รีเซต

พินิจ จารุสมบัติ เตือนวิกฤตจีน-สหรัฐ หลัง 'เพโลซี' เยือนไต้หวัน

พินิจ จารุสมบัติ เตือนวิกฤตจีน-สหรัฐ หลัง 'เพโลซี' เยือนไต้หวัน
มติชน
5 สิงหาคม 2565 ( 08:48 )
30
พินิจ จารุสมบัติ เตือนวิกฤตจีน-สหรัฐ หลัง 'เพโลซี' เยือนไต้หวัน

กลายเป็นประเด็นที่โลกต้องจับตา เมื่อ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันโดยไม่ได้มีการแจ้งหมายกำหนดการล่วงหน้า เมื่อค่ำวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าเพื่อย้ำจุดยืนในการสนับสนุนประชาธิปไตยในไต้หวัน ท่ามกลางการขยับทันทีของทางการจีน โดยประกาศ ‘ซ้อมรบทันที’ ในขณะที่ ไช่ อิงเหวิน ประธานาธิบดีไต้หวัน ระบุว่า เพโลซี เป็นหนึ่งในมิตรที่ทุ่มเท และขอบคุณต่อการสนับสนุนที่มีในเวทีนานาชาติ

สถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยออกแถลงการณ์ยืนยันว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ย้ำหลักการ ‘จีนเดียว’ และเรียกร้องให้ทางการไทยสนับสนุนจีน ด้านกระทรวงการต่างประเทศยืนยัน ไทยยึดมั่น ‘จีนเดียว’ เช่นกัน โดยหวังว่าทุกฝ่ายจะใช้ความอดทนอดกลั้น แก้ปัญหาโดยสันติ

ล่าสุด CCTV สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน ขอเข้าพบ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีหลายกระทรวง และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ สอบถามความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว

พินิจเปิดบ้านริมคลองประเวศบุรีรมย์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา อันเป็นที่ทำการสภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯ เปิดมุมมองต่อผู้สื่อข่าว CCTV ว่า การกระทำดังกล่าวของประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในครั้งนี้ ถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีน แทรกแซงกิจการภายใน ขัดต่อหลักการจีนเดียว ไม่เคารพทั้งยังเหยียบย่ำกฎหมายระหว่างประเทศ ฝ่าฝืนกฎบัตรสหประชาชาติ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อโลกด้วย

“ผมเองในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ไม่เห็นด้วยกับการเยือนไต้หวันของประธานสภาผู้แทนสหรัฐในครั้งนี้ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อทั้งสหรัฐ ต่อชาวจีนที่ไต้หวัน และชาวจีนแผ่นดินใหญ่ รวมทั้งประชาคมโลก” พินิจกล่าว

อดีตรองนายกรัฐมนตรียังให้สัมภาษณ์ ‘มติชน’ เพิ่มเติม เจาะลึกถึงผลกระทบที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นอย่างมากมายและยาวนาน ซ้ำเติมวิกฤตเดิมที่กำลังดำเนินอยู่ให้ยิ่งทวีคูณ จากปัญหาเศรษฐกิจ สงครามการค้า และพลังงาน

“เมื่อบุคคลระดับสูงทางการเมืองของประเทศมหาอำนาจทำเช่นนี้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ผลกระทบจะตามมามากมาย และยาวนาน โลกวันนี้มีวิกฤตอยู่แล้วไม่ว่าจะด้านการเมือง เศรษฐกิจ ปัญหาพลังงาน ความยากจน ทุกข์ยากของคนทั่วโลก รวมทั้งภัยพิบัติต่างๆ ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐหากเพิ่มขึ้นมาอีก วิกฤตก็จะถาโถม เพราะต้องยอมรับว่าจีนในวันนี้ เป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เป็นโรงงานของโลก มีสารตั้งต้น มีวัตถุดิบ มีการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

เมื่อเกิดประเด็นเช่นนี้ จะทำให้เกิดอุปสรรค ต้นทุนเพิ่ม ผู้ที่ต้องแบกรับความทุกข์ยากคือประชาชนชาวโลก ไม่มีอะไรเป็นบวกเลย เราเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ดังนั้น ประชาคมโลกคงไม่เห็นด้วยกับการไปเยือนไต้หวันในครั้งนี้ แม้แต่ประธานาธิบดี โจ ไบเดนของสหรัฐเองก็เช่นกัน เพราะนี่คือการปฏิบัติที่สวนทางกับความถูกต้องและหลักการระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง” พินิจวิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว และไม่อาจหมุนเวลาย้อนกลับได้ ถามว่าการแก้ไขของรัฐบาลสหรัฐต่อกรณีนี้ควรเป็นเช่นไร อดีตรองนายกฯมองว่า สหรัฐอาจต้องมีแนวนโยบายที่ ‘เป็นมิตร’ เพิ่มมากขึ้น เพื่อปรับ ‘ความขัดแย้ง’ ที่ถูกจุดขึ้นมาครั้งล่าสุดให้ ‘ซอฟต์ลง’

ส่วนท่าทีของรัฐบาลไทย พินิจเห็นพ้องกับความเห็นของ ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ที่ออกมาบอกว่า ไทยยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว และไม่ประสงค์ที่จะเห็นการดำเนินการใดๆ ที่จะเพิ่มความตึงเครียดและบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยหวังให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะใช้ความอดทนอดกลั้นและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและหลักการว่าด้วยการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี

สำหรับกระแส ‘คอมเมนต์’ ในไทย พินิจเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่มีความเข้าใจเรื่อง ‘จีนเดียว’ ซึ่งถือว่าเป็นความชอบธรรม ถูกต้องตามกฎหมาย และบทบัญญัติที่แม้แต่องค์การสหประชาชาติก็รับรอง “ไต้หวันเป็นเพียงมณฑลหนึ่งของจีน เป็นดินแดนของจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่ใช่ประเทศ นานาชาติไม่ยอมรับ คนจีนพันกว่าล้านก็ไม่ยอมรับ สิ่งสำคัญอยู่ที่ประชาชนยอมรับหรือไม่” พินิจย้ำ ก่อนแนะนำให้ศึกษา ‘ประวัติศาสตร์จีน’ ตั้งแต่ยุคโบราณถึงการเมืองร่วมสมัย

“อยากให้ทุกคนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของจีน โดยเฉพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ แล้วจะเข้าใจว่าเกาะไต้หวันไม่ใช่แผ่นดินที่แยกออกไปเป็นประเทศ และไม่เคยเป็นประเทศ เกาะฮ่องกงก็เช่นกัน ล้วนเป็นอาณาเขตอธิปไตยของแผ่นดินจีน การที่จีนบริหารโดยให้เป็นเขตปกครองพิเศษ ผมก็ถือว่าสุดยอดแล้ว เป็นการอะลุ่มอล่วย แต่การจะปกครองตนเอง มันเป็นไปไม่ได้”

ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนฯยังวิเคราะห์ต่อไปด้วยว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่เพียงเป็นเรื่องใหญ่และยาวนาน ดังที่กล่าวมาข้างต้น หากแต่มีแนวโน้ม ‘บานปลาย’

“คิดว่ามีโอกาสบานปลาย ก่อให้เกิดผลกระทบไปยังความสัมพันธ์ ส่งผลถึงนโยบายระหว่างประเทศ ทั้งการเมือง ความมั่นคง นโยบายทางการทหาร เศรษฐกิจการค้า รวมถึงความร่วมมือด้านการศึกษา กีฬาและวัฒนธรรม ผมคิดว่าจะกระทบไปหมด จะเกิดความแตกแยก ขัดแย้งกัน แทนที่ภูมิภาคนี้จะสงบ สันติสุข ร่มเย็น ก็กลับร้อนขึ้นมาอีก” พินิจทิ้งท้าย

เป็นสถานการณ์ระดับนานาชาติ ที่เพิ่งเริ่มต้น แต่ส่อเค้าว่าจะมีโอกาสลุกลามบานปลาย และก่อผลกระทบกว้างขวาง

ประเทศไทยอยู่ในวงจรผลกระทบนี้อย่างชัดเจน ส่วนจะเกิดเรื่องราวอย่างไร ต้องติดตามอย่างไม่กะพริบตา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง