รีเซต

ก่อนซัมมิตอาเซียน-สหรัฐ รมว.ต่างประเทศมาเลย์ชี้รัฐบาลทหารพม่าไม่ร่วมมืออาเซียน-โดดเดี่ยวตัวเอง

ก่อนซัมมิตอาเซียน-สหรัฐ รมว.ต่างประเทศมาเลย์ชี้รัฐบาลทหารพม่าไม่ร่วมมืออาเซียน-โดดเดี่ยวตัวเอง
ข่าวสด
8 พฤษภาคม 2565 ( 17:00 )
84

ข่าววันนี้ 8 พ.ค.เว็บไซต์เดอะ สตาร์ออนไลน์รายงานว่า นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รมว.การต่างประเทศมาเลเซียให้สัมภาษณ์ว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจะประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการในวันที่ 11 พ.ค.นี้เพื่อรับประกันว่าฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนที่มุ่งแก้ความไร้เสถียรภาพในเมียนมาจะมีการดำเนินการอย่างถูกต้อง

 

 

การหารือไม่เป็นทางการดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากความคืบหน้าการทำตามฉันทามติอาเซียน 5 ข้อของเมียนมาเป็นไปอย่างเฉื่อยชาในปี 2564 เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่ให้ความร่วมมือ ดังนั้นในวันที่ 11 พ.ค.นี้ก่อนการประชุมสมัยพิเศษระหว่างผู้นำอาเซียน-สหรัฐที่กรุงวอชิงตันดี.ซี.นั้น จะมีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนทั้งหมด

 

นายไซฟุดดิน กล่าวยกตัวอย่างว่า เมียนมายังไม่รับรองดร.โนเอลีน เฮเซอร์ ผู้แทนพิเศษด้านเมียนมาของเลขาธิการสหประชาชาติหรือยูเอ็น ซึ่งได้รับการแต่งตั้งในเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเรากังวลว่ากรณีนี้จะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการให้เป็นไปตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน

 

นายไซฟุดดินระบุว่า ดร.เฮย์เซอร์ไม่ได้ถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมุนษยธรรมของอาเซียนต่อเมียนมาเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ในฐานะเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้ ซึ่งมีเลขาธิการอาเซียนและผู้แทนจากชาติสมาชิกอาเซียนทั้งหมดเข้าร่วม สะท้อนว่าเมียนมาไม่ได้ร่วมมือในการดำเนินการตามฉันทามติอาเซียน ซึ่งเป็นฉันทามติที่มีมา 1 ปีแล้วแต่ไม่มีความก้าวหน้าในแง่บวก

 

"เราจะผลักดันมุมมองหลายมุมมองว่าเราสามารถรับประกันว่าการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อจะเป็นไปอย่างถูกต้อง"นายอับดุลเลาะห์กล่าว

 

1 ในฉันทามิติ 5 ข้อคือต้องยุติการปะทะทั้งหมดในเมียนมา นายไซฟุดดินสังเกตว่า เหตุปะทะด้วยอาวุธและการโจมีกลับเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจากสถิติแจ้งว่ามีการปะทะ 10,786 ครั้ง เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 1 ก.พ. 2564-15 เม.ย. 2565 ยอดผู้เสียชีวิต 2,146 ราย และถูกจับกุม 13,282 คนในจำนวนนี้ผู้ที่ถูกสังหารและจับกุมรวมถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด รวมถึงนักข่าว เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยธรรม สมาชิกภาคประชาสังคมและนักศึกษามหาวิทยาลัย

 

 

แรงงานเมียนมาประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารและต้องการหวนคืนสู่ประชาธิปไตยในเมียนมาระหว่างการประท้วงในวันแรงงานเมื่อ 1 พ.ค.2565 (รอยเตอร์)

 

"สิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมาเลวร้ายลงและมีจำนวนมากขึ้นหากเปรียบเทียบกับประเทศซีเรีย เยเมนและอัฟกานิสถาน และอิรักในช่วงเดียวกัน"นายไซฟุดดินกล่าว ซีเรียมีเหตุปะทะด้วยอาวุธและโจมตีพลเรือนจำนวน 9,919 ครั้ง เยเมนมี 8,246 ครั้งและอิรักมีจำนวน 4,606 ครั้ง

 

นายไซฟุดดินระบุว่า ตนเองจะเน้นย้ำว่า ข้อเรียกร้องของตนที่จะให้ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมาและสภาที่ปรึกษาเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งก่อตั้งจากอดีตส.ส.และนักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย

 

เนื่องจากตามฉันทามติ 5 ข้อ เราจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดและเสริมว่าการแสดงการสนับสนุนด้านศีลธรรมโดยการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ไม่ได้หมายความว่ามาเลเซียเลือกเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

"เราไม่มีความเกี่ยวข้องในการเลือกข้าง เราต้องพิจารณาว่ารัฐบาลเอกภาพแห่งชาติคือรัฐบาลที่ตั้งขึ้นผ่านการเลือกตั้งและสภาที่ปรึกษาด้านเอกภาพแห่งชาติมาจากองค์กรทุกประเภททั้งสมาชิกรัฐสภา องค์กรภาคประชาสังคม กลุ่มชาติพันธุ์และกลุ่มทำงานระดับภูมิภาค" นายไซฟุดดินกล่าว

 

เมื่อถูกถามว่าข้อเรียกร้องดังกล่าวจะยิ่งโดดเดี่ยวรัฐบาลทหารจากการดำเนินการตามฉันทามิติอาเซียนหรือไม่ นายไซฟุดดินระบุว่า รัฐบาลทหารไม่ให้ความร่วมมือตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อเดือนก.พ.ปีที่แล้ว "พวกเขาตีตนออกห่างเอง พวกเขาไม่ได้ดูเหมือนว่าให้ความร่วมมืออย่างมากในปีที่แล้ว"นายไซฟุดดินกล่าว

 

 

พลเอกมิน อ่องไหล่ หัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมา กล่าวถ้อยแถลงครั้งแรกหลังยึดอำนาจและตำหนินัการเมืองที่เป็นสาเหตุให้รัฐประหารเมื่อ 8 ก.พ. 2564 (ภาพจากเมียวดีทีวีผ่านทางเอพี)

 

เราไม่ได้พูดสิ่งนี้เมื่อปีที่แล้ว นี่คือสิ่งที่เราพูดหลังจากหนึ่งปีผ่านไป ซึ่งการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อแทบไม่มีความคืบหน้า ทั้งๆที่ผู้แทนพิเศษทั้ง 2 คนพยายามสุดความสามารถและทำงานหนักเพื่อให้ฉันทามติอาจจะบางข้อ หากไม่ทุกข้อนั้น ได้ผล

 

นายไซฟุดดินยังเรียกร้องให้หน่วยงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหน่วยงานใต้สังกัดสหประชาชาติหรือยูเอ็นที่มีประสบการณ์ในการส่งสิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศที่เผชิญสงครามหรือพื้นที่ความขัดแย้งอื่นๆมาช่วยเมียนมา ซึ่งศูนย์ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียน ซึ่งขณะนี้มีภารกิจส่งสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปเมียนมานั้น ไม่มีประสบการณ์ดังกล่าว แต่กลับต้องส่งความช่วยเหลือไปยังพื้นที่หายนะหลายแห่ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง