน เป็นลูกค้าในประเทศ”

 

เขากล่าวอีกว่า โครงการนี้ รัฐบาลไม่ได้ละเลยในเรื่องของ Moral Hazard โดยเรายังให้ความสำคัญต่อเรื่องวินัยการเงินการคลัง ทั้งของภาครัฐสถาบันการเงิน และภาคประชาชน เพราะเราเชื่อว่าคนกลุ่มนี้มีความยากลำบากไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

 

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า สำหรับลูกค้าแบงก์รัฐที่อยู่ในข่ายที่สามารถเข้าโครงการนี้ได้ มีประมาณ 7 แสนบัญชี เป็นวงเงิน 4.5 แสนล้านบาท โดยจะใช้แหล่งเงินจาก มาตรา 28 นอกจากนี้ ออมสิน จะตัดหนี้ดอกเบี้ย สำหรับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียมีมูลหนี้ไม่เกิน 5 พันบาทต่อราย โดยให้ชำระเพียง 10%ของมูลหนี้

 

“สำหรับลูกหนี้หนี้เสียที่มีวงเงินไม่เกิน 5 พันบาทดังกล่าวที่อยู่ในแบงก์รัฐมีประมาณ 1.3 แสนบัญชี เป็นวงเงินราว 300 ล้านบาท ในจำนวนนี้แยุ่กับออมสิน 1.1แสนบัญชี ซึ่งเราได้ตั้งสำรองหนี้ไว้หมดแล้ว

 

สำหรับมาตรการแก้ไขหนี้ครัวเรือนครั้งนี้นั้น ลูกหนี้จะต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.67จนถึงวันที่ 28 ก.พ.68โดยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย 1.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ประกอบด้วย 1.1มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงินลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ 3 ประเภท (สัญญาสินเชื่อที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2567) ประเภทสินเชื่อ วงเงินรวมต่อสถาบันการเงิน

 

เช่น 1. สินเชื่อบ้าน/สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ไม่เกิน 5 ล้านบาท

1.2 สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ไม่เกิน 8 แสนบาท และ สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ ไม่เกิน 5 หมื่นบาท

1.3 สินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านบาท

ส่วนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น ลดภาระการผ่อนชำะค่างวด ระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ชำระค่างวด 50% 70% และ 90%ตามลำดับตามค่างวดที่ชำระจะนำไปตัด เงินต้นทั้งหมดเพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้นและดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ในช่วงระยะเวลามาตรการ

 

2.มาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPL ที่มียอดหนี้ ไม่สูง เช่นลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็น NPL และมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5 พันบาท (ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา)

 

นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรนโดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระ 10%ภาครัฐรับภาระ 45%และสถาบันการเงินรับภาระ 45%ของภาระหนี้คงค้าง

 

3.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของ Non – banks โดยขยายการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปยังลูกหนี้ของ Non - banks เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเปราะบางและมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูง คุณสมบัติลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ 5 ประเภท (สัญญาสินเชื่อทำขึ้นก่อน 1ม.ค. 67) 

1. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ 8 แสนบาท

2. สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ 5 หมื่นบาท

3. สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กการกำกับ 1 แสนบาท หรือ 2 แสนบาท

4. สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล 2 หมื่นบาท

5. สินเชื่อรายย่อยเพื่อกำรประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano Finance)รูปแบบการช่วยเหลือ เช่น ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็น 70%ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการระยะเวลา 3 ปี ลดอัตราดอกเบี้ย 10%จากอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าร่วมมาตรการตลอดระยะเวลา 3 ปี

 

โดยแหล่งเงินนั้น ธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ Non – banks อัตรา 0.01%ต่อปีวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยรัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี งบรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3 พันล้านบาท

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง