รีเซต

ขอนแก่นเดินหน้า “แทรมน้อย” สร้างรถไฟฟ้าต้นแบบครั้งแรกของประเทศ

ขอนแก่นเดินหน้า “แทรมน้อย” สร้างรถไฟฟ้าต้นแบบครั้งแรกของประเทศ
77ข่าวเด็ด
12 เมษายน 2563 ( 03:57 )
404

ขอนแก่น – มาไกลมาก !! มทร.ขอนแก่น รับงบ 100 ล้าน จัดสร้างรถไฟฟ้าต้นแบบโดยใช้ผู้ผลิตในอีสาน คาดเสร็จปลายปี 64 เตรียมต่อยอดอุตสาหกรรมระบบราง

เมื่อปลายเดือนมีนาคม 63 ที่ผ่านมา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่นได้รับอนุมัติงบประมาณปี 2563-2564 จำนวน 100 ล้านบาท จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ใน “โครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบาโดยใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศไทย : เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม”

โครงการนี้ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบรางของประเทศ เพราะเป็นการเสนอจัดสร้างรถไฟต้นแบบเป็นครั้งแรกของประเทศโดยสถาบันการศึกษา จึงเป็นโครงการที่หลายฝ่ายจับตามอง ที่สำคัญโครงการนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสร้างระบบขนส่งมวลชน LRT ใน จ.ขอนแก่น  และตอกย้ำจุดยืนของ มทร.ขอนแก่น ที่ประกาศตัวเองเป็น “มหาวิทยาลัยระบบราง” ของประเทศ

อ.ปริญ นาชัยสิทธิ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ขอนแก่น กล่าวว่า โครงการนี้ทาง มทร.ขอนแก่น ร่วมมือกับภาคเอกชน ก็คือ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) ที่จะเข้ามามีบทบาทในฐานะเป็นผู้ร่วมวิจัยและร่วมผลิต เป็นงานที่ใช้เวลาผลักดันโครงการมาเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2559 ที่ทาง มทร.ขอนแก่น ได้เริ่มผลักดันการศึกษาวิจัยเรื่องระบบรางของประเทศ ส่งบุคลากรไปอบรม ฝังตัวอยู่ที่มหาวิทยาลัยในประเทศจีน ญี่ปุ่น และที่เยอรมัน

ปี 2560 เปิดสอนเรื่องของวิศวกรรมเครื่องกลระบบราง  ปี 2561 เปิดสอนเรื่องของระบบไฟฟ้าและโยธาระบบราง  โดยจะมีการพัฒนาและทำงานวิจัยควบคู่กันไปด้วย  ปี 2562 เราเริ่มขับเคลื่อน ”โครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ railway innopolis” ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ปี 2563-2567 เพื่อผลักดันให้พื้นที่ภาคอีสานของเราเป็นพื้นที่ที่สามารถผลิตและสร้างนวัตกรรมทางด้านรถไฟได้  เพื่อส่งเสริมเรื่องของ GDP ท้องถิ่นและประเทศต่อไป จะเห็นว่า เราไม่ได้ขับเคลื่อนโครงการนี้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเท่านั้น แต่ขับเคลื่อนทั้งกลุ่มจังหวัด และต่อไปก็จะขยายตัวไปในระดับภาค สุดท้ายก็จะเป็นระดับประเทศ

“หลายคนอาจสงสัยว่า การผลิตรถไฟเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่โตขนาดที่ต้องขับเคลื่อนทั้งกลุ่มจังหวัด ทั้งภาคอีสาน หรือสามารถสร้างงานในพื้นที่ได้มากขนาดไหน จริงๆ แล้วการสร้างรถไฟไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการสร้างโบกี้ บอดี้คาร์ ระบบขับเคลื่อน ระบบปรับอากาศ แต่ในความเป็นจริงอุตสาหกรรมรถไฟมีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องอีกมาก ทั้งระบบการให้อาณัติสัญญาณ ระบบการควบคุมสถานีรถไฟ หรือ อุปกรณ์จำหน่ายตั๋ว จึงต้องสร้างเป็นเครือข่ายหรือคลัสเตอร์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมนี้ให้มาทำงานร่วมกัน”

ขณะนี้ “โครงการร้อยแก่นสารสินธุ railway innopolis” ได้รับการผลักดันให้อยู่ในแผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แล้วต่อไปจะขับเคลื่อนไปสู่แผนพัฒนาภาค ซึ่งการสร้างรถไฟฟ้า LRT ต้นแบบก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้  ดังนั้นการได้รับอนุมัติงบประมาณสร้างรถไฟต้นแบบครั้งนี้จึงถือเป็นหมุดหมายหนึ่งที่สำคัญยิ่งที่ช่วยเร่งให้เข้าใกล้ความสำเร็จของโครงการร้อยแก่นสารสินธุ์ฯ อันจะนำไปสู่การจัดตั้งอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางต่อไป

จากรถไฟฟ้าต้นแบบจะนำไปสู่การสร้างรถไฟฟ้ารางเบาหรือ LRT ขึ้นใช้ภายใน จ.ขอนแก่น และยังสามารถผลิตให้กับจังหวัดอื่นๆ ไปจนถึงการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมรถไฟเพื่อส่งออกไปต่าง ประเทศได้

“ต้องเล่าให้ฟังว่า เมื่อถึงขั้นตอนการผลิต เราจะใช้ผู้ผลิตที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานทั้งหมด เพราะมีผู้ประกอบการหลายรายที่มีศักยภาพในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่เรียกว่า OEM หรือ Original equipment manufacturer ที่ผ่านมา อาจารย์ที่ มทร.ขอนแก่น สามารถดีไซน์โบกี้ขนาด 1:1 ได้สำเร็จแล้ว โดยใช้ผู้ผลิต OEM ในขอนแก่นนี่เอง เราจึงมั่นใจว่า ภาคอีสานของเรามีศักยภาพที่จะไปถึงจุดนั้น ขอเพียงโอกาสและการสนับสนุนเท่านั้น”

สำหรับงบประมาณที่ได้มาจะนำไปสร้างอะไรได้บ้าง อ.ดร.ไพรวรรณ เกิดตรวจ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ และนักวิจัยทีมมอเตอร์ลากจูงและระบบขับเคลื่อน ให้สัมภาษณ์ว่า โครงการนี้บูรณาการอาจารย์จาก มทร. ทั้งสามสาขาวิชาก็คือ ไฟฟ้า โยธา และเครื่องกล เข้ามาร่วมกันทำงาน ขอบเขตของการวิจัยครั้งนี้คือการสร้างรถ LRT ต้นแบบ ขนาดสองตู้เชื่อมต่อกัน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า หน้าตาก็จะคล้ายกับรถไฟฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ใช้เวลาสร้าง 2 ปี เสร็จปลายปี 2564

หลังจากนั้นจะนำมาทดลองวิ่งภายใน มทร.ขอนแก่น ซึ่งจะมีการก่อสร้างรางภายในบริเวณมหาวิทยาลัย พร้อมกับมีสถานีซ่อมบำรุง ซึ่งตามกำหนดจะสร้างเสร็จภายในปี 63 นี้  โดยจะนำมาทดลองวิ่งร่วมกับรถแทรมที่เทศบาลเมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น มอบให้เมื่อเดือนมีนาคม 62

สำหรับเทคโนโลยีที่เรานำมาใช้กับรถไฟต้นแบบนี้ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในขณะนี้ เช่นเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนตัวรถ เราจะมีการสร้างมอเตอร์รุ่นใหม่ขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน และคาดว่า จะยังคงเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่อไปเป็นเวลาอีกไม่น้อยกว่า 50 ปี เป็นมอเตอร์ลากจูงสำหรับรถไฟฟ้ารางเบาชนิดซิงโครนัสแม่เหล็กถาวร (Permanent Magnet Synchronous Traction Motor : PMSM Traction Motor) ข้อดีของมอเตอร์รุ่นนี้ก็คือ นอกจากมีประสิทธิภาพสูงแล้ว ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าคืนให้ระบบได้ในขณะที่รถเบรก ซึ่งก็จะมีผลให้โดยรวมของระบบเกิดการประหยัดพลังงาน

ที่สำคัญก็คือมอเตอร์รุ่นใหม่เสียงค่อนข้างเบา ก็จะส่งผลต่อเนื่องให้รถแทรมต้นแบบไม่สร้างมลพิษด้านเสียง นอกจากนี้ เรายังออกแบบรางให้ลดการสั่นสะเทือน มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ศึกษาเรื่องการหล่อไม้หมอนโดยผสมยางพาราลงไป ช่วยลดแรงสั่นสะเทือน ซึ่งมีผลช่วยลดเสียงดังลงได้มาก ขณะนี้ได้วิจัยสำเร็จแล้ว  นอกจากนั้นก็มีวิธีการอื่นๆ ที่ทางญี่ปุ่นใช้อยู่ เช่น การปลูกหญ้าอยู่ใต้รางเพื่อช่วยดูดซับเสียง ซึ่งบอกได้เลยว่า รถ LRT ขอนแก่นจะมีเสียงไม่ดัง ไม่มีมลพิษทางอากาศ และ ประหยัดพลังงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้องในจังหวัดขอนแก่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง