รีเซต

“ฝายชะลอน้ำ” จากพลังความร่วมมือลูกช้างจิตอาสา มช.

“ฝายชะลอน้ำ” จากพลังความร่วมมือลูกช้างจิตอาสา มช.
TNN ช่อง16
19 สิงหาคม 2563 ( 13:38 )
411

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย คือผืนป่าที่ใกล้เมืองเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากที่สุด เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร ลำห้วย ที่ให้น้ำหล่อเลี้ยงเมืองเชียงใหม่ตลอดปี  แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะประสบกับภัยธรรมชาติต่างๆ อันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สัตว์ป่าและชุมชน แต่ด้วยแนวคิดการสร้าง “ฝายชะลอน้ำ” แบบผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยฟื้นฟูผืนป่าได้อีกครั้ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยงานพัฒนาทักษะชีวิต กองพัฒนานักศึกษา ร่วมกับอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย นำนักศึกษาและบุคลากร ร่วมทำกิจกรรม “ลูกช้างจิตอาสา ซ่อมแซมฝายผสมผสานตามแนวพระราชดำริฯ ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย” เพื่อฟื้นฟูผืนป่าในเขตภาคเหนือ สร้างความชุ่มชื้นแก่พื้นที่ป่า แก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งช่วยชะลอ และกักเก็บน้ำในช่วงที่มีฝนตกลงมา 



การรวมกลุ่มลูกช้างจิตอาสาและบุคลากรทั้งหมดกว่า 200 คน แบ่งเป็น 6 รอบ ซึ่งรอบแรกได้ซ่อมแซมไปแล้วจำนวน 34 ฝาย จาก 99 ฝาย ใน 4 ลำห้วย โดยมีแผนดำเนินการซ่อมแซมฝายตลอดเดือนสิงหาคม 2563 ช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ต่อเนื่องจนกว่าจะซ่อมแซมครบทุกฝาย ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่มาจากหลากหลายคณะ เช่น คณะเกษตรศาสตร์ คณะอุตสาหกรรมเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นเครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่ หัวใจรักสิ่งแวดล้อม ด้วยความเชื่อที่ว่า การรักษาและดูแลน้ำเป็นหน้าที่ของคนทุกคน ไม่เฉพาะแค่ชุมชนต้นน้ำเท่านั้น


ความสุขที่รับผ่านตัวแทนลูกช้างจิตอาสา

ภริตา บุญประเสริฐวงศ์ คณะบริหารธุรกิจ ปี1 

“ส่วนตัวก็เป็นคนชอบธรรมชาติอยู่แล้วค่ะ เราต้องการที่จะทำอะไรก็ได้เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติไว้และเป็นคนชอบทำกิจกรรมจิตอาสาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว เวลามีกิจกรรมอะไรถ้าว่างก็จะไปหมดเลย ความประทับใจหลักๆ คือเราประทับใจในตัวเองและเพื่อนๆที่จะร่วมกันทำกิจกรรมไปด้วยกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่มีจิตอาสาไม่ใช่ทุกคนที่อยากทำอะไรเพื่อคนอื่น เราเลยชอบจุดนี้ของทุกคน สิ่งที่ได้จากการเป็นจิตอาสาแน่นอนว่าคือความสุขจากการเป็นผู้ให้ การที่ได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นโดยไม่มีใครมาบังคับมันเป็นความรู้สึกที่ดีมาก และที่สำคัญเราได้เพื่อนใหม่ๆได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆจากการทำกิจกรรมด้วยค่ะ”


นายธราดล คงถึง วิทยาลัยศิลปะสื่อ และเทคโนโลยี ปี3

“ผมได้รู้ว่าการทำฝายชะลอน้ำไม่ได้ทำกันง่ายๆครับต้องทำเป็นทีม ได้สำรวจป่าไม้ ผมมองว่าเป็นกิจกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆได้ในระดับหนึ่ง โครงการทำฝาย ถ้าไม่มีกิจกรรมนี้ก็จะไม่มีนักศึกษาที่ไปช่วยชาวบ้านในการซ่อมแซมฝายอาจทำให้พวกเขาทำงานหนักขึ้นและช้ากว่าเดิม พอมีนักศึกษาไปช่วยก็เป็นกำลังส่วนหนึ่งให้การสร้างมันเร็วขึ้น”

ลูกช้างจิตอาสา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาทักษะชีวิต ด้วยการปลูกจิตสำนึกให้นักศึกษารู้รักสามัคคี มีจิตสาธารณะ นอกจากนี้ยังเป็นการแสดงออกถึงความจงรักภักดีและน้อมนำแนวพระราชดำริฯ ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างยั่งยืน อีกทั้งเพื่อฟื้นฟูป่าต้นน้ำดอยสุเทพ โดยการทำให้ฝายกลับมาทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์อีกครั้ง




เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE


ข่าวที่เกี่ยวข้อง