รีเซต

อภ.เปิดตัวชุดPPE สกัดโควิด-19 ระดับ 3 ครั้งแรกของไทย

อภ.เปิดตัวชุดPPE สกัดโควิด-19 ระดับ 3 ครั้งแรกของไทย
มติชน
18 สิงหาคม 2563 ( 14:18 )
296
อภ.เปิดตัวชุดPPE สกัดโควิด-19 ระดับ 3 ครั้งแรกของไทย ใช้ซ้ำกว่า 50 ครั้ง ยุโรปจ่อสั่งซื้อ

 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่องค์การเภสัชกรรม นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นประธานเปิดตัว “PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” ความสำเร็จในการพัฒนาผ้าที่ผลิตจากเส้นด้าย PET รีไซเคิลสำหรับตัดชุด PPE (Personal Protective Equipment) หรือชุดป้องกันร่างกายของผู้ปฏิบัติงาน ประเภท Reusable Isolated Gown Level 3 เป็นรายแรกในประเทศไทย โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน อาทิ กรมวิทยาศาสตร์บริการ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์กรมหาชน) บริษัท สถานี รีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด(มหาชน) บริษัทไทยแทฟฟิต้า จำกัด สหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี รพ.ราชวิถี รพ.พระมงกุฎเกล้า สถาบันบำราศนราดูร และ รพ.นครปฐม ฯลฯ

 

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 อภ.มีหน้าที่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันขณะปฏิบัติงานให้กับบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้แสวงหาความร่วมมือจากรัฐและเอกชน เพื่อผลิตอุปกรณ์ชุด PPE เพื่อลดความขาดแคลนและเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เกิดเป็นชุด PPE รุ่น “เราสู้” ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเป็นแบบเสื้อคลุมแขนยาวชนิดกันน้ำและใช้ซ้ำได้ มากกว่า 20 ครั้ง ซึ่งเป็นชุดป้องกันเชื้อได้ในระดับ 2 (Reusable Isolated Gown Level 2) โดยการพัฒนาครั้งนี้ภายใต้ชื่อ “PPE Innovation Platform นวัตกรรมชุด PPE ฝีมือคนไทย มาตรฐานสากล” เป็นชุดที่สามารถป้องกันเชื้อเป็นระดับ 3 ซึ่งใช้ซ้ำได้ถึง 50 ครั้ง

 

“การผลิตเริ่มจากขวดน้ำใสชนิด PET นำมาผลิตเป็นเส้นใย เพื่อนำไปผลิตเป็นผ้า ส่งต่อให้ผู้ประกอบการนำไปตัดเย็บเป็นชุด PPE โดยวันนี้บริษัท อินโดรามา ได้นำชุด PPE มามอบให้จำนวน 500 ตัว ทั้งนี้ อภ.เป็นคนกลางในการรับมอบกระจายชุดไปยังบุคลากรทางการแพทย์ จึงได้เชิญตัวแทนจากโรงพยาบาลต่างๆ มารับมอบ ชุด PPE จากขวด PET เป็นการรีไซเคิล 100% ครั้งแรกได้สำเร็จ ทำให้ประชาชนร่วมกันคัดแยกขยะ เพื่อนำมาผลิตชุด PPE ใช้ในประเทศ” นพ.โสภณ กล่าว

 

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการ อภ.กล่าวว่า ช่วงการระบาดโควิด-19 ประเทศไทยมีความต้องการชุด PPE สูงถึงวันละ 35,000 ชุด แต่เราได้พัฒนาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ทำได้สำเร็จเป็นรูปธรรม เป็นชุด PPE รุ่นเราสู้ ที่ซักได้ถึง 20 ครั้ง ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงแต่ไม่วางใจในการระบาดรอบ 2 และชุด PPE ยังมีความจำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์ปกติและหากมีวิกฤตหรือมีความจำเป็น กลไก PPE Innovation Platform จำนำเข้าสู่กระบวนการผลิตได้ทันท่วงที ในการผลิตชุดป้องกัน PPE เป็นระดับ 3 ที่ซักได้ถึง 50 ครั้ง เป็นความมั่นคงของประเทศและมีความหวังในการต่อยอด เพื่อการส่งออกได้

 

น.ส.นิสากร จึงเจริญธรรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การกำหนดมาตรฐานของชุด PPE และต้องผ่านมาตรฐานสากล แม้ว่าการผลิตชุด PPE ที่ผ่านมาเป็นความเร่งด่วน แต่ขอย้ำว่ากรมวิทยาศาสตร์บริการได้ทบทวนมาตรฐานการผลิตเสื้อกาวน์ตามมาตรฐานสากล จึงมั่นใจได้ว่าชุดที่ผลิตในประเทศไทยจะได้มาตรฐาน

 

“เดิมมีการใช้เสื้อกาวน์เพียง 1 ครั้ง ใช้แล้วทิ้งจึงมีความคิดในการนำมาใช้ซ้ำ รุ่นแรกคือ รุ่นเราสู้ ที่ใช้เวลา 45 วันในการผลิต โดยเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ส่วนในการป้องกันระดับ 3 โจทย์แรก คือ แพทย์ผู้ใช้ และ โจทย์ที่ 2 คือ การใช้ซ้ำ เนื่องจากผู้ป่วยโควิด-19 ใน 1 ราย ต้องใช้ชุด PPE ประมาณ 300 ตัว โดยเราเป็นที่แรกของโลกที่ผลิตเสื้อกาวน์ที่ใช้ซ้ำได้ และมั่นใจว่าผ่านมาตรฐานสากล ซึ่งชุดป้องกันระดับ 3 ผ่านการทดสอบจากต่างประเทศ ใช้ได้ประมาณ 50 ครั้ง พร้อมทั้งยังประยุกต์ใช้กับทางการแพทย์อื่น เช่น ทันตกรรม ชุดป้องกันนักเดินทาง ทั้งนี้จะมีการยกร่างมาตรฐานการผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ประเทศไทยทำให้เกิดการส่งออกไปต่างประเทศได้” น.ส.นิสากร กล่าว

 

ดร.อิทธิกร ศรีจันบาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสถานี รีไซเคิล วงษ์พาณิชย์ สุวรรณภูมิ จำกัด กล่าวว่า ทางบริษัทมีการบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธีแบบระบบครบวงจรเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 40 ปี เก็บรวบรวมขยะที่มีอยู่ในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ แต่ละวันมีขวด PET ที่คัดแยกแล้วเข้ามาสู่ระบบการซื้อของเก่าประมาณ 500 ตัน/วัน หลังจากนั้นจะมีบริษัทรีไซเคิลนำไปแปรรูปต่อ ขวด PETที่ หมุนเวียนอยู่นี้เป็นเสมือนการสำรองวัตถุดิบตั้งต้นสำหรับการผลิตชุดPPE ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งถ้าหากประชาชนมีการคัดแยกขวด PET และส่งต่อให้ทางบริษัทเพิ่มขึ้นก็จะเสมือนเป็นการเพิ่มการสำรองให้มีเพิ่มมากขึ้น นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ปัจจุบันนี้ขวด PET สำรองอย่างเพียงพอต่อการใช้ผลิต PPE แต่อย่างไรก็ตามหากมีการระบาดอีกครั้งอาจจะไม่ทันในการใช้ผลิต แต่เชื่อว่าประชาชนที่รับทราบข่าวสารครั้งนี้แล้วจะมีความร่วมมือร่วมใจกัน คัดแยกขยะ ไปจนถึงการนำขวดมามอบให้แก่ อภ. หรือ รพ. ต่างๆ ในการนำมาผลิตชุดเพื่อแพทย์” ดร.อิทธิกร กล่าว

นายสุพจน์ ชัยวิไล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด ผู้ผลิตสิ่งทอชั้นนำ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราพัฒนาและผลิตชุด PPE ระดับ 2 ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลก เพราะทั่วโลกยังไม่มีการนำมาใช้ซ้ำ แต่ด้วยนวัตกรรมการทอที่ทันสมัยของบริษัท ทำให้สามารถผลิตผ้าด้วยเส้นด้ายที่ผลิตจากขวด PET รีไซเคิล 100% สำหรับตัดเย็บชุด PPE ระดับ 3 ได้สำเร็จเป็นรายแรกของไทย ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าที่สามารถป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ชุด PPE จำนวน 1 ชุด ผลิตจากเส้นใยที่นำขวด PET ขนาด 600 มิลลิลิตร ประมาณ 18 ขวด ตัดเย็บเป็น 2 ชั้น เพื่อการป้องกันที่ดีกว่า แต่ยังคงคุณสมบัติสวมใส่สบาย เคลือบสารพิเศษที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ และป้องกันการซึมผ่านของน้ำที่มีแรงดัน (Hydrostatic Pressure) สามารถนำไปซักทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ซ้ำได้ใหม่มากถึง 50 ครั้ง และเมื่อใช้ถึงจำนวน 70 ครั้ง จะสามารถป้องกันเชื้อได้ในระดับ 2

“ล่าสุดประเทศอเมริกา และประเทศในยุโรปสนใจสั่งซื้อ ราคาต้นทุนของชุดระดับ 3 อยู่ที่ 700 บาทแต่ซักซ้ำได้ถึง 50 ครั้ง เฉลี่ยใช้ครั้งละประมาณ 12 บาท ซึ่งค่าซักล้างไม่เกิน 3 บาท/ครั้ง แต่ราคาของชุดจะขายในท้องตลาดอยู่ที่ 1,200-3,800 บาท/ชุด ส่วนลูกค้าที่สั่งมานั้นก็ต้องอยู่ที่ราคาขายที่ต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า มีความคุ้มค่า คุ้มทุน ทั้งนี้การจำหน่ายชุดป้องกันรุ่นเราสู้ ที่จำหน่ายไปยังประเทศฟินแลนด์และจีน ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก แพทย์ที่ใช้ถึงกับบอกว่า จะไม่กลับไปใช้ชุด PPE แบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งอีก เพราะแบบที่เราผลิตดีกว่า ใส่สบายกว่า ส่วนชุด PPE รุ่นนี้ สามารถใส่ในห้องผ่าตัดได้กว่า 20 ชั่วโมง” นายสุพจน์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง