รีเซต

อดีตกับปัจจุบันที่ไม่แตกต่าง ใคร ๆ ก็ใช้บริการแม่น้ำคงคา

อดีตกับปัจจุบันที่ไม่แตกต่าง ใคร ๆ ก็ใช้บริการแม่น้ำคงคา
TNN World
13 พฤษภาคม 2564 ( 16:48 )
324

 

ข่าววันนี้ อดีตกับปัจจุบันที่ไม่แตกต่าง ใคร ๆ ก็ใช้บริการแม่น้ำคงคา 

 

 

มหานทีศักดิ์สิทธิ์คู่อินเดีย

 


แม่น้ำคงคา (Ganges: แกนจีส หรือ Ganga) เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของอินเดีย ชาวอินเดียเชื่อว่าเป็นแม่น้ำสายศักดิ์สิทธิ์ของชาวฮินดู คู่กับแม่น้ำยมุนาที่ไหลยอกล้อขนานกันไป 

 


“มหานที” สายนี้มีต้นกำเนิดทางภาคเหนือของอินเดีย เมื่อหิมะบริเวณเทือกเขาหิมาลัยที่แสนบริสุทธิ์ละลายตัวกลายเป็นน้ำ ธารน้ำใสสะอาดไหลผ่านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียไปทางตะวันออก มีความยาวประมาณ 2,510 กิโลเมตร เชื่อว่า ไม่มีใครไม่รู้จักแม่น้ำคงคา เมื่อรู้จักอินเดียก็ต้องรู้จักแม่น้ำคงคา เพราะเป็นสายน้ำที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน

 


“คงคา” แม่น้ำนี้ เรียกชื่อตามนามของพระแม่คงคา พระชายาของพระศิวะ ทุกวัน เช้า สาย บ่าย เย็น ชาวอินเดียนับล้านคนจะมาที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาเพื่ออาบน้ำ และดื่มกินน้ำจากในแม่น้ำคงคา

 

 


และ...สายน้ำแห่งความตาย

 

 


ในเวลาเดียวกัน บริเวณตลิ่งของแม่น้ำสายดึกดำบรรพ์นี้ ยังมีการเผาศพกลางแจ้งอย่างอึกทึกครึกโครม นับไม่ถ้วน ผู้มาเยือนใคร ๆ ก็เห็นประจักษ์ชัดด้วยตา 

 


การเผากระทำกันอย่างเปิดเผย เมื่อศพคนตายไหม้เกรียมไปได้ระยะหนึ่ง สัปเหร่อจะพลิกตะแกรงเผาศพเพื่อเทร่างทิ้งลงไปในแม่น้ำ รวมทั้งขี้เถ้าจากเตาเผาทั้งหมดจะไหลลงไปในแม่น้ำคงคา ลอยไปตามสายน้ำที่ทอดยาวสายนี้ บ้างก็เป็นอาหารปลา อาหารเต่าเน่าเปื่อยย่อยสลายไป

 


นี่คือวัตรปฏิบัติที่ชาวอินเดีย ผู้นับถือศาสนาฮินดู กระทำสืบทอดกันมานานนับพันปีมาแล้ว จนถึงทุกวันนี้ นักท่องเที่ยวที่ไปเมืองพาราณสี จะไม่ยอมพลาดการไปชม “แนวการใช้ชีวิต” ที่ไม่ซ้ำใครในโลก ต้องเน้นย้ำกว่า นี่คือแนวทางการใช้ชีวิตของผู้คนตามความเชื่อและศรัทธา ใครที่ไม่เชื่อแนวทางนี้ ก็คงได้แต่สะท้อนใจ

 

 


พลังแห่งธรรมชาติ

 


แต่ที่น่าสนใจ ตามที่ติดตามและอ่านข่าว พบว่า เคยมีการตรวจสอบคุณภาพน้ำในแม่น้ำคงคาที่แสนจะชุลมุนวุ่นวายด้วยสารพัดสรรพสิ่ง เกิด แก่ เจ็บ ตาย เพราะเท่าที่ได้เห็นภาพในข่าว ในเอกสาร หรือจากคำบอกเล่า เพราะไม่เคยได้ไปเห็นเอง ก็ต้องเชื่อว่าแม่น้ำนี้คงเป็นแม่น้ำที่มีความสกปรกและมีมลพิษมากที่สุดในโลก

 


แต่ก็ยังมีสิ่งไม่น่าเชื่อ น้ำในแม่น้ำคงคา มองดูแล้วสีขุ่น เต็มไปด้วยเศษขยะ พร้อมซากศพและสิ่งปฏิกูลสารพัดชนิด แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าน้ำในแม่น้ำคงคา มีลักษณะพิเศษกว่าแม่น้ำอื่นใด คือ มีปริมาณของออกซิเจนละลายในน้ำสูง และยังมีจุลินทรีย์ที่สามารถกินไวรัสรวมถึงเชื้อแบคทีเรียได้ดี เขาบอกว่า จุลินทรีย์ตัวนี้จะทำให้น้ำในแม่น้ำคงคา มีความสามารถที่จะปรับตัวไปสู่สภาพปกติมากกว่าแม่น้ำทั่วไปถึง 25 เท่า 

 


เพราะฉะนั้นก็หมายความว่า ไม่ว่าคุณจะทิ้งขว้าง จะสาดเสีย เทเสียสิ่งใดลงไปในแม่น้ำนี้ ก็ฟื้นคืนสภาพได้หมด และผู้คนนับล้านก็ยังต้องมาอาบชำระกายทุกวัน คิดดูว่าความสกปรกมันจะมากขนาดไหน แต่สายน้ำแห่งชีวิต ยังฟื้นสภาพได้เป็นปกติอย่างไม่น่าเชื่อ

 

 

สู่แหล่งทิ้งศพโควิด-19

 

 


กับเหตุการณ์ปัจจุบัน ที่ต้องบอกว่าไม่ได้แตกต่างไปจากอดีตเมื่อหลายพันปีที่แล้ว เมื่อเหยื่อผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 เผากันไม่หวาดไม่ไหว เห็นภาพสัปเหร่อและญาติของเหยื่อผู้เสียชีวิตจากมัจจุราชร้าย นาม “โควิด-19” ก่อกองฟืนและสุมไฟเผาร่างไร้วิญญาณ เปลวไฟและกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าจางหายไปกับสายลมและแสงแดด เกือบทุกหนทุกแห่งในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปแห่งนี้ 

 

 


รถพยาบาลฉุกเฉินคันแล้วคันเล่า ลำเลียงศพ ศพแล้วศพเล่า เข้าแถวรออยู่ด้านนอกเมรุ หรือฌาปนสถาน อินเดียในยามนี้ ยังคงพยายามดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักในการรับมือกับปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล และศพล้นทะลักห้องเก็บศพ นี่คือโศกนาฏกรรม ไม่ได้แตกต่างจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มนุษยชาติเลย เพียงแต่ไม่ใช่ฝีมือมนุษย์ด้วยกัน แต่เป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนตายเป็นเบือ

 

 

ใคร ๆ ก็ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำคงคา

 


เนื้อหาด้านบนคือความเป็นอินเดียเมื่อหลายพันปีที่แล้ว ทุกคนล้วนแต่ใช้สอยประโยชน์จากแม่น้ำคงคา ในปัจจุบันนี้ ก็เฉกเช่นเดียวกัน ใคร ๆ ก็ใช้ประโยชน์จากพระแม่คงคาได้ตามใจฉัน 

 


เมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นอินเดียแถลงหน้าตาตื่น พบศพอย่างน้อย 40 ศพลอยเกลื่อนขึ้นอืดเกยตื้นชายฝั่งแม่น้ำคงคา ใกล้พื้นที่พรมแดนระหว่างรัฐพิหารและอุตตรประเทศ ภาคเหนือของอินเดีย แม้จะยังไม่แจ้งชัดว่า ศพเหล่านี้ลอยเกลื่อนสายน้ำมาถึงบริเวณนี้ได้อย่างไร แต่ดูเหมือนทุกคนจะปักใจเชื่อแล้วว่า น่าจะเป็นเหยื่อผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ค่อนข้างแน่ สื่อบางสำนักรายงานว่า มีศพกว่า 100 ศพถูกพบ และสภาพของศพบ่งบอกว่า อาจจมอยู่ในแม่น้ำนานหลายวันแล้ว
แม่น้ำคงคาไหลผ่านรัฐอุตตราขัณฑ์, อุตตรประเทศ, พิหาร, รัฐฌารขัณฑ์ เข้าสู่รัฐเบงกอลตะวันตก ก่อนออกสู่อ่าวเบงกอล 
ชาวบ้านบางคนบอกว่า เป็นไปได้ว่า ศพเหล่านี้อาจลอยมาจากหลายเมืองที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาในรัฐอุตตรประเทศ ซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของประเทศ

 

 


ปัจจัยทิ้งศพสู่สายน้ำศักดิ์สิทธิ์

 


เจ้าหน้าที่บอกว่า ศพดูเหมือนจะขึ้นอืดและมีร่องรอยถูกเผาบางส่วน และว่า ศพอาจถูกกวาดทิ้งลงในแม่น้ำ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของพิธีเผาศพเหยื่อไวรัสโควิดตามแนวชายฝั่งแม่น้ำคงคาในรัฐอุตตรประเทศ ชาวบ้านและนักข่าวท้องถิ่นบางคน บอก BBC ภาษาฮินดีว่า เพราะการขาดแคลนไม้ฟืนเผาศพและค่าใช้จ่ายในการทำพิธีศพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ครอบครัวของเหยื่อบางคน ไม่มีทางเลือก นอกจากทิ้งศพของญาติที่เสียชีวิต ลงในแม่น้ำ

 


ชาวบ้านบางคน กล่าวว่า นอกจากจะชอกช้ำระกำทรวงจากวิกฤตขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ในโรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งก็ตั้งหน้าตั้งตาขูดรีดประชาชน ประชาชนทั่วไปไม่มีเงินจ่ายค่าประกอบพิธีศพทางศาสนา ทำให้ต้องนำศพมาเผาริมฝั่งแม่น้ำคงคาแทน พวกเขาขอจ่ายเงินเพียง 2,000 รูปี หรือประมาณ 800 บาทเพื่อรับศพออกจากรถพยาบาลฉุกเฉินเพื่อมาทำพิธีตามยถากรรม แม่น้ำคงคาจึงกลายเป็นทางเลือกสุดท้ายของพวกเขา เพราะฉะนั้นประชาชนจึงพากันทิ้งศพลงในแม่น้ำ เหมือนที่เคยทำกันมาตั้งแต่อดีตกาลนานมา

 


ทั้งนี้ คลื่นการระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด กำลังรุมเร้าหลายพื้นที่ของอินเดีย จำนวนผู้เสียชีวิตพุ่งสูงต่อเนื่องในช่วงหลายสัปดาห์มานี้ เมรุเผาศพส่วนใหญ่ทั่วประเทศก็ไม่สามารถจัดการเผาศพได้ทัน เพราะไม่มีที่ว่างเหลือ ขณะนี้ อินเดียกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดของโลกไปแล้ว 

 

 


ศพจะมหาศาลจนถมแม่น้ำคงคาหรือไม่

 


อินเดียเป็นประเทศที่มีการระบาดรุนแรงที่สุดในรอบสอง ผู้ติดเชื้อตามหลังสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 32.7 ล้านคน และแซงบราซิล ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดเป็นอันดับสามที่ 15.2 ล้านคน จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์นส ฮอปกินส์

 


นับถึงวันนี้ อินเดีย ประเทศผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลก ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว 172,633,761 โดส โดยผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วมีจำนวน 37,159,467 คน คิดเป็นประมาณ 2.85% จากจำนวนประชากรทั่วประเทศ 1.3 พันล้านคน  

 


อินเดียยังต้องเผชิญชะตากรรมยากลำบากต่อไปอีกนานหลายเดือน และอาจเห็นศพอีกนับร้อยลอยขึ้นอืดมาตามแม่น้ำคงคา

 


เรื่อง : สันติ สร้างนอก 
ภาพ : Prakash SINGH / AFP

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง