รีเซต

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานห้องคัดกรองเคลื่อนที่แก่ ร.พ.ในเขตพื้นที่ภาคใต้ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19

กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานห้องคัดกรองเคลื่อนที่แก่ ร.พ.ในเขตพื้นที่ภาคใต้ สำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19
มติชน
4 พฤษภาคม 2563 ( 15:02 )
103

 

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 4 พฤษภาคมนี้ ที่โรงพยาบาลนาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา มูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับ กลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ส่งมอบห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อแบบเคลื่อนที่ พระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้กับ นายแพทย์ปพน ดีไชยเศรษฐ ผอ.รพ.นาหม่อม เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

 

 

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดตั้ง “กองทุน ชัยพัฒนาสู้ภัยโควิด 19 และโรคระบาดต่างๆ เพื่อช่วยเหลือโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และสิ่งของที่มีความจำเป็นในการรักษาผู้ป่วยโควิด – 19 เริ่มด้วยการจัดหาเครื่องมือป้องกันให้บุคลากร ทางการแพทย์ก่อน เพราะบุคลากรทางการแพทย์เปรียบเสมือนหน่วยหน้าและเป็นกำลังหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย จึงได้พระราชทาน ห้องคัดกรองและห้องตรวจเชื้อ แก่โรงพยาบาล

 

โดยทรงให้จัดรูปแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล ในลำดับแรกได้พระราชทานแก่โรงพยาบาล 4 แห่ง ตามภูมิภาคต่างๆ คือ โรงพยาบาลมหาราช นครเชียงใหม่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต ปทุมธานี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชยะหา จังหวัดยะลา และได้เพิ่มเติมมอบให้แก่โรงพยาบาล 5 แห่งในเขตพื้นที่ภาคใต้ คือ โรงพยาบาลนาหม่อม จังหวัดสงขลา โรงพยาบาลท่าแพ จังหวัดสตูล โรงพยาบาลทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี โรงพยาบาลบันนังสตา จังหวัดยะลา และโรงพยาบาลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งห้องคัดกรองและตรวจเชื้อนี้เป็นนวัตกรรมของ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และได้รับความร่วมมือจากจากกลุ่มธุรกิจโคคา-โคล่า ในประเทศไทย ให้การสนับสนุนด้านการขนส่ง

 

 

สำหรับนวัตกรรม SCG ป้องกันโควิด-19 แบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Isolation Unit ประกอบด้วย ห้องแยกป้องกันเชื้อความดันลบ (Negative Pressure Isolation Room) อุปกรณ์เสริมพิเศษที่ออกแบบให้เหมาะกับปฏิบัติการในห้องฉุกเฉิน ห้องไอซียู หรือแม้แต่เป็นห้องพักผู้ป่วย เพื่อให้แพทย์และพยาบาลสามารถรักษาผู้ป่วยหนักได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยและอุปกรณ์ช่วยชีวิตอื่น ๆ

 

ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative / Positive Pressure Isolation Chamber) ในหนึ่งยูนิตจะมี 3 ห้อง ห้องตรวจที่ช่วยให้แพทย์และพยาบาลสามารถสอดมือเข้าไปทำหัตถการ (Swab) โดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย ออกแบบเป็นทรงกระบอกแนวตั้ง ทางเข้าเป็นซิปรูดสำหรับเปิด-ปิด เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน และ แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Negative Pressure Isolation Capsule)อุปกรณ์ป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง