รีเซต

โควิด-19 ซา ยอดขายชุดชั้นในซาบีน่าพุ่ง

โควิด-19 ซา ยอดขายชุดชั้นในซาบีน่าพุ่ง
มติชน
11 มีนาคม 2564 ( 04:34 )
162

 

นายบุญชัย ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซาบีน่า จำกัด (มหาชน) หรือ SABINA ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในภายใต้แบรนด์ ‘ซาบีน่า’ เปิดเผยว่า จากการติดตามยอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ พบว่าสัญญาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ที่ยอดขายผ่านช่องทางค้าปลีก (Retail) ผ่านเคาน์เตอร์ในห้างสรรพสินค้าและซาบีน่า ช็อป ซึ่งเป็นช่องทางออฟไลน์ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ภาพรวมรายได้ยอดขายจาก 4 ช่องทางจำหน่าย ประกอบด้วย ช่องทางค้าปลีก ช่องทางออนไลน์ (Non Store Retailing : NSR) ช่องทางส่งออก (Export) ภายใต้แบรนด์ “ซาบีน่า” และช่องทางรับผลิต (OEM) ในไตรมาสแรกของปีนี้มีโอกาสที่จะเติบโตกว่าไตรมาสแรกของปี 2563 และจะทำให้เป้าหมายรายได้รวมในปีนี้ที่ 3,400 ล้านบาท ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์มีความเป็นไปได้มากขึ้น

 

“ตอนนี้เราเกาะติดยอดขายแบบวันต่อวัน เพราะต้องประเมินตัวเลขเพื่อนำมาปรับกลยุทธ์รับมือกับตลาด ซึ่งถ้าเทียบกับไตรมาสแรกของปีที่แล้ว ตอนนั้นการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นหนักในช่วงปลายๆ ไตรมาส หรือประมาณ 10 วันสุดท้ายของเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งมีการปิดห้างสรรพสินค้าทำให้ยอดขายออฟไลน์หายไปเลย แต่ในไตรมาสแรกของปีนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่กระทบกับยอดขายเดือนมกราคมทั้งเดือน ถึงแม้จะไม่ได้มีการปิดห้าง แต่กำลังซื้อก็หายไปจากความไม่มั่นใจของผู้บริโภค แต่พอเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ เราเห็นสัญญาณดีขึ้นเรื่อยๆ ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยปัจจัยสำคัญน่าจะมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคนับตั้งแต่มีข่าวเรื่องวัคซีนต้านโควิด ทำให้สถานการณ์ต่างๆ มีแนวโน้มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงการทำแคมเปญและโปรโมชั่นต่างๆ ของเรา ดังนั้น อาจจะเรียกได้ว่า SABINA ก็เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดเมือง สะท้อนผ่านการช็อปปิ้งออฟไลน์ที่ทำให้ยอดขายช่องทางรีเทลกลับมาได้เร็วกว่าที่เราคิดไว้” นายบุญชัยกล่าว

 

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SABINA ยังกล่าวถึงค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในขณะนี้ว่า อาจจะกระทบกับอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) บ้าง เนื่องจาก SABINA มีการจ้างผลิตสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับอานิสงส์จากบาทแข็งค่าทำให้ต้นทุนนำเข้าต่ำลง อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลง บริษัทฯ ก็ยังเดินหน้าจ้างผลิตต่อไป เนื่องจากต้นทุนต่ำกว่าการผลิตเอง โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่จำเป็นใช้ฝีมือแรงงานสูง

 

“เราจ้างผลิตเพราะยังไงต้นทุนก็ต่ำกว่าการผลิตเอง เราไม่ได้มีเป้าหมายหรือคำนึงถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก ดังนั้น การที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าเป็นเพียงผลพลอยได้จากการจ้างผลิต และที่ผ่านมา ค่าเงินบาทก็แข็งค่ามานานมาก ตอนนี้เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้าง แต่โดยภาพรวมแล้วก็ยังถือว่าอยู่ในระดับที่แข็งค่า หรือในกรณีที่บาทอ่อนมากจริงๆ อาจจะมีนัยยะว่าประเทศไทยมีศักยภาพการแข่งขันในการส่งออกมากขึ้น ซึ่งตอนนั้น SABINA ก็พร้อมที่จะเพิ่มสัดส่วนการส่งออก (Export) แบรนด์ “ซาบีน่า” ให้มากขึ้น รวมถึงการกลับมาเติบโตของการรับผลิต (OEM) ให้กับลูกค้าในยุโรปและสหราชอาณาจักรอีกครั้ง เพราะเราสามารถยืดหยุ่นช่องทางการขายที่มีความหลากหลายทั้งช่องทางรีเทล ออนไลน์ ส่งออก และ OEM ให้รับมือกับสถานการณ์โดยรอบที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดอยู่แล้ว” นายบุญชัยกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง