รีเซต

วิกฤตโรฮิงญา : “ไม่มีใครรู้ว่ามีคนตายกี่คน อาจจะห้าสิบหรือมากกว่านั้น”

วิกฤตโรฮิงญา : “ไม่มีใครรู้ว่ามีคนตายกี่คน อาจจะห้าสิบหรือมากกว่านั้น”
บีบีซี ไทย
20 มิถุนายน 2563 ( 09:54 )
183
1
วิกฤตโรฮิงญา : “ไม่มีใครรู้ว่ามีคนตายกี่คน อาจจะห้าสิบหรือมากกว่านั้น”

BBC

"ไม่มีใครรู้ว่ามีคนตายกี่คน อาจจะห้าสิบหรือมากกว่านั้น" คาดีซา เบกุม เล่า

หญิงวัย 50 ปีผู้นี้เป็นหนึ่งในชาวโรฮิงญา 396 คนที่หน่วยยามฝั่งบังกลาเทศช่วยชีวิตไว้ หลังจากเรือลักลอบขนส่งพวกเขาไปลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลนานสองเดือน

เธอประเมินเลขผู้เสียชีวิตนี้จากงานศพที่ลูกชายเธอซึ่งเป็นอิหม่ามเป็นผู้นำพิธี และก็พยายามอพยพหนีจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศไปมาเลเซียพร้อมกับเธอ

ผู้ลักลอบรับปากจะพาพวกเขาไปส่งที่มาเลเซีย แต่ก็ไม่สำเร็จ

 

คาดีซา เป็นชาวโรฮิงญาที่อพยพหนีความรุนแรงในเมียนมาซึ่งสหประชาชาติระบุว่าเป็น "กรณีการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ตามนิยามในตำรา" เธอมาอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองค็อกซ์บาซาร์ในบังกลาเทศ ซึ่งมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ราวล้านคน

เหมือนกับใครหลาย ๆ คน คาดีซาวาดฝันว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าที่ประเทศมาเลเซีย

 

BBC
เรือลักลอบขนส่งลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเลนานสองเดือน

โยนศพทิ้ง

ในกรณีของคาดีซา ฝันหวานกลับกลายเป็นฝันร้าย เธอเล่าว่าลูกเรือพยายามจะปิดบังเวลามีผู้อพยพเสียชีวิตบนเรือ ลูกเรือใช้วิธีเปิดเครื่องยนต์เรือทั้งสองตัวเพื่อไม่ให้ได้ยินเสียงเวลาโยนศพทิ้งลงทะเล และมักจะทำช่วงกลางดึก

 

"ฉันมั่นใจว่ามีผู้หญิงอย่างน้อย 14-15 คนที่ตายแน่ ๆ"

หนึ่งในนั้นเป็นคนที่เคยนั่งอยู่ข้าง ๆ เธอ และนั่นทำให้เธอสะเทือนใจมาก

ผู้หญิงคนนั้นเดินทางมากับลูกสี่คน

"ลูกชายฉันเป็นคนไปบอกลูกสาวคนโต ซึ่งอายุแค่ 16 ปี ว่าแม่ของเขาเสียชีวิตแล้ว"

 

BBC
สามีและลูกชายคนหนึ่งของคาดีซาถูกสังหารที่รัฐยะไข่

แม่ลูกสี่

คาซีดาเองก็มีลูก 4 คน เธอกลายเป็นคนไร้บ้านและไร้สัญชาติเมื่อปี 2017 หลังจากสามีและลูกชายเธอคนหนึ่งถูกสังหารระหว่างปฏิบัติการทหารที่รัฐยะไข่ของเมียนมา

หมู่บ้านเธอถูกเผา และเธอก็ต้องอพยพมาอยู่ค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ

หลังจากลูกสาวอีกคนแต่งงานแยกไปมีครอบครัวของตัวเอง เธอก็หวังให้ลูกชายและลูกสาวที่ยังอยู่กับเธอมีชีวิตที่ดีกว่า

"ชีวิตเรายากลำบากมามาก ฉันไม่เห็นว่าเราจะมีอนาคตในค่ายผู้ลี้ภัย"

เธอเคยได้ยินเรื่องราวของชาวโรฮิงญาที่เดินทางไปมาเลเซียสำเร็จและก็อยากจะมีชีวิตที่ดีแบบนั้นบ้าง

 

ขายเพชรพลอย

คาดีซาขายเพชรพลอยที่มีจนได้เงิน 750 ดอลลาร์สหรัฐฯ และนำไปว่าจ้างผู้ลักลอบที่บอกว่าจะพาไปส่งที่มาเลเซีย

เธอเก็บเรื่องนี้เป็นความลับ บอกเพื่อนฝูงและเพื่อนบ้านว่าจะไปพบแพทย์

ผู้ลักลอบนัดเจอเธอที่ป้ายรถเมล์แห่งหนึ่ง ก่อนจะพาเธอและลูก ๆ ไปที่ฟาร์มแห่งหนึ่ง ซึ่งมีคนอีกหลายร้อยรวมตัวกันอยู่

 

BBC
ลูกชายเธอซึ่งเป็นอิหม่ามเป็นผู้นำประกอบพิธีศพให้กับผู้อพยพที่เสียชีวิตบนเรือ

แออัด

เรือลำแรกพาพวกเขาออกไปทางอ่าวเบงกอล ก่อนที่สองวันให้หลังจะย้ายไปขึ้นเรืออีกลำที่ใหญ่กว่าและมีผู้คนแออัดมากจนคาซีดาไม่สามารถจะยืดขาได้

"ฉันคิดว่ามีคนมากกว่า 500 คนได้"

เรือลำนั้นใหญ่กว่าเรืออวนลากที่เห็นกันทั่วไปในเอเชียใต้ แต่แน่นอนว่าใหญ่ไม่พอจะรองรับผู้โดยสารมากมายเช่นนั้น

ลูกเรือซึ่งเป็นชาวเมียนมาได้อยู่ชั้นบน ถัดลงมาเป็นชั้นของผู้หญิง ส่วนที่ท้องเรือเป็นที่อยู่สำหรับผู้ชาย

"ตอนแรกฉันรู้สึกกลัว" คาดีซา เล่า "ฉันไม่รู้เลยว่าชะตากรรมเราจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว ฉันก็เริ่มคิดฝันอีกครั้ง"

"ฉันคิดว่าเราจะได้มีชีวิตที่ดีกว่า เพราะฉะนั้นไม่สำคัญว่าเราจะเผชิญปัญหาอะไรอยู่"

 

คนตาย

บนเรือแทบไม่มีน้ำใช้และไร้สุขอนามัย คาซีดาได้อาบน้ำเพียงสองครั้งในช่วงสองเดือน โดยใช้น้ำทะเลและก็ต้องอาบต่อหน้าคนอิ่น

ส้วมเป็นแค่ไม้สองแผ่นวางทาบลงบนหลุมตรงกลาง

"ไม่กี่วันหลังจากออกเดินทางจะไปมาเลเซีย เด็กผู้ชายคนหนึ่งตกหลุมลงไปสู่ทะเล แล้วก็เสียชีวิต"

นั่นเป็นครั้งแรกที่คาซีดาต้องเห็นคนเสียชีวิต

 

มาเลเซีย

หลังจากเดินทางอยู่ 7 วัน และต้องเผชิญคลื่นรุนแรงในบางครั้ง พวกเขาก็เห็นชายฝั่งมาเลเซียในที่สุด

ตรงนี้เองที่พวกเขาหวังว่าจะมีเรือเล็กมารับเข้าฝั่ง แต่วิกฤตโควิด-19 ทำให้เจ้าหน้าที่มาเลเซียตรวจตราแนวชายฝั่งเข้มงวดเป็นพิเศษ และกัปตันเรือก็บอกพวกเขาว่าไม่สามารถเข้าไปจอดเทียบท่าที่มาเลเซียได้

 

BBC
"ไม่มีใครรู้ว่ามีคนตายกี่คน อาจจะห้าสิบหรือมากกว่านั้น"

ดื่มน้ำทะเล

พวกเขาต้องถอยออกมาจากชายฝั่งมาเลเซีย ขณะนั้นอาหารและน้ำก็เริ่มขาดแคลน

ขณะมุ่งหน้าไปมาเลเซีย พวกเขาได้กินข้าววันละสองครั้ง บางทีมาพร้อมกับถั่วเลนทิลและน้ำเหยือกหนึ่ง

"ตอนแรก ๆ กลายเป็นแค่หนึ่งมื้อต่อวัน จากนั้นก็หนึ่งมื้อต่อสองวัน มีแค่ข้าวเปล่าอย่างเดียว"

จากนั้นก็เริ่มขาดน้ำดื่มจนผู้อพยพบางคนต้องหันไปดื่มน้ำทะเลแทน

 

โอกาสที่สอง

อีกหลายวันต่อมา ขณะจอดเรือรออยู่นอกชายฝั่งประเทศไทย มีเรือเล็กอีกลำขนเสบียงมาให้

พวกเขาพยายามมุ่งหน้าไปสู่มาเลเซียอีกครั้ง แต่แล้วก็ถูกกองทัพเรือเมียนมาสกัดไว้ได้

คาดีซาบอกว่า เจ้าหน้าที่จับกุมตัวกัปตันและลูกเรือสามคนไป แต่สุดท้ายก็ปล่อยตัว

 

แรงกดดัน

ถึงตอนนั้น ทุกคนเริ่มตระหนักแล้วว่าพวกเขาต้องลอยเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล ไม่ได้ไปไหน

ผู้อพยพกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันไปขอร้องให้กลุ่มผู้ลักลอบช่วยพาพวกเขาไปส่งที่ฝั่ง จะเป็นที่เมียนมาหรือบังกลาเทศก็ได้

แต่พวกเขาก็ถูกปฏิเสธ ลูกเรือบอกว่าเสี่ยงเกินไป พวกเขาอาจถูกจับกุมและยึดเรือไป

เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ ก็เริ่มมีข่าวลือว่าลูกเรือทรมานและข่มขืนผู้อพยพ

"ฉันได้ยินว่ามีลูกเรือคนหนึ่งถูกฆ่า แล้วก็จับโยนลงทะเล"

บนเรือมีลูกเรือชาวเมียนมา 10 คน ต้องคอยควบคุมผู้อพยพราว 400 คน

"พวกเขาตระหนักว่าไม่อาจจะสู้และชนะพวกเราได้"

ในที่สุด กลุ่มลูกเรือเรียกร้องเงินจากกลุ่มผู้อพยพอีก 1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ และไม่กี่วันต่อมา เรือลำเล็กก็แล่นมา

แต่แล้วกัปตันและลูกเรือส่วนใหญ่ก็รีบกระโดดลงเรือเล็กลำนี้แล้วหนีไป

และผู้อพยพที่ถูกทิ้งไว้ต้องพยายามบังคับเรือเข้าหาฝั่งบังกลาเทศเอง โดยมีลูกเรือที่เหลืออยู่สองคนคอยช่วย

 

BBC
คาดีซา ต้องกลับมาที่ค้ายผู้ลี้ภัยอีกครั้งพร้อมกับเรื่องสะเทือนใจ

สูญสิ้นทุกอย่าง

"ฉันดีใจมากที่ในที่สุดก็ได้เห็นชายฝั่งอีกครั้งเป็นครั้งแรกในรอบสองเดือน" คาดีซา เล่า เธอกลับมาอยู่บังกลาเทศอีกครั้ง

หลังจากกักตัวอยู่สองสัปดาห์ เธอเดินทางกลับไปที่ค่ายผู้ลี้ภัยเดิมเพื่อพบว่าอีกครอบครัวหนึ่งเข้ามาอยู่แทนที่เธอแล้ว

เธอไม่สามารถกลับไปที่บ้านที่เมียนมาที่เธอเคยทำไร่ได้อีก และตอนนี้ต้องอยู่ในอาศัยอยู่ในพื้นที่แคบ ๆ ร่วมกับลูกชายและลูกสาว

"ฉันสูญเสียทุกอย่างเพื่อความฝัน" เธอกล่าวด้วยเสียงแผ่วเบาอย่างครุ่นคิด "อย่าทำพลาดแบบฉันอีก"

ภาพประกอบโดย ลู หยาง