รีเซต

'จรวดแบบใช้ซ้ำได้' ของจีน ทดสอบเทคโนฯ ลงจอดแนวตั้งสำเร็จ

'จรวดแบบใช้ซ้ำได้' ของจีน ทดสอบเทคโนฯ ลงจอดแนวตั้งสำเร็จ
Xinhua
21 มกราคม 2567 ( 13:58 )
44
'จรวดแบบใช้ซ้ำได้' ของจีน ทดสอบเทคโนฯ ลงจอดแนวตั้งสำเร็จ

ปักกิ่ง, 21 ม.ค. (ซินหัว) -- จูเช่ว์-3 (Zhuque-3) จรวดที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ของจีน ประสบความสำเร็จในการทดสอบเทคโนโลยีลงจอดแนวตั้งครั้งแรกที่ศูนย์ปล่อยดาวเทียมจิ่วเฉวียนทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน นับเป็นการวางรากฐานสำหรับการขึ้นบินครั้งแรกของจรวดเชื้อเพลิงเหลวที่มีถังเชื้อเพลิงทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมลำแรกของประเทศ

แลนด์สเปซ (LandSpace) บริษัทจรวดอวกาศเอกชนของจีน ระบุว่าการทดสอบการบินครั้งนี้มุ่งตรวจสอบการลงจอดในแนวตั้งของจรวดที่ระดับความสูงต่ำและความเร็วต่ำ การทำงานระหว่างระบบควบคุมและประสิทธิภาพการปรับแรงขับเคลื่อนของเครื่องยนต์ รวมถึงข้อแนะนำและอัลกอริธึมการควบคุมการลงจอดในแนวตั้ง

จรวดจูเช่ว์-3 มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5 เมตร และขับเคลื่อนด้วยออกซิเจน-มีเทนเหลว โดยจรวดท่อนแรกถูกออกแบบให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้อย่างน้อย 20 ครั้ง และสามารถปล่อยดาวเทียมพร้อมกันได้หลายดวงในครั้งเดียว เช่น ดาวเทียมแบบวางซ้อนกัน

ถังเชื้อเพลิงทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมที่มีความแข็งแรงสูง และมีศักยภาพในการลดต้นทุนการปล่อยจรวดลงร้อยละ 80-90 เมื่อเทียบกับจรวดแบบใช้ครั้งเดียว

เชื้อเพลิงออกซิเจน-มีเทนเหลว เป็นเชื้อเพลิงจรวดประเภทหนึ่งที่ทำจากส่วนผสมของออกซิเจนเหลวและมีเทน โดยมีเทนเป็นส่วนประกอบหลักของก๊าซธรรมชาติ

จรวดจูเช่ว์-2 รุ่นก่อนหน้านี้ ถูกส่งขึ้นบินและปฏิบัติภารกิจการบินสำเร็จ กลายเป็นจรวดออกซิเจน-มีเทนเหลวลำแรกของโลกที่ขึ้นสู่วงโคจร และนับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหม่ในการใช้เชื้อเพลิงเหลวต้นทุนต่ำสำหรับจรวดของจีน

จางชางอู่ ซีอีโอของแลนด์สเปซ กล่าวว่าโครงสร้างถังเชื้อเพลิงจรวดที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิมสามารถลดต้นทุนการผลิตและลดวงจรการผลิตจรวดได้อย่างมาก ขณะคุณสมบัติความทนทานต่ออุณหภูมิสูงเป็นจุดแข็งสำหรับการนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำหลายครั้ง

ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบเครื่องยนต์จรวดท่อนแรกของจูเช่ว์-3 ได้โดยไม่ต้องแยกออกจากจรวดหลังนำกลับมาใช้ใหม่ และสามารถขึ้นบินได้อีกครั้งหลังจากเติมเชื้อเพลิง เช่นเดียวกับการบินของเครื่องบิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง