รีเซต

จับท่าที "มหาอำนาจ" ชี้ชะตาความขัดแย้งอิสราเอล

จับท่าที "มหาอำนาจ" ชี้ชะตาความขัดแย้งอิสราเอล
TNN ช่อง16
10 ตุลาคม 2566 ( 14:18 )
160

- เปิดตัวเลขการค้า "ไทย-อิสราเอล"


แต่แท้จริงแล้ว ไทยมีมูลค่าการค้ากับอิสราเอลไม่มากนัก และยอดนักท่องเที่ยวอิสราเอลในไทย ถือว่าจำนวนไม่สูงมาก ข้อมูลจำนวนนักท่องเที่ยวอิสราเอล มาประเทศไทย ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. 66 อยู่ที่ 159,263 คน เม็ดเงินรวมราว 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ถือว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลในแต่ละปีไม่มากนัก และการใช้จ่ายต่อหัวไม่ได้สูงมาก


มูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับอิสราเอล เดือน ม.ค-ส.ค.66 อยู่ที่ 856.84 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.22 ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก



การส่งออกของไทยไปอิสราเอล มีมูลค่า 545.69 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.29 ของการส่งออกของไทยไปโลก สินค้าส่งออกจากไทยไปอิสราเอลที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋อง อัญมณีและเครื่องประดับ 


การนำเข้าของไทยจากอิสราเอลมีมูลค่า 311.15 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.16 ของการนำเข้าจากทั่วโลก สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอิสราเอล ได้แก่ เครื่องเพชรพลอยและอัญมณี ปุ๋ย และเครื่องจักรไฟฟ้า โดยอิสราเอลเป็นคู่ค้าอันดับที่ 40 ของไทย


เบื้องต้นกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าผลกระทบจะยังไม่มาก เพราะการค้าระหว่างกันน้อย และคาดว่าในส่วนตลาดตะวันออกกลางภาพรวม ก็ไม่กระทบ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ยังตั้งเป้าส่งออกรวมทั้งปี บวกร้อยละ 1-2


นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การสู้รบจะไม่บานปลายไปยังกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และจะไม่ใช่สงครามที่ยืดเยื้อ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย โดย ผลกระทบทางตรง คือ ความปลอดภัย และรายได้ ของแรงงานไทยในอิสราเอล




ผลกระทบทางอ้อม ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 4 ซึ่งจะมีผลต่อราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศให้ปรับตัวสูงขึ้นได้ในระยะสั้น แต่คงไม่เกิน 1-2 บาทต่อลิตร


- ตัวแปรสำคัญสถานการณ์อิสราเอล


หลังจากนี้ต้องจับตาท่าทีของทุกฝ่ายอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบทบาทของนานาชาติ ทั้งอียิปต์ อิหร่าน และสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญของสถานการณ์หลังจากนี้ โดยล่าสุด ประธานาธิบดี โจ ไบเดนแห่งสหรัฐฯ นำผู้นำ 5 ผู้นำ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี ริชี ซูนัคแห่งสหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์แห่งเยอรมนี นายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนีแห่งอิตาลี และประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครงแห่งฝรั่งเศส ออกแถลงการณ์ร่วม 5 ประเทศ 


แถลงการณ์มีการประณามการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาส และย้ำการผนึกกำลังสนับสนุนอิสราเอลอย่างแน่วแน่ โดยระบุว่า ในช่วงหลายวันข้างหน้าเราจะยังคงผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวและประสานงานกัน ทั้งในฐานะประเทศพันธมิตรและมิตรประเทศของอิสราเอล เพื่อให้แน่ใจว่า อิสราเอลสามารถป้องกันตนเอง และในท้ายที่สุดสามารถกำหนดสภาพเงื่อนไขเพื่อภูมิภาคตะวันออกกลางที่สงบสุขและมีการบูรณาการร่วมกัน



ขณะเดียวกัน ประธานาธิบดี เรห์เจ็ป เทย์ยิป แอร์โดอัน ของตุรกี เรียกร้องเมื่อวานนี้ ว่า การโจมตีควรยุติทั้งฝ่ายอิสราเอลและฮามาส อิสราเอลควรหยุดทิ้งระเบิดในดินแดนที่ปาเลสไตน์อาศัยอยู่ ส่วนฮามาสควรหยุดรบกวนถิ่นฐานพลเรือนชาวอิสราเอล พร้อมเตือนอย่ากระทำใด ๆ ที่จะเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้นไปอีก


ผู้นำตุรกีระบุด้วยว่า ตุรกีพร้อมเป็นตัวกลางระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ในทุก ๆ ด้าน รวมถึงการแลกเปลี่ยนเชลย ถ้าหากว่าทั้ง 2 ฝ่ายร้องขอมา และตุรกีเตรียมจะเพิ่มความพยายามทางการทูตเพื่อยุติการสู้รบอิสราเอล-ฮามาส และเตรียมให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อกาซา.


ผู้นำตุรกีเปิดเผยด้วยว่า เขาได้หารือกับประธานาธิบดี ไอแซ เฮอร์ซ็อก ของอิสราเอล และประธานาธิบดี มาห์มุด อั๊บบาส ของทางการปาเลสไตน์แล้วเมื่อวานนี้ และได้แสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตของพลเรือนทั้ง 2 ฝ่าย



ในขณะที่ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ เรียกร้องให้สหประชาชาติไกล่เกลี่ย เพื่อป้องกันวิกฤตด้านมนุษยธรรมไม่ให้เกิดขึ้น โดยอับบาสได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวานที่ผ่านมา (9) 


โดยมีการแสดงความเป็นห่วงว่า ความเคลื่อนไหวของอิสราเอลในการตัดไฟฟ้า เชื้อเพลิง และเสบียงในฉนวนกาซา ได้ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมของชาวปาเลสไตน์ และเรียกร้องให้สหประชาชาติสนับสนุน และให้ความคุ้มครองแก่ชาวปาเลสไตน์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขปาเลสไตน์ รายงานว่า ตอนนี้มีชาวปาเลสไตน์ได้รับบาดเจ็บ  3,726 คน


เรียบเรียง : นนท์สมร ศานติวงศ์สกุล

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง