สุดทึ่งภูมิปัญญาชาวบ้านกลาง ขุดดินปั้นครกขาย โกยเงินปีละหลายสิบล้านบาท
เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม นับเป็นอีกหมู่บ้านที่น่าสนใจ ถึงแม้หลายพื้นที่จะประสบปัญหาจากโรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การค้า แต่สำหรับชาวบ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน ถือว่าได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากมีอาชีพหลัก นอกจากการทำการเกษตร ยังมีการพัฒนาต่อยอดนำภูมิปัญญาชาวบ้านท้องถิ่น จากวิถีชีวิตขุดดินปั้นครกใช้ในครัวเรือน ต่อยอดพัฒนาเป็นอาชีพในการขุดดินปั้นครกขายมายาวนานกว่า 30 ปี
จนกระทั่งปัจจุบันกลายเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจ ที่สร้างรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดปีละไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จากการปั้นครกส่งขายทั่วประเทศ โดยชาวบ้านกลางจะใช้เวลาว่างเว้นจากการทำการเกษตรทำไร่ทำนาหันมาขุดดินในพื้นที่ท้ายหมู่บ้าน ซึ่งมีความได้เปรียบ เนื่องจากในพื้นที่บ้านกลางมีดินที่เป็นคุณสมบัติพิเศษ ที่สามารถนำมาปั้นครกได้ โดยไม่ต้องมีส่วนผสม เพียงใช้ดินธรรมชาติที่ขุดมาสามารถ นำมาผ่านขบวนการตามแบบฉบับภูมิปัญญาชาวบ้าน และปั้นครก เข้าเตาเผาก่อนส่งขาย สร้างรายได้มหาศาล ที่สำคัญปัจจุบันยังเป็นหมู่บ้านผลิตครกคุณภาพที่ดีที่สุดในไทยส่งออกขายไปทั่วประเทศ บางครอบครัวสามารถสร้างรายได้เดือนละนับแสนบาท
นายสุนทร ชื่นชม อายุ 57 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 1 บ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน ประธานเครือข่ายเครื่องปั้นดินเผา เปิดเผยว่า สำหรับบ้านกลาง ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ถือเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจสำคัญของ จ.นครพนม เนื่องจากมีรายได้จากการปั้นครกขายทั่วประเทศ โดยนำอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน สืบทอดจากบรรพบุรุษมานานกว่า 30 ปี เริ่มจากการปั้นในครัวจนประสบความสำเร็จ เป็นที่ต้องการของตลาด จึงปั้นส่งขาย จนมีชื่อเสียง
“เนื่องจากเป็นครกที่ดีมีคุณภาพ เพราะมีปัจจัยพื้นฐานคือ วัตถุดิบเรื่องดิน ที่ขุดมาจากท้ายหมู่บ้าน เป็นดินที่มีคุณภาพเหมาะกับการปั้นครกที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ ไม่ต้องมีส่วนผสม ส่วนในอดีตชาวบ้านจะใช้วิธีการปั้นแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จนมีการพัฒนาใช้เครื่องทุ่นแรง ทำให้สามารถปั้นได้จำนวนมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยแต่ละวันบางครอบครัวจะสามารถปั้นได้ไม่ต่ำกว่า วันละ 40-50 ใบ นอกจากนี้ ปัจจุบันมีการพัฒนาทำแบบพิมพ์ เข้ามาช่วย ทำให้ปั้นครกได้จำนวนมากขึ้น”
นายสุนทร กล่าวอีกว่า ส่วนขนาดครกจะมีประมาณ 5 ขนาด ขายราคาส่งตั้งแต่ใบละ 20-150 บาท ตามขนาด สำหรับขั้นตอนการปั้นไม่ยุ่งยากใช้ความชำนาญตามภูมิปัญญาชาวบ้าน นำดินที่ขุดมาจากท้ายหมู่บ้าน หรือซื้อจากชาวบ้านด้วยกัน คิวละประมาณ 350 บาท ปั้นได้ประมาณ 80-100 ใบ แล้วแต่ขนาด ก่อนที่จะปั้นจะนำดินมาทุบแช่น้ำบ่มให้เกิดความนุ่ม ประมาณ 1-2 คืน ก่อนนำมานวดด้วยมือให้ละเอียด หรือเข้าเครื่องบด ออกมาเป็นแท่ง ก่อนที่จะนำไปแบ่งเป็นส่วน ลักษณะเป็นแท่งยาว เพื่อสะดวกในการปั้นขึ้นรูป เริ่มจากฐานครก ไปจนถึงปากครก พอเก็บรายละเอียดขึ้นรูปสำเร็จจะต้องนำครกไปตากแห้งโดยธรรมชาติ ประมาณ 4-5 วัน ก่อนที่จะเข้าเตาเผาประมาณ 4-5 วัน
ก่อนที่จะนำออกมาพร้อมขาย ซึ่งต้องมีความชำนาญพอสมควร และเป็นอาชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ปัจจุบันยังได้มีการสืบทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ไม่ให้อาชีพปั้นครกสูญหาย ปัจจุบันทำให้ชาวบ้าน ทำอาชีพปั้นครกเกือบ 500 ครัวเรือน แต่ละปีมีรายได้เงินหมุนเวียนสะพัดไม่ต่ำกว่าปีละ 50 ล้านบาท เพราะมีตลาดต้องการไม่อั้น เนื่องจากเป็นครกที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากดินมีคุณภาพสูงเหมาะสำหรับปั้นครก โดยครกที่ดีจะต้องเป็นเนื้อหินหยาบ ไม่เรียบเกินไป ซึ่งดินในพื้นที่จะมีคุณสมบัติพิเศษคือ เป็นดินเหนียว พอเข้าเตาเผาออกมาจะเป็นลักษณะคล้ายครกหิน จึงมีคุณภาพ หากใครสนใจศึกษาดูงาน หรือสั่งซื้อ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 082-1985767