โฆษก ศบค. เปิด 5 โซนสีประเทศไทย ตามอัตราพบผู้ป่วย "โควิด-19"
โควิด-19 เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19
ว่า ประเทศไทยพบจำนวนผู้ป่วยยืนยันใหม่ 27 ราย ทำให้ขณะนี้มีนอดสะสมที่ 2,792 ราย ในจำนวนผู้ป่วยใหม่แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ จำนวน 16 ราย
1.มีประวัติสัมผัส/เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 16 ราย
1.1 สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ จำนวน 16 ราย
2.ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 2 ราย
2.1 ชาวต่างชาติเดินทางมาจากต่างประเทศ 0 ราย
2.2 คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 0 ราย
2.3 สัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 0 ราย
2.4 ไปสถานที่ชุมนุม เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 2 ราย
2.5 อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัดหรือทำงานใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ 0 ราย
2.6 บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข 0 ราย
3.อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 8 ราย
กลุ่มที่ 2 ผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าทำการแยกกักในสถานที่รัฐบาลจัดให้ (State Quarantine) ใน จ.กระบี่ เป็นผู้เดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ 1 ราย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยที่ไปในสถานที่ชุมนุม ทั้งเหตุที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจในการรวมกลุ่มกัน เช่น ผู้ที่รวมตัวกันไปรับของบริจาค ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ รวมถึงยังพบผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศที่เข้ารับการกักกันในสถานที่ที่รัฐบาลจัดไว้ให้ ซึ่งจะต้องดูแลคนกลุ่มนี้ให้กลับบ้านได้อย่างปลอดภัย ในฐานะคนไทยด้วยกัน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศไทย จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 2,792 ราย พบใน 68 จังหวัด กรมควบคุมโรคได้จัดอันดับจังหวัดที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 10 ลำดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1,440 ราย ภูเก็ต 192 ราย นนทบุรี 151 ราย สมุทรปราการ 108 ราย ยะลา 101 ราย ปัตตานี 90 ราย ชลบุรี 86 ราย สงขลา 56 ราย เชียงใหม่ 40 ราย ปทุมธานี 34 ราย และอยู่ในระหว่างสอบสวนโรค 67 ราย
นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อัตราการป่วยต่อประชากรแสนคน จำแนกตามจังหวัดที่รับรักษา ในจำนวน 2,733 ราย 68 จังหวัด สามารถจำแนกได้ดังนี้ ภูเก็ต อัตราส่วน 46.44 (คนต่อแสนประชากร) กรุงเทพฯ มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 2 ราย อัตราส่วน 25.39 ยะลา มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 8 ราย อัตราส่วน 18.39 ปัตตานี มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 12 ราย อัตราส่วน 12.47 นนทบุรี อัตราส่วน 12.02 สมุทรปราการ อัตราส่วน 8.09 สตูล มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 19 ราย อัตราส่วน 5.58 ชลบุรี มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 3 ราย อัตราส่วน 5.56 นราธิวาส มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 5 ราย อัตราส่วน 4.10 กระบี่ มีผู้ที่อยู่ในระหว่างการกักกัน 2 ราย อัตราส่วน 4.00
นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 14 วัน นับจากวันที่แถลงข่าว มีจำนวนเพิ่มขึ้น 2 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สกลนคร และสุรินทร์ รวมเป็น 35 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบุรี เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ จันทบุรี นครนายก บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สมุทรสงคราม สระบุรี สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุทัยธานี ระยอง ตาก ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา สกลนคร สุรินทร์ สระแก้ว และอุบลราชธานี
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีทั้งหมด 9 จังหวัดที่ยังไม่พบผู้ป่วยมาก่อน จากเดิมมี 15, 13, 10 จังหวัดตามลำดับ ได้แก่ 1.กำแพงเพชร 2.ชัยนาท 3.ตราด 4.น่าน 5.บึงกาฬ 6.พิจิตร 7.ระนอง 8.สิงห์บุรี และ 9.อ่างทอง
“แผนภูมิประเทศไทยมีการระบายสีที่แตกต่างกันออกไป พื้นที่สีเขียว คือ ไม่พบผู้ป่วยเลย พื้นที่สีเขียวอ่อนคือ จังหวัดที่ไม่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 28 วันที่ผ่านมา พื้นที่สีขาวเหลือง คือ จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยช่วง 14-28 วันที่ผ่านมา พื้นที่สีส้ม คือ จังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7-14 วันที่ผ่านมา และพื้นที่สีแดง คือจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยในช่วง 7 วันที่ผ่านมา โดยในขณะนี้ผู้ป่วยในกรุงเทพฯ มีอัตราลดลงในช่วง 3 วันที่ผ่านมา แต่ก็ยังมากกว่าจังหวัดอื่นๆ แต่ก็ยังมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในต่างจังหวัด โดยรวมแล้วก็ยังมีความน่ากังวลอยู่” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว