รีเซต

‘กฟผ.-กฟน.-รฟท.’ ได้ฤกษ์เปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร เตรียมพร้อมรองรับสถานีกลางบางซื่อ-รถไฟสายสีแดง

‘กฟผ.-กฟน.-รฟท.’ ได้ฤกษ์เปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร เตรียมพร้อมรองรับสถานีกลางบางซื่อ-รถไฟสายสีแดง
ข่าวสด
21 มิถุนายน 2564 ( 18:07 )
102
‘กฟผ.-กฟน.-รฟท.’ ได้ฤกษ์เปิดสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร เตรียมพร้อมรองรับสถานีกลางบางซื่อ-รถไฟสายสีแดง

ข่าววันนี้ นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. ร่วมกับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมโครงการก่อสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้ารองรับการใช้ไฟฟ้าของสถานีกลางบางซื่อ

 

และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมระบบรางของไทยแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน เป็นเส้นทางการคมนาคมขนส่งระบบรางที่สำคัญในอนาคตและยังถือเป็นโอกาสที่ดีในการ Restart กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

 

 

สถานีไฟฟ้าแรงสูงจตุจักร เริ่มดำเนินการก่อสร้างเมื่อเดือนมี.ค. 2560 พร้อมส่งจ่ายไฟฟ้าให้สถานีต้นทางบางซื่อ กฟน. เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2563 เป็นสถานีไฟฟ้าแรงสูงแบบใช้ฉนวนก๊าซ (Gas Insulated Substation: GIS) โดยเชื่อมโยงกับสถานีไฟฟ้าแรงสูงลาดพร้าว แจ้งวัฒนะ และพระนครเหนือ ด้วยสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับแรงดัน 230 กิโลโวลต์ รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 วงจร

 

พร้อมออกแบบและติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงแบบพิเศษที่มีเพียงต้นเดียวในประเทศไทยให้สามารถใช้งานในพื้นที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมความสูงของเสาไม่ให้ส่งกระทบต่อระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าเดิม โดยสามารถส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 2,400 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่าโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จำนวน 3 แห่ง รองรับการใช้ไฟฟ้าของสถานีกลางบางซื่อ และโครงการรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรองรับการคมนาคมของประเทศไทยในอนาคต

 

 

นอกจากนี้ ในระยะข้างหน้าไทยจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่รูปแบบการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน กฟผ. ได้พัฒนานวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และเรือไฟฟ้า เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง “ล้อ ราง เรือ” สร้างความสะดวกสบายในการเดินทางให้กับประชาชน สามารถช่วยลดปัญหาการปล่อยมลพิษทางอากาศและฝุ่นพีเอ็ม 2.5 จากภาคการขนส่ง

 

นายกีรพัฒน์ เจียมเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า กฟน. เริ่มดำเนินการก่อสร้างสถานีต้นทางบางซื่อ ตั้งแต่เดือนธ.ค. 2560 มีประสิทธิภาพรองรับปริมาณพลังงานไฟฟ้าสูงถึง 1,800 เมกะโวลต์แอมป์ เพื่อรองรับการจ่ายไฟฟ้าพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โดยผ่านการควบคุมบริหารจัดการระบบที่ทันสมัย

 

อีกทั้งยังออกแบบให้มีระบบสำรองไฟฟ้าในกรณีเหตุฉุกเฉินโดยบูรณาการร่วมกับ กฟผ. ในการเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากแหล่งจ่ายสถานีไฟฟ้าแรงสูงข้างเคียงของ กฟผ. ในพื้นที่โดยรอบ 3 สถานี (สถานีไฟฟ้าแรงสูงแจ้งวัฒนะ พระนครเหนือ และลาดพร้าว) รวมถึงการเชื่อมโยงจากสายส่งไฟฟ้าจากสถานีย่อยข้างเคียงของกฟน. เอง ทำให้เสถียรภาพของระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยความพร้อมในการจัดการควบคุมจ่ายไฟฟ้าให้กับทุกสถานีรถไฟฟ้าในปัจจุบัน

 

ขณะเดียวกัน ยังติดตั้งและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้ารองรับการใช้งานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างครบวงจรในพื้นที่ให้บริการได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ

 

ด้านนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการกลุ่มอำนวยการ รฟท. กล่าวว่า สถานีกลางบางซื่อ สถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ จะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในฐานะศูนย์กลางระบบรางที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่เชื่อมต่อทุกรูปแบบการเดินทางของระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ ได้อย่างสะดวกสบาย ทั้งทางราง ทางบก ทางอากาศ

 

โครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ถือเป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางที่เป็นโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางของประชาชนระหว่างพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คาดว่าสามารถเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในเดือนก.ค.นี้ และให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ประมาณปลายปี รองรับรองรับประชาชนที่มาใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อ จำนวน 624,000 คน ต่อวัน และโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน จำนวน 463,000 คนต่อวัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง