ไวรัสโคโรนา : การไปซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสั่งอาหารมาบ้านเสี่ยงโรคโควิด-19 แค่ไหน

ไวรัสโคโรนา : การไปซูเปอร์มาร์เก็ต หรือสั่งอาหารมาบ้านเสี่ยงโรคโควิด-19 แค่ไหน - BBCไทย
โดย วิคตอเรีย กิลล์
ผู้สื่อข่าวบีบีซีสายวิทยาศาสตร์
โคเมื่อไม่นานมานี้เอง สินค้าที่ซูเปอร์มาร์เก็ตยังไม่ถูกเรียกว่าเป็น "สิ่งของจำเป็นต่อการดำรงชีพ" และเราจะไปบ่อยแค่ไหนก็ได้
อย่างที่สหราชอาณาจักรตอนนี้ รัฐบาลแนะนำให้คนใช้บริการมาส่งอาหารที่บ้านแทนถ้าเป็นไปได้
อะไรคือวิธีที่ปลอดภัยที่สุดในการไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือรับสินค้าและอาหารที่มาส่งที่บ้าน
เราเสี่ยงติดเชื้อที่ร้านค้าไหม
ไวรัสโคโรนาแพร่ระบาดทางละอองฝอยเวลาคนติดเชื้อไอหรือจาม เราอาจจะติดจากการหายใจเข้าไป หรือไปจับพื้นผิวที่มีเชื้อติดอยู่เข้า เพราะฉะนั้น แน่นอน การไปเดินซื้อของมีความเสี่ยง จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตรจากกันและกัน และร้านค้าหลายแห่งในสหราชอาณาจักรก็เริ่มบังคับใช้กฎนี้แล้ว
ศาสตราจารย์แซลลี บลูมฟีลด์ จากวิทยาลัยสุขภาพและเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยลอนดอน บอกว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็น "แหล่งอันดีเลิศ" สำหรับการแพร่เชื้อไวรัส ไม่ว่าจะเป็นคนที่จับสินค้าแล้วก็วาง บริเวณต่อคิวจ่ายเงิน การจับเครดิตการ์ดหรือบัตรจอดรถ หรือการกดเอทีเอ็ม และนี่ยังไม่นับว่าคนที่จับจ่ายใช้สอยต้องยืนใกล้กันแค่ไหน
เราสามารถป้องกันความเสี่ยงนี้ได้โดย
- ล้างมือด้วยสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังออกไปซื้อของ
- คิดซะว่าพื้นผิวทุกที่มีเชื้อติดอยู่ จะได้ไม่ไปแตะหน้าตัวเองหลังไปจับรถเข็น หรือสินค้า
- ใช้บัตรจ่ายเงินแทนเงินสด
- เรื่องจริงจากหมอผู้อยู่แนวหน้าของสมรภูมิโควิด-19
- ควีนอังกฤษทรงปลอดโควิด-19 หลังนายกฯ-รมว.สาธารณสุข-แพทย์ใหญ่ ประกาศกักตัวเองเพราะติดเชื้อ
- อย.ยืนยันชุด PPE มีเพียงพอให้บุคลากรทางการแพทย์ แต่อาจจัดให้ "ไม่ทันเวลา"
แล้วสินค้าล่ะมีความเสี่ยงไหม
ยังไม่มีหลักฐานว่าโรคโควิด-19 สามารถติดต่อผ่านอาหารได้ และการประกอบอาหารอย่างถี่ถ้วนจะสามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้
แต่ ศ.บลูมฟีลด์ บอกว่าไม่มีอะไรที่มี "ความเสี่ยงเป็นศูนย์" เธอบอกว่าสิ่งที่ต้องระวังคือวัสดุที่ใช้ห่ออาหาร สำหรับสินค้าที่ห่อมา เธอแนะนำให้เก็บมันไว้ก่อน 72 ชั่วโมงค่อยใช้ หรือไม่ก็เช็ดกล่องพลาสติกหรือแก้วที่ใส่อาหารมาด้วยน้ำยาฟอกขาว
"สำหรับของสดที่ไม่ได้ห่อมา ซึ่งใครจับมาแล้วบ้างก็ไม่รู้ ให้ล้างน้ำให้ทั่วและปล่อยให้แห้ง"
- คนไร้บ้านในอังกฤษอยู่กันอย่างไรในภาวะปิดเมืองสู้โควิด-19
- เรื่องจริงจากหมอผู้อยู่แนวหน้าของสมรภูมิโควิด-19
- “ผมเคยเป็นคนไร้บ้าน ตอนนี้ผมมีอาชีพขายบ้าน”
แล้วของที่มาส่งที่บ้านล่ะ
แน่นอน วิธีนี้ปลอดภัยกว่าออกไปซื้อของ แต่ก็มีความเสี่ยงเชื้อจากบริเวณกล่องใส่สินค้า หรือจากคนที่มาส่งของ ดร.ลิซา แอคเคอร์ลี ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยด้านอาหาร แนะนำว่าให้เขียนข้อความติดไว้ที่ประตู ให้คนมาส่งของกดกริ่ง และช่วยถอยออกไป เราจะได้ออกไปหยิบของได้อย่างปลอดภัย
ดร.เจมส์ กิล จากวิทยาลัยการแพทย์ มหาวิทยาลัยวอร์ริค แนะนำว่าให้เช็ดของด้วยน้ำยาฟอกขาว และเชื้อโรคจะตายภายในหนึ่งนาที
แล้วการซื้ออาหารกลับบ้านล่ะ
ร้านอาหารจำนวนมากเปลี่ยนรูปแบบมาให้บริการซื้ออาหารกลับบ้านแทน มีแนวโน้มว่าร้านที่มีสาขาเยอะและที่มีชื่อเสียงจะเตรียมอาหารอย่างสะอาดและเป็นมืออาชีพมากกว่า ศ.บลูมฟีลด์ บอกว่าผู้ที่ซื้ออาหารกลับบ้านสามารถลดความเสี่ยงด้วยการเทอาหารลงในจานสะอาด ทิ้งกล่องที่ใส่อาหารมาไป และล้างมือให้สะอาดก่อนกิน
"ใช้ช้อนตักอาหารออกมาจากกล่อง และกินด้วยมีดและส้อม ไม่ใช่มือ"
ในสถานการณ์แบบนี้ อาจจะดีมากกว่าหากเรากินอาหารร้อนที่ทำใหม่ แทนที่จะเป็นอาหารแบบเย็นและดิบ
สำนักงานมาตรฐานอาหารแห่งสหราชอาณาจักร (UK Food Standards Agency) ย้ำว่าความเสี่ยงติดเชื้อผ่านอาหารอยู่ในระดับต่ำ และก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องเลี่ยงอาหารที่ทำมาแล้ว หากผ่านการเตรียมอาหารอย่างดี
สำหรับกลุ่มคนเปราะบางอย่างคนชรา หรือที่มีโรคประจำตัว การระมัดระวังมากเป็นพิเศษจะช่วยทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น
"เช่นถ้าจะกินพิซซ่า เราอาจจะนำไปเข้าไมโครเวฟเพิ่มอีกสองสามนาทีก็ได้" ศ.บลูมฟีลด์ กล่าว
Tag
บทความน่าสนใจอื่นๆ
