รีเซต

สาธิต ชง อนุทิน เลื่อนปลดโควิดพ้นยูเซ็ป ขอเวลา ปชช.ปรับตัว เริ่มทั่วไทย 1 เม.ย.

สาธิต ชง อนุทิน เลื่อนปลดโควิดพ้นยูเซ็ป ขอเวลา ปชช.ปรับตัว เริ่มทั่วไทย 1 เม.ย.
มติชน
13 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:11 )
55

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมพร้อมที่จะปรับให้โรคโควิด-19 ออกจากสิทธิเจ็บป่วยวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่ หรือ ยูเซ็ป (UCEP) ตั้งเป้าในวันที่ 1 มีนาคม 2565 จะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ โดยผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องรักษาตามสิทธิสุขภาพของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดคำถามมากมายในสังคม เช่น หากติดเชื้อแล้วจะต้องใช้สิทธิบัตรทองในต่างจังหวัดอย่างไร หากติดเชื้อแล้วจะมีระบบดูแลจากที่บ้านหรือไม่ นั้น

 

เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ สธ. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ด้วยการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และการผ่อนคลายมาตรการทางสังคม ทำให้ประเทศไทยพบการติดเชื้อในช่วงขาขึ้น ยังเห็นตัวเลขรายวันหลักหมื่นราย ยังไม่นับรวมผู้ป่วยเข้าข่าย ที่ผลการตรวจ ATK เป็นบวก ซึ่งตนมีความคิดเห็นที่จะนำเรื่องดังกล่าวหารือร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในการเลื่อนการประกาศให้โรคโควิด-19 ออกจากยูเซ็ป เป็นวันที่ 1 เมษายน 2565 ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง และเตรียมพร้อมในการปรับตัว

 

“ในช่วงที่เคสกำลังขึ้น แล้วมีการปรับเรื่องระบบประเด็นสิทธิรักษา ดังนั้น ต้องมีระยะเวลาเพื่อสื่อสารความเข้าใจกับประชาชนด้วย” นายสาธิต กล่าวและว่า อีกทั้งยังต้องหารือกับกรมการแพทย์ด้วย เพราะมีประเด็นเพิ่มมาว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีโรคร่วม เช่น มะเร็ง โรคปอด เป็นต้น ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของเตียงผู้ป่วยมากขึ้น โดยต้องรวบรวมเตียงจากโรงพยาบาล (รพ.) เอกชน มารวมกันด้วย

 

นายสาธิต กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงและทำความเข้าใจว่า ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ สามารถรักษาที่บ้านได้ ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีระบบสายด่วน 1330 ที่ค่อนข้างจะอยู่ตัวแล้ว โดยหลายคนก็อยากรักษาที่บ้าน (Home Isolation) มากกว่าที่ต้องไปอยู่ใน รพ.หรือในฮอสปิเทล (Hospitel) ดังนั้น เราต้องคงระบบนี้ไว้

 

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ตามสถานการณ์ของโควิด-19 ขณะนี้เราพบว่าผู้ติดเชื้อ ร้อยละ 80-90 แทบจะไม่มีอาการ ทั้งนี้ ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายค่ารักษาโควิด-19 ของหน่วยบริการ ซึ่งได้ออกกติกาสำหรับกลุ่มสีเขียว ทั้งในฮอสปิเทล และรักษาที่บ้าน จ่ายให้อัตราวันละ 1,000 บาทต่อคน รวมไปเฉลี่ยตามการรักษา 10 วัน ค่ายาและอื่นๆ จะประมาณรายละ 15,000 บาท โดย สปสช.จะเชิญ รพ.เอกชน ทั้งในและนอกระบบ มารับฟังคำชี้แจงให้เข้าใจตรงกัน

 

“ยืนยันว่า แม้โรคโควิด-19 จะออกจากยูเซ็ปแล้ว แต่ทาง สปสช.ยังให้บริการสายด่วน 1330 ฟรี เหมือนเดิม ผู้ติดเชื้อรักษาที่บ้านตามระบบ HI ให้ความมั่นใจว่าเราต้องใช้ระบบ HI และศูนย์พักคอยในชุมชน (Community Isolation) เป็นฐาน โดยอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าการรักษาที่บ้านตามระบบ 1330 ยังฟรีและใช้ได้” นพ.จเด็จกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีที่มีคนเข้าใจว่า ถ้าทำงานอยู่กรุงเทพมหานคร แต่สิทธิรักษาอยู่ต่างจังหวัด หากติดเชื้อโควิด-19 ต้องไปต่างจังหวัดเท่านั้น นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับระบบปกตินั้น ยกตัวอย่างเช่น สิทธิรักษาของท่านอยู่ต่างจังหวัด แต่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ หากไม่สบายหรือเจ็บป่วยกรณีที่ไม่ฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการอื่นๆ เช่น เข้าเป็นผู้ป่วยนอกรับบริการปฐมภูมิทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือถ้าจำเป็นจะต้องเข้ารักษาตัวที่ รพ.แห่งใดแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกลับไปรับใบส่งตัว โดยทาง รพ.จะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลกับ สปสช.โดยตรง ซึ่งรูปแบบบริการนี้ ได้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ทั่วประเทศ

 

“หากกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับรักษาได้ทุกที่ทั่วประเทศเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะกรณีฉุกเฉิน หรือไม่ฉุกเฉิน หากเป็นระบบปกติ ท่านสามารถเข้ารับบริการได้ทั่วประเทศ ไม่ต้องกลับไปเอาใบส่งตัวเพื่อมายืนยันสิทธิในการรักษาต่างๆ ซึ่งระบบหลักประกันสุขภาพนี้เราได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา เรียกว่า ยกระดับสิทธิบัตรทองรักษาทุกที่” นพ.จเด็จ กล่าว

 

เมื่อถามว่า ในการถอดโควิด-19 ออกจากยูเซ็ป แต่หากมีอาการวิกฤต ก็ยังเข้า รพ.ที่ไหนก็ได้ ดังนั้นจะต้องหารือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กับ รพ.เอกชน ในการปรับนิยามหรือไม่ เพราะโควิด-19 ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเฉียบพลัน นพ.จเด็จ กล่าวว่า เรายึดเกณฑ์ผู้ป่วยวิกฤตที่ สพฉ. กำหนด เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูง หมดสติ ฯลฯ นั่นเป็นฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งตามหลักการแล้ว รพ.เอกชน จะประเมินร่วมกับ สพฉ.

 

เมื่อถามต่อไปว่า กรณีที่ผู้ป่วยไม่ทราบว่าตัวเองอาการระดับใด แล้วไป รพ.เอกชน นอกระบบ จะมีการจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยในช่วงแรกนี้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า กำลังจะดำเนินการ

 

“แต่เดิม สปสช.ทำเช่นนี้อยู่แล้ว ซึ่งต้องเรียนว่า รพ.เอกชน นอกระบบมีเพียง 100 กว่าแห่ง ดังนั้น ต้องหารือร่วมกัน เพราะประชาชนหลายคนอาจจะไม่เข้าใจเรื่องระบบของหน่วยบริการ เราก็อาจจะมีการส่งต่อผู้ป่วยต่อไป” นพ.จเด็จ กล่าว

 

เมื่อถามอีกว่า หากปลดโควิด-19 ออกจากยูเซ็ปแล้ว ยังต้องมีฮอสปิเทลหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า สำหรับกรณีดังกล่าว จะขึ้นอยู่กับระบบของหน่วยบริการว่าจะดูแลผู้ติดเชื้อในรูปแบบฮอสปิเทล หรือ HI เช่น รพ.ที่ท่านมีสิทธิรักษา มีบริการฮอสปิเทล ก็ยังสามารถเข้าได้ แต่ถ้ามีเพียงระบบ HI เมื่อท่านไปรักษาก็ต้องรักษาที่บ้าน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง