รีเซต

ไทยยังมีเสน่ห์ บีโอไอกางตัวเลขเอฟดีไอโต280% ญี่ปุ่นยื่นขอลงทุนอันดับหนึ่ง

ไทยยังมีเสน่ห์ บีโอไอกางตัวเลขเอฟดีไอโต280% ญี่ปุ่นยื่นขอลงทุนอันดับหนึ่ง
มติชน
10 สิงหาคม 2564 ( 06:01 )
23
ไทยยังมีเสน่ห์ บีโอไอกางตัวเลขเอฟดีไอโต280% ญี่ปุ่นยื่นขอลงทุนอันดับหนึ่ง

 

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 6 เดือนแรกปี 2564 มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 801 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14% มูลค่าเงินลงทุน 386,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 158% ซึ่งเป็นผลมาจากโครงการขนาดใหญ่ในกิจการพลังงานไฟฟ้ามูลค่าเงินลงทุน 120,814 ล้านบาท

 


กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การแพทย์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ การเกษตรและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยีชีวภาพ หากพิจารณาด้านอัตราการเติบโตในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ พบว่า อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเติบโตขึ้นสูงถึง 850% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลงทุนขนาดใหญ่จากกลุ่มทุนสหรัฐฯ ในกิจการผลิต Polylactic Acid (PLA) ซึ่งเป็นพอลิเมอร์ชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เติบโตมากกว่า 3.3 เท่า จากความต้องการอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

 

 

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(เอดีไอ) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 403 โครงการ มูลค่า 278,658 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 3.8 เท่าจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหรือ 280% และสูงกว่าตลอดปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 171,160 ล้านบาท หรือคิดเป็น 62% โดยประเทศที่ยื่นขอรับการส่งเสริมที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่นมีมูลค่าเงินลงทุน 42,773 ล้านบาท รองลงมาคือ สหรัฐฯ มีมูลค่าเงินลงทุน 24,131 ล้านบาท และจีนมีมูลค่าเงินลงทุน 18,615 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่พื้นที่เป้าหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) มีการขอรับส่งเสริมจำนวน 232 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 126,640 ล้านบาท

 

 

น.ส.ดวงใจ กล่าวว่า การขอรับส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ในช่วงครึ่งปีแรกมีจำนวน 83 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 12,270 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รองลงมาคือ การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการลงทุนวิจัยและพัฒนาหรือออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ ตามลำดับ ขณะที่มาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี มีมูลค่า 1,520 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 16%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง