รีเซต

ดอนเมืองโทลล์เวย์ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล พร้อมเปิดแผนธุรกิจลุยต่อเนื่อง

ดอนเมืองโทลล์เวย์ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล พร้อมเปิดแผนธุรกิจลุยต่อเนื่อง
มติชน
11 สิงหาคม 2564 ( 15:12 )
49
ดอนเมืองโทลล์เวย์ประกาศจ่ายปันผลระหว่างกาล พร้อมเปิดแผนธุรกิจลุยต่อเนื่อง

นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT (ดอนเมืองโทลล์เวย์) ผู้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมโครงการทางยกระดับอุตราภิมุขหรือทางยกระดับดอนเมือง เปิดเผยว่า แผนดำเนินงานครึ่งปีหลัง DMT จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน เข้าไปขยายงานและสร้างโอกาสทางธุรกิจเพื่อร่วมโครงการภาครัฐ ตามนโยบายให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในการเป็นผู้รับสัมปทานดำเนินงานและบำรุงรักษาทางหลวงพิเศษและทางพิเศษ โดยคาดว่ารายละเอียดโครงการต่าง ๆ จะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ เช่นเดียวกับโครงการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นหรือ M-Flow ของกรมทางหลวง โดยได้ศึกษาแนวทางการร่วมดำเนินงานในโครงการ M-Flow เพื่อนำองค์ความรู้ด้านงานระบบ งานบริหารจัดการ การตรวจสอบการละเมิดและการติดตามทวงถามค่าผ่านทาง เพื่อเข้าไปร่วมรับงานดังกล่าว หลังจาก DMT มีแผนติดตั้ง M-Flow Demo Lane Test ที่บริเวณด่านดินแดงเพื่อทดสอบระบบ

 

 

 

นอกจากนี้ DMT มีแผนจะขยายโอกาสทางธุรกิจในส่วนโครงการอื่น ๆ ที่สนใจโครงการพัฒนาจุดพักรถริมทางหลวงหรือ Rest Area ที่กรมทางหลวงได้เชิญเอกชนผู้สนใจเข้าประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็น (Market Sounding) สำหรับโครงการบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 กรุงเทพ-บ้านฉาง ซึ่งกรมทางหลวงมีแผนที่จะประกาศเชิญชวนให้เอกชนร่วมลงทุนแบบ PPP จำนวน 2 แห่ง ที่ศรีราชาและบางละมุง ช่วงไตรมาสที่ 4/2564 แผนเปิดบริการในปี 2566 และอีก 2 โครงการ คือ โครงการจุดพักรถริมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 6 บางปะอิน-นครราชสีมา และ หมายเลข 81 บางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะมีการเปิดประมูลในปี 2565 เปิดให้บริการ 2567 โดยกรมทางหลวงมีเป้าหมายต้องการพัฒนาจุดพักรถที่มีความทันสมัย สิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนสำหรับผู้เดินทางที่มาใช้บริการมอเตอร์เวย์ให้เป็นจุดพักรถเพื่อคลายความเมื่อยล้าจากการเดินทาง ให้เกิดความสะดวก และปลอดภัย ซึ่ง DMT สามารถนำประสบการณ์การร่วมลงทุนในกิจการของรัฐเข้ายื่นเสนอเป็นผู้รับสัมปทานร่วมกับพันธมิตร โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย Smart, Modern, Innovative ผนวกกับประสบการณ์การให้บริการทางด่วนกว่า 30 ปี ที่มีการบริหารจัดการต้นทุนดำเนินงานและบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมและยังคงให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การให้บริการผู้ใช้ทางและการสร้างสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าซึ่ง DMT จะนำประสบการณ์ส่วนนี้ ที่มีความเข้าใจในพฤติกรรมของผู้ใช้ทาง ผ่านระบบ Customer Relationship Management หรือ CRM มาตอบโจทย์ลูกค้าในทุกมิติได้อีกด้วย

 

 

 

นายธานินทร์ กล่าวว่า นอกจากนั้นยังสนใจเข้าร่วมพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งรอง (Feeder) โครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง หลังจากเริ่มเปิดให้บริการแก่ประชาชนเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยโครงการดังกล่าว DMT ได้ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยศึกษาการใช้ระบบ Smart Feeder มาให้บริการ

 

 

“หลังจากที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้มีความแข็งแกร่งทางด้านเงินทุนพร้อมสร้างโอกาสการขยายธุรกิจใหม่ ๆ โดยจะนำความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานที่มีมานานกว่า 30 ปี เข้าไปร่วมพัฒนาโครงการที่ภาครัฐเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน โดยเราศึกษาและวางแผนประมูลในโครงการที่มีศักยภาพรวมถึงได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของผลการดำเนินงานอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย” นายธานินทร์ กล่าว

 

 

ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจและการเงิน DMT กล่าวว่า เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม  2564  DMT ได้ชำระหนี้ตามสัญญาทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวจำนวน 1,683.78 ล้านบาท จากกระแสเงินสดจากการนำหุ้นสามัญเพิ่มทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้ภาระหนี้ฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เหลือเงินกู้ระยะสั้น ประเภทตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 300 ล้านบาท ทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (เท่า) ปรับลดลงจาก 0.40 เป็น 0.11 อัตราส่วนสภาพคล่อง (เท่า) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 0.27 เป็น 0.84 เมื่อเปรียบเทียบ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563  และ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวมทั้งมีวงเงินหมุนเวียนเพื่อสำรองไว้ใช้ในกิจการ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 DMT มีวงเงินสินเชื่อซึ่งยังมิได้เบิกใช้เป็นจำนวนเงินรวม 620 ล้านบาท (31 ธันวาคม 2563 : 350 ล้านบาท) ซึ่งเป็นวงเงินที่ได้รับเพิ่มเติมและลงนามในสัญญา ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 จำนวน 120 ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการอีกกว่า 300-350 ล้านบาท จากผลสำเร็จดังกล่าวส่งผลให้ DMT มีระดับของหนี้สินหมุนเวียนลดลงอย่างมีนัยสำคัญอันส่งผลให้ DMT มีสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 2564 เพื่อสามารถรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ในระยะยาวอย่างแน่นอน พร้อมขยายกิจการในการเข้าร่วมประมูลงาน ที่ภาครัฐเปิดประมูลเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุน (Public Private Partnership) ในช่วงปลายปี 2564-2565 หลายโครงการ

 

 

ดร.ศักดิ์ดา กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/2564 (เมษายน-มิถุนายน) DMT ยังได้รับแรงกดดันจากสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ทำให้ภาครัฐเพิ่มระดับความเข้มงวดหลังจากมีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยประกาศมาตรการ Lockdown และเคอร์ฟิว เพื่อบริหารจัดการควบคุมผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่มีจำนวนมาก ส่งผลต่อปริมาณการจราจรในเส้นทางยกระดับส่วนสัมปทานเดิมไตรมาสนี้ลดลงเหลือ 27,897 คันต่อวัน หรือลดลง 36.29% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2564 ที่มี 43,758 คันต่อวัน และส่วนต่อขยายทางด้านทิศเหนือชะลอตัวลง 31.28% หรือลดลงเหลือ 20,245 คันต่อวัน เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้านี้ที่มี 29,473 คัน เป็นผลให้รายได้จากค่าผ่านทางในไตรมาส 2/2564 อยู่ที่ 251.44 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 63.15 ล้านบาท และจากการที่ DMT มีการดำเนินการตามแผนบริหารจัดการด้านต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพภายใต้แผน BCP หรือ Business Continuity Plan เพื่อบริหารความเสี่ยงตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคในระลอกที่ 2 เมื่อตอนต้นปี โดยบริหารควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องสามารถลดต้นทุนได้ถึง 169 ล้านบาท หรือคิดเป็น 28% เมื่อเทียบกับปี 2563 รวมถึงภาระหนี้สินตามสัญญาทางการเงินที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ DMT สามารถรับมือกับความเสี่ยงจากปัจจัยที่เกิดขึ้นได้เป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้กำไรสุทธิในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มิถุนายน 2564) มีกำไรสุทธิ 206.24 ล้านบาท ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในอัตรา 0.07 บาทต่อหุ้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 82,686,296 บาท กำหนดขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้ และจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 กันยายน 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง