บังกลาเทศยัน แม้มีรัฐประหาร เมียนมาต้อง รับโรฮิงยา กลับไปอาศัยอย่างปลอดภัย
บังกลาเทศยืนยันว่า แม้เมียนมามี รัฐประหารเกิดขึ้น ก็ยังคงต้องรักษาสัญญาว่าจะ รับโรฮิงยา ที่สมัครใจจะกลับไปอาศัยในเมียนมาอย่างปลอดภัย
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 สำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า บังกลาเทศยังคงยืนยันว่าเมียนมาต้องรักษาข้อผูกพันในการส่งตัวชาวโรฮิงยาที่สมัครใจจะกลับ ไปอย่างปลอดภัย แม้เมียนมาจะมีรัฐประหาร
บังกลาเทศเรียกร้องให้มีสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมา หลังการรัฐประหารในวันจันทร์ (1 ก.พ.64) และกล่าวว่า หวังว่าเมียนมาจะพยายามอย่างแท้จริงเพื่อเดินหน้ากระบวนการส่งผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงยาที่สมัครใจกลับผระเทศเมียนมาไปอย่างปลอดภัย
บังกลาเทศเป็นประเทศที่นับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ โดยบังกลาเทศได้ปกป้องชาวมุสลิมโรฮิงยา จำนวนประมาณ 1 ล้านคนที่หลบหนีจากความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งส่วนใหญ่ชาวมุสลิมโรฮิงยาเหล่านี้ถูกปฏิเสธไม่ให้สัญชาติในเมียนมา เนื่องจากชาวเมียนมาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
กระบวนการส่งตัวกลับเมียนมาที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาตินั้น ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แม้จะมีความพยายามหลายครั้งจากบังกลาเทศ ซึ่งขณะนี้ทางบังกลาเทศได้เริ่มส่งผู้ลี้ภัยบางส่วนไปยังเกาะที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวในอ่าวเบงกอล
“เราพยายามอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาความสัมพันธ์ที่เป็นประโยชน์ร่วมกันกับเมียนมาและพยายามทำงานร่วมกับเมียนมาในการปกป้องชาวโรฮิงยาที่เข้ามาหลบภัยในบังกลาเทศโดยสมัครใจ ปลอดภัย และยั่งยืน เราคาดหวังว่ากระบวนการเหล่านี้จะดำเนินต่อไปอย่างจริงจัง ” กระทรวงการต่างประเทศของบังกลาเทศ กล่าวกับรอยเตอร์ในแถลงการณ์
กองทัพทหารของเมียนมาได้ทำการยึดอำนาจในวันจันทร์ (1 ก.พ.64) จากการทำรัฐประหารต่อต้านรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยของนางอองซานซูจี ผู้ได้รับรางวัลโนเบลซึ่งขณะนี้ถูกควบคุมตัวพร้อมกับผู้นำคนอื่น ๆ จากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย
“เราหวังว่ากระบวนการประชาธิปไตยและการจัดเตรียมรัฐธรรมนูญ จะได้รับการสนับสนุนในเมียนมา ในฐานะเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร เราอยากเห็นสันติภาพและเสถียรภาพในเมียนมาอย่างทันท่วงที"
ชื่อเสียงในระดับนานาชาติของ ออนซานซูจี ถือว่าตกต่ำอย่างยิ่ง หลังจากที่เธอล้มเหลวในการหยุดการบังคับขับไล่ชาวโรฮิงยาด้วยความรุนแรงหลายแสนคนออกจากรัฐยะไข่ทางตะวันตกของเมียนมาในปี พ.ศ.2560
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า นางอองซานซูจี จะไม่สามารถปกป้องชาวโรฮิงยาได้ แต่ชาวโรฮิงยาที่หลบภัยในบังกลาเทศ ก็ได้เรียกร้องประณามการกระทำของกองทัพทหารเมียนมาที่เข้าควบคุมตัวนักการเมืองในประเทศบ้านเกิดของพวกเขา “เราขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกเร่งฟื้นฟูประชาธิปไตยไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ” ดิล โมฮัมเหม็ด ผู้นำชาวโรฮิงยา กล่าวกับรอยเตอร์ทางโทรศัพท์