อังกฤษทำเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากเลโก้เพื่อสร้างผิวหนังเทียมของมนุษย์
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นนวัตกรรมสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ต่อทุกวงการทั่วโลก การผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ นั้นมีกระบวนการที่แตกต่างกันตามความต้องการใช้งาน แต่นักวิจัยในประเทศเวลส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรได้นำตัวต่อเลโก้ (LEGO) มาสร้างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อใช้สร้างผิวหนังเทียมของมนุษย์สำหรับยกระดับการรักษามะเร็งในอนาคต
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากต่อตัวเลโก้ เป็นผลงานการพัฒนาร่วมกันของ ดร.คริสต์โตเฟอร์ โทมัส (Dr. Christopher Thomas) ดร.โอลิเวอร์ คาสเทล (Dr. Oliver Castell) และดร.ไซออน โควแมน (Dr. Sion Coulman) จากคณะเภสัชศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เภสัชกรรม มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟ (Cardiff University) ในประเทศเวลส์ (Wales) ที่ต้องการยกระดับการวิจัยและการรักษาผิวหนังในมนุษย์ในราคาที่เข้าถึงได้
การประกอบเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากเลโก้
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากเลโก้จะใช้ชิ้นส่วนเกือบทั้งหมดจากตัวต่อที่มีวางจำหน่ายทั่วไป โดยนักวิจัยทั้ง 3 ได้ร่วมกันออกแบบและวางแปลนการสร้างเครื่องพิมพ์ขึ้นมา พร้อมทั้งเขียนวิธีการทำอย่างละเอียด ทั้งหมดนี้เพื่อหวังให้ผู้ที่อ่านงานวิจัยสามารถสร้างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้ด้วยตัวเอง
แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการนำเครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากตัวต่อเลโก้มาพิมพ์เนื้อเยื่อผิวหนังเทียมขึ้น ซึ่งประสบผลสำเร็จในการสร้างด้วยการนำไฮโดรเจล ซึ่งเป็นหมึกชีวภาพหรือไบโออิ๊งค์ (Bio-ink) ที่ใช้กับเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเซลล์แล้วพิมพ์ลงบนแท่นพิมพ์ 3 มิติ ในจานแก้ว
เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จากเลโก้ คือเครื่องมือวิจัยโรคผิวหนังราคาถูก
นักวิจัยทั้ง 3 คน ต้องการให้การวิจัยด้านโรคผิวหนัง โดยเฉพาะโรคมะเร็งผิวหนังนั้นเข้าถึงได้ง่ายและมีราคาที่ถูกลง เพราะที่ผ่านมา เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ทางชีวภาพ หรือ ทรีดี ไบโอปริ้นเตอร์ (3D Bioprinter) มีราคาสูงและกลายเป็นข้อจำกัดในการวิจัยด้านมะเร็งผิวหนังในอดีตที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ การมีเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ใช้แค่ตัวต่อในการสร้างมันขึ้นมาพร้อมกับคู่มือในการอย่างละเอียดนั้นอาจจะกลายเป็นจุดเปลี่ยน หรือแม้แต่จุดพลิกผันของการรักษามะเร็งผิวหนังในอนาคต โดยในปัจจุบัน งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการด้านวิศวกรรมชื่อดังอย่างแอดวานซ์ด แมตทีเรียลส์ (Advanced Materials) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่มาข้อมูล Designboom
ที่มารูปภาพ Cardiff University