รีเซต

ผู้ตรวจ สธ.เขตที่ 6 ย้ำ สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของประชาชน ป้องกันตัวจากโควิด-19

ผู้ตรวจ สธ.เขตที่ 6 ย้ำ สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของประชาชน ป้องกันตัวจากโควิด-19
มติชน
7 มกราคม 2564 ( 17:58 )
84
ผู้ตรวจ สธ.เขตที่ 6 ย้ำ สำคัญที่สุดคือ ความร่วมมือของประชาชน ป้องกันตัวจากโควิด-19

วันที่ 7 มกราคม นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 6 กล่าวถึงสถานการณ์และแนวทางการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ในพื้นที่ว่า เขตสุขภาพที่ 6 มี 8 จังหวัด คือ ชลบุรี จันทบุรี ระยอง ตราด ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว และฉะเชิงเทรา ซึ่งจากสถานการณ์การระบาดพบว่า เกี่ยวข้องกับการเล่นการพนันในระยอง แล้วเชื่อมโยงไปจ.ชลบุรี จ.จันทบุรี และบางส่วนเชื่อมโยงมา จ.สมุทรปราการ ผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะที่ จ.ระยอง เดิมเพิ่มวันละ 50-60 ราย แต่ขณะนี้เริ่มลดลงเหลือ 40 รายต่อวัน แล้ว และยังเชื่อว่าแม้การระบาดครั้งนี้จะใหญ่และซับซ้อนกว่าครั้งที่แล้ว แต่การควบคุมกำกับต่างๆ จะสำเร็จ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย คือ สธ. ฝ่ายปกครอง และภาคประชาชน

 

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการด้านสาธารณสุขนั้น ทางเขตสุขภาพที่ 6 ใช้หลักการ 10, 100, 1,000 กล่าวคือ ในแต่ละจังหวัดมีห้องความดันลบที่สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้ 10 ห้อง ต่อมาคือ มีหอผู้ป่วยซึ่งอาจเป็น cohort ward หรือ isolation ward ในแต่ละจังหวัดมี 100 เตียง และควรเตรียมโรงพยาบาล (รพ.) สนาม 1,000 เตียง ซึ่งขณะนี้มี รพ.สนาม 3 แห่ง ที่ศูนย์ฝึกหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยาน 320 เตียง ที่ค่ายพระมหาเจษฎาราชเจ้า 174 เตียง และที่สนามฝึกกองทัพเรือ จ.จันทบุรี 240 เตียง โดยทั้ง 3 แห่งนี้จะใช้ร่วมกันในเขตสุขภาพที่ 6 รวมทั้งเตรียม Hospitel 100-200 เตียงสำหรับผู้ป่วยที่อาการดีแล้ว เพื่อผ่องถ่ายออกจากโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ามา

 

ขณะเดียวกัน นพ.ณรงค์ กล่าวว่า นอกจากเตรียมโรงพยาบาลให้เพียงพอแล้ว จำนวนผู้ป่วยจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับมาตรการในการสอบสวนโรค และกำหนดให้กลุ่มเสี่ยงเข้ามาอยู่ในกลไกการควบคุม โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ต้องควบคุมไม่ให้มีการแพร่กระจายในวงถัดไป ดังนั้น พอได้ผู้ป่วยเข้าสู่โรงพยาบาลแล้วก็จะเป็นการดึงเชื้อออกจากชุมชน จำกัดขอบเขตไม่ให้แพร่กระจาย จำนวนเตียงที่มีก็จะเพียงพอ

 

“ดังนั้น อยากฝากสื่อสารว่าคนที่สัมผัสกับกลุ่มเสี่ยง ขอให้มาตรวจ การตรวจจะไม่มีค่าใช้จ่าย โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้คนไทยทุกคนทุกสิทธิ ส่วนแรงงานต่าวด้าวก็มารับการตรวจคัดกรองได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเช่นกัน โดยกรมควบคุมโรคได้รับงบประมาณไว้แล้ว ดังนั้น ถ้าเข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงขอให้มาตรวจ ทั้งนี้เพื่อค้นหาเชื้อให้เร็วที่สุด ป้องกันไม่ให้แพร่กระจายไปสู่วงอื่นๆ” นพ.ณรงค์ กล่าว

 

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในส่วนของประชาชนทั่วไปนั้น ต้องลดการเคลื่อนไหว หยุดเข้าร่วมกิจกรรมอีเว้นท์ต่างๆเพราะถ้ายังเดินทาง ไปสัมผัสใกล้ชิดกันก็เพิ่มความเสี่ยงในการรับเชื้อ ดังนั้น เรื่องการใส่หน้ากาก การล้างมือ การหลีกเลี่ยงเดินทางไปในสถานที่ที่มีความแออัดก็เป็นมาตรการที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการทางปกครอง การปิดบ่อนพนัน การปิดสถานบันเทิง งดงานอีเว้นท์ต่างๆ เรื่องนี้ต้องช่วยกัน นอกจากนี้ ในด้านการสอบสวนโรค ทางกระทรวงสาธารณสุขทำอย่างเต็มที่ แต่ยังมีคนบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ไม่ถูกกฎหมายแล้ว ไม่ได้ให้ประวัติกับเจ้าหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา หรือพยายามไม่เข้าสู่กระบวนการ ดังนั้นอยากเชิญชวนให้เข้ามาตรวจรักษา สธ.เน้นการควบคุมโรคและควบคุมสถานการณ์ให้ดีที่สุด แต่ต้องได้รับความมือจากประชาชนและคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน

 

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน อีกส่วนที่อยากย้ำคือ สถานประกอบการ โรงงานต่างๆต้องเฝ้าระวังบุคลากรของตัวเองอย่างเต็มที่จริงๆ ถ้าพบคนที่มีประวัติเสี่ยง ต้องล็อกพื้นที่ ล็อกคนของตัวเองให้ดี ไม่อย่างนั้นถ้าพบผู้ติดเชื้อสถานประกอบการอาจต้องปิดกิจการ ซึ่งจะเกิดความเสียหายต่อธุรกิจ

 

“เชื้อก็เหมือนไฟลามทุ่ง ถ้าสะเก็ดไฟไม่เคลื่อนไหว สะเก็ดไฟก็ไปในพื้นที่ใกล้ๆและเราสามารถจัดการได้ แต่ถ้ามีคลื่อนไหวมาก โรคก็จะกระจายไปในวงกว้าง ดังนั้นอยากฝากประชาชนว่าทางภาครัฐไม่ว่าจะกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาล สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายปกครอง ทหาร มหาวิทยาลัย ได้เข้ามาช่วยกันทุกส่วน ได้เตรียมทรัพยากรที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ เพิ่มจำนวนและสมรรถนะอย่างเต็มกำลัง สมดุลกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่เข้ารับการตรวจรักษาด้วย มาตรการในส่วนของภาคประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของความสำเร็จ ถ้ามาตรการรัฐฝ่ายเดียวคงไม่เพียงพอ ความร่วมมือจากภาคประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด กลุ่มเสี่ยงลดการเคลื่อนไหว ลดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ประชาชนใส่หน้ากาก ล้างมือ ลดความเสี่ยงเดินทางไปในที่เสี่ยง เว้นระยะ จำนวนผู้ป่วยจึงจะสมดุลกับศักยภาพของระบบสุขภาพ” นพ.ณรงค์ กล่าว

 

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจว่าถ้าดำเนินมาตรการเหล่านี้ ทั้งการเตรียมโรงพยาบาลให้พร้อม การสอบสวนโรค กำหนดกลุ่มเสี่ยงและนำกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ระบบการตรวจ ประชาชนทั่วไปดูแลตัวเองอย่างเข้มข้น บวกกับมาตรการทางปกครองต่างๆ เราจะคุมพื้นที่ได้อยู่ ถ้าทำได้ดีวันนี้ อีก 7-10 กว่าวันข้างหน้าจะเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อในภาคตะวันออกที่ลดลง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง