รีเซต

ป่วยโควิด รักษาฟรี! ทุกกรณี รัฐบาลดูแล-รพ.ห้ามเก็บเพิ่ม

ป่วยโควิด รักษาฟรี! ทุกกรณี รัฐบาลดูแล-รพ.ห้ามเก็บเพิ่ม
มติชน
10 พฤษภาคม 2564 ( 12:07 )
45

นอกจากระดับความรุนแรงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 การเข้าไม่ถึงการรักษา และจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวันแล้ว สิ่งที่ทำให้คนวิตกกังวล และหวาดกลัวต่อการตกเป็นผู้ป่วยโควิด-19 ก็คือ “ค่ารักษาพยาบาล” จำนวนมหาศาลในระดับที่ไม่อาจจะคาดเดาได้

 

 

แต่ด้วยความแข็งแกร่งของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย ทำให้ “คนไทยทุกคน” มีหลักประกันว่า หากติดเชื้อโควิด-19 ขึ้นมาจริงๆ จะสามารถเข้าถึงการรักษาได้ โดยไม่ต้องเสียเงินสักบาท

 

 

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกัน “การันตี” อย่างหนักแน่นว่า ป่วยโควิดรักษาฟรีทุกกรณี รัฐบาลดูแล ประชาชนไม่ต้องเสียสตางค์


ครอบคลุมตั้งแต่ การตรวจคัดกรองให้กับกลุ่มเสี่ยง การตรวจยืนยันเชื้อ ไปจนถึงการให้การรักษาพยาบาล กระทั่งหายป่วยจากโรค กลับคืนสู่การมีสุขภาพที่ดี

 

“นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ สธ. ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. เปิดเผยว่า การดูแลประชาชนด้านการรักษาพยาบาลและการตรวจโควิด-19 นั้น ขอให้มั่นใจว่ารัฐบาลมีนโยบายดูแลคนไทยทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โรงพยาบาลห้ามเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยในทุกสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงสัยว่าติดเชื้อและกรณีที่ติดเชื้อแล้ว และไม่มีคำว่าเรียกเก็บส่วนที่เกินจากที่รัฐบาลจ่ายให้ เพราะรัฐบาลจ่ายให้ครอบคลุมในทุกกรณีแล้ว ในส่วนของการตรวจโควิด-19 โรงพยาบาลจะเบิกจ่ายจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง ทั้งหมด แต่ในส่วนการรักษาพยาบาลหลังตรวจพบเชื้อจะเบิกจ่ายตามสิทธิหลักประกันสุขภาพที่มี เช่น สิทธิประกันสังคม เบิกกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการเบิกกับกรมบัญชีกลาง และสิทธิบัตรทองเบิกกับ สปสช.

 

 

“ขณะนี้ทราบว่ามีข้อร้องเรียนทางโซเชียลมีเดีย ประชาชนบอกว่าถูกเรียกเก็บเงิน หรือต้องจ่ายเงินเอง ขอเรียนข้อเท็จจริงว่า หากพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ในกรณีของ รพ.เอกชนนั้น สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยโดยเด็ดขาด แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้ รพ.เอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบยูเซ็ป (UCEP) หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน โรงพยาบาลไม่ต้องกังวล ท่านได้รับค่ารักษาแน่นอน ที่ผ่านมามีค่ารักษาผู้ป่วยโควิดกรณีวิกฤตรายหนึ่ง เป็นเงิน 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นกรณีวิกฤตหรือสีแดง ตรงนี้ สปสช.ได้รายงานว่า ได้เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้ว บางรายวิกฤต 8 แสนบาท ก็จ่ายแล้วเช่นกัน หรือกรณีผู้ป่วยโควิด-19 สีเหลืองอาการไม่รุนแรง ที่โรงพยาบาลส่งเบิกเข้ามาตามหลักเกณฑ์ มี 1 ราย ที่มีค่ารักษาประมาณ 4 แสนบาท สปสช.ก็เบิกจ่ายให้กับโรงพยาบาลไปแล้วเช่นกัน” นายอนุทินกล่าว และว่า สำหรับประชาชนท่านใดที่ถูกเรียกเก็บเงินให้ โทรมาร้องทุกข์ได้ที่สายด่วน สปสช. 1330 เจ้าหน้าที่จะรับเรื่องดำเนินการต่อให้ตามกฎหมาย

 

“นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์” อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อธิบายว่า สธ.ได้ประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายและเป็นภาวะฉุกเฉิน ซึ่งทุกคนในไทยจะต้องได้รับการรักษาพยาบาล เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อ และลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมา สธ.ยังได้ตระหนักดีว่าการลดภาระของประชาชนในเรื่องของค่ารักษาพยาบาลเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของโควิด-19 จึงได้มีมาตรการให้สถานพยาบาลทุกแห่ง-ทุกสังกัด ทั้งภาครัฐและเอกชน จะต้องรับรักษาผู้ป่วยโดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

 

 

นพ.ธเรศ กล่าวว่า รูปธรรมที่เกิดขึ้นคือ การออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 เป็นจำนวน 3 ฉบับ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และได้มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเรื่อยๆ เพื่อให้ครอบคลุมกับค่าใช้จ่ายในทุกรายการ

 

 

“ประกาศฉบับแรกมีการจ่ายทั้งรายการยา ค่าห้อง เครื่องมือแพทย์ บุคลากรต่างๆ แต่ต่อมาเมื่อเราพบว่าไม่ครอบคลุมยาบางรายการ จึงประกาศเพิ่มไว้ในฉบับที่ 2 เช่นเดียวกับฉบับที่ 3 ที่เพิ่งประกาศไปเมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา ก็ได้เพิ่มความครอบคลุมในรายการค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่ารถรับส่งเพื่อลดการเดินทางสาธารณะ ค่าทำความสะอาดรถ รวมถึงการดูแลภาวะเจ็บป่วยจากการฉีดวัคซีน” นพ.ธเรศ ระบุ

 

 

ด้วยหลักการและประกาศข้างต้นนี้ ทำให้สถานพยาบาลทุกแห่งที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะต้องให้การรักษาทันทีตามแนวทางที่ สธ.กำหนด โดยไม่อาจปฏิเสธหรือบ่ายเบี่ยงได้ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษา โดยเฉพาะในส่วนของภาคเอกชนที่จะต้องมีการเรียกเก็บกับหน่วยงานของรัฐ เบื้องต้น สปสช.ทำหน้าที่เป็น “Clearing House” ให้ ด้วยการทำการเบิกจ่ายแก่หน่วยบริการไปก่อน แล้วค่อยกลับมาทำการเรียกเก็บจากกองทุนอื่นๆ (ประกันสังคม ข้าราชการ) อีกครั้ง

 

 

นพ.ธเรศ ย้ำว่า เมื่อค่าใช้ที่รัฐบาลจ่ายให้ทั้งหมดครอบคลุมค่ารักษา ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่ายา ค่ายานพาหนะ ฯลฯ แล้ว เมื่อประชาชนเข้ารับการรักษาจึงเป็นหน้าที่ของสถานพยาบาลที่จะต้องให้การดูแล แล้วค่อยมาเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากรัฐ หากไม่ดำเนินการเช่นนี้ หน่วยบริการก็จะมีโทษด้วยเช่นกัน โดยจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับสูงสุดไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

อธิบดี สบส.ให้ข้อมูลว่า นับตั้งแต่เริ่มดำเนินการมา พบสถานพยาบาลที่ฝ่าฝืนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วยทั้งสิ้น 44 กรณี รวมเป็นจำนวน 74 ราย ซึ่งก็ถูกดำเนินการตามกฎหมายและสั่งให้คืนเงินแก่ประชาชนหมดแล้ว เหลือเพียงกรณีของเดือนเมษายน 2564 เท่านั้นที่ยังอยู่ระหว่างรอการสอบสวน

 

 

“ประชาชนไม่ต้องเป็นกังวล ไม่ว่าจะไปรับบริการใดก็ตามที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม หรือมีค่าใช้จ่ายถูกเรียกเก็บจากสถานพยาบาล ประชาชนสามารถติดต่อได้ทั้งสายด่วน สบส. 1426 และสายด่วน สปสช. 1330” นพ.ธเรศ ให้ความมั่นใจ

 

ตอกย้ำความเชื่อมั่นจาก “นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี” เลขาธิการ สปสช. ที่ยืนยันว่า เป็นหน้าที่ของ สปสช.ที่ต้องจัดสรรงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับบริการโควิด-19 ให้แก่หน่วยบริการทั่วประเทศ ฉะนั้น ประชาชนมั่นใจได้ว่าคนไทยทุกคน-ทุกสิทธิการรักษา หากจำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19 ก็จะสามารถรับบริการฟรี และหากผลตรวจออกมาว่าติดเชื้อ ก็จะได้รับสิทธิการรักษาฟรีเช่นกัน

 

 

“อัตราการจ่ายและสิทธิประโยชน์นั้น จะครอบคลุมผู้ที่ต้องสงสัยว่ามีความเสี่ยงติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ หรือเดินทางไปยังสถานที่ที่ราชการประกาศว่ามีความเสี่ยงและต้องไปตรวจ ทั้งหมดนี้สามารถไปรับบริการที่หน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนได้ทุกที่” นพ.จเด็จอธิบาย

 

 

นพ.จเด็จ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมเป็นต้นมา สปสช.ยังได้เพิ่มกติกาที่ครอบคลุมถึงการใช้ดุลพินิจของแพทย์ หากพบว่าประชาชนรายใดสมควรได้รับการตรวจคัดกรอง ก็จะสามารถตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วย และหากเมื่อไรที่ผลตรวจเชื้อออกมาเป็นบวกแล้ว โรงพยาบาลก็จะจัดบริการดูแลให้ตามความรุนแรงของโรค โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นกัน

 

“โรงพยาบาลทุกแห่งจะมาเรียกเก็บกับ สปสช. ตามอัตราที่ได้มีการตกลงและเห็นร่วมกันกับหน่วยบริการทุกแห่งแล้ว ดังนั้น ยืนยันได้ว่าหากประชาชนอยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะสามารถรับบริการได้ฟรี เพราะงบประมาณทั้งหมดนั้น สปสช.และกองทุนต่างๆ ได้เตรียมเอาไว้หมดแล้ว ไม่มีเหตุให้ต้องเก็บเพิ่มจากประชาชนแต่อย่างใด” เลขาธิการ สปสช.กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง