รีเซต

จีนเผยภาพถ่าย 'ดาวอังคาร' ฝีมือเทียนเวิ่น-1 ชี้จุดลงจอด-ยานจู้หรง

จีนเผยภาพถ่าย 'ดาวอังคาร' ฝีมือเทียนเวิ่น-1 ชี้จุดลงจอด-ยานจู้หรง
Xinhua
7 มิถุนายน 2564 ( 22:00 )
73
จีนเผยภาพถ่าย 'ดาวอังคาร' ฝีมือเทียนเวิ่น-1 ชี้จุดลงจอด-ยานจู้หรง

 

ปักกิ่ง, 7 มิ.ย. (ซินหัว) -- วันจันทร์ (7 มิ.ย.) องค์การบริหารอวกาศแห่งประเทศจีน (CNSA) เผยแพร่ภาพถ่ายจากยานอวกาศเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) ที่เผยให้เห็นยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำแรกของจีนและแพลตฟอร์มลงจอดของยานบนพื้นผิวดาวเคราะห์แดง

 

ภาพถ่ายดังกล่าวบันทึกโดยกล้องความละเอียดสูงติดตั้งบนยานโคจรของเทียนเวิ่น-1 เมื่อ 18.00 น. ของวันที่ 2 มิ.ย. ตามเวลาปักกิ่ง โดยมีจุดสว่าง 2 จุด บริเวณมุมขวาบน จุดใหญ่เป็นแพลตฟอร์มลงจอด และจุดเล็กเป็นยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร "จู้หรง" (Zhurong)

 

ภารกิจเทียนเวิ่น-1 ของจีนประกอบด้วยยานโคจร ยานลงจอด และยานสำรวจพื้นผิว เริ่มต้นภารกิจเมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2020 โดยยานลงจอดบรรทุกยานสำรวจพื้นผิวลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร ณ ทิศใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ที่ราบขนาดมหึมาบนซีกเหนือของดาว เมื่อวันที่ 15 พ.ค.

 

ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงวิ่งลงจากแพลตฟอร์มลงจอดแตะพื้นผิวดาวอังคาร เมื่อวันที่ 22 พ.ค. อันเป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจดาวเคราะห์แดง และทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากสหรัฐฯ ที่ส่งยานอวกาศลงจอดและวิ่งสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร

 

พื้นที่ดำมืดรอบแพลตฟอร์มลงจอดอาจเกิดจากอิทธิพลของเครื่องยนต์ฉีดพ่นเชื้อเพลิงระหว่างการลงจอด ส่วนแถบริ้วสว่างรูปทรงสมมาตรไล่จากทิศเหนือสู่ทิศใต้ของแพลตฟอร์มลงจอดอาจเกิดจากฝุ่นละอองขณะแพลตฟอร์มลงจอดถ่ายเชื้อเพลิงที่เหลือหลังลงจอด

 

กลุ่มจุดสว่าง ณ ใจกลางภาพถ่าย เป็นส่วนหุ้มด้านหลังของแคปซูลลงจอดและร่มชะลอความเร็วที่สลัดตัวทิ้งระหว่างการลงจอด ส่วนจุดสว่างอีกจุดหนึ่ง ณ ด้านซ้ายล่างของภาพถ่าย เป็นเกราะกำบังความร้อนของแคปซูลลงจอด

 

ทั้งนี้ ยานสำรวจพื้นผิวจู้หรงทำงานบนพื้นผิวดาวอังคารเป็นเวลา 23 วันดาวอังคาร เมื่อนับถึงวันที่ 6 มิ.ย. (หนึ่งวันบนดาวอังคารยาวกว่าหนึ่งวันบนโลกราว 40 นาที) โดยจู้หรงดำเนินการตรวจสอบสภาพแวดล้อม เคลื่อนตัวบนพื้นผิว และทำการสำรวจทางวิทยาศาสตร์

 

อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดบนยานสำรวจพื้นผิวเปิดทำงานเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ด้านยานโคจรปฏิบัติงานอยู่ในวงโคจรค้างฟ้าด้วยวงโคจรระยะ 8.2 ชั่วโมง อำนวยการสื่อสารเพื่อการสำรวจทางวิทยาศาสตร์ของยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร

 

ยานสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร "จู้หรง" ตั้งชื่อตามเทพแห่งไฟตามตำนานจีนโบราณ พ้องกับ "หั่วซิง" หรือดาวแห่งไฟ ชื่อดาวอังคารในภาษาจีน ส่วน "เทียนเวิ่น" หมายถึงคำถามต่อสรวงสวรรค์ มาจากบทกวีประพันธ์โดยชวีหยวน กวีจีนโบราณ (ราว 340-278 ปีก่อนคริสตกาล)

 

จู้หรง มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 90 วันดาวอังคาร (ราว 3 เดือนบนโลก) จะบันทึกภูมิทัศน์ดาวอังคารด้วยภาพสามมิติความละเอียดสูง วิเคราะห์ส่วนประกอบของพื้นผิวดาว ตรวจจับโครงสร้างและสนามแม่เหล็กใต้พื้นผิว ค้นหาร่องรอยน้ำแข็ง และสังเกตสภาพทางอุตุนิยมวิทยาโดยรอบ

 

ส่วนยานโคจรมีอายุการใช้งานออกแบบนาน 1 ปีดาวอังคาร (ราว 687 วันบนโลก) จะอำนวยการสื่อสารของยานสำรวจพื้นผิว พร้อมกับดำเนินปฏิบัติการตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์ของตัวเองในเวลาเดียวกันด้วย

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง