มาเลย์เตือนภัยเชื้อ "แลมบ์ด้า" ชี้แพร่ระบาดเร็วกว่า "เดลต้า" พบแล้วใน 30 ประเทศ
สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมว่า บรรดานักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาของหลายประเทศ แสดงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ “แลมบ์ด้า” (Lambda variant) หรือเชื้อ ซี.37 (C.37) หลังจากพบว่าจุดที่เกิดการกลายพันธุ์ของ แลมบ์ด้า นั้นเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดความสามารถในการต้านทานวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั้งหมด
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซีย เผยแพร่ข้อความผ่านทวิตเตอร์ เตือนว่า แลมบ์ด้า เป็นอันตรายมากกว่าเชื้อเดลต้า ซึ่งสร้างปัญหาด้านสาธารณสุขให้กับหลายประเทศในเอเชียอยู่ในเวลานี้ โดยระบุว่า มีการตรวจพบเชื้อแลมบ์ด้าแล้วในกว่า 30 ประเทศในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
“สายพันธุ์แลมบ์ด้า นั้นตามรายงานระบุว่า เริ่มต้นตรวจพบครั้งแรกในประเทศเปรู ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิต(คิดเป็นสัดส่วนต่อจำนวนประชากร)สูงที่สุดในโลก” ทวิตเตอร์ของกระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียตั้งข้อสังเกต พร้อมกับโพสต์ลิงค์ เชื่อโยงไปยังรายงานในออสเตรเลียที่ระบุว่า พบการระบาดของเชื้อแลมบ์ด้าในสหราชอาณาจักรแล้ว 6 ราย พร้อมทั้งระบุด้วยว่า นักวิจัยกำลังเป็นกังวลว่า เชื้อกลายพันธุ์แลมบ์ด้า อาจแพร่ระบาดได้เร็วกว่าเชื้อเดลต้าด้วยซ้ำไป
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ระบุว่า จนถึงขณะนี้ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะยืนยันได้ว่า แลมบ์ด้า สามารถแพร่ได้เร็วกว่าเชื้อกลายพันธุ์อื่นๆ หรือไม่ โดยนายไฮโร เมนเดซ-ริโก นักระบาดวิทยาของดับเบิลยูเอชโอ ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่ แลมบ์ด้า จะสามารถแพร่ระบาดได้เร็วขึ้นกว่าเดิม หรือ เป็นไปได้ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการต่อต้าน “แอนติบอดีเพื่อการยับยั้ง” การขยายตัวของเชื้อได้มากกว่าเดิม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการที่เชื่อถือได้ที่ยืนยันว่า แลมบ์ด้า แพร่ได้เร็วกว่าเดิม เมื่อเทียบกับ เดลต้า หรือ แกมมา
ทางด้านนายเจฟฟ์ บาร์เรตต์ ผู้อำนวยการแผนกริเริ่มด้านพันธุกรรมของสถาบัน เวลคัมแซงเงอร์ ในอังกฤษ เปิดเผยกับไฟแนนเชียล ไทม์ส ความกังวลต่อภัยคุกคามจากเชื้อ แลมบ์ด้า นั้นมีเหตุผลอยู่ในตัว เพราะจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการทดลอง พบว่า แลมบ์ด้า มีชุดของการกลายพันธุ์ที่ผิดแปลกไปจากปกติธรรมดา เมื่อเทียบกับสายพันธุ์กลายพันธุ์อื่นๆ