รีเซต

ทนายเกิดผลไขข้อสงสัยชาวเน็ต ‘กฏหมายครอบครองปรปักษ์’ มีไว้ทำไม

ทนายเกิดผลไขข้อสงสัยชาวเน็ต ‘กฏหมายครอบครองปรปักษ์’ มีไว้ทำไม
TNN ช่อง16
12 กุมภาพันธ์ 2567 ( 19:27 )
80
ทนายเกิดผลไขข้อสงสัยชาวเน็ต ‘กฏหมายครอบครองปรปักษ์’ มีไว้ทำไม

เป็นเรื่องราวที่เป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอยู่ในขณะนี้ หลังเกิดเหตุการณ์ เพื่อนบ้านบุกรุกเข้าไปต่อเติมทาวเฮ้าส์ใช้สอยประโยชน์ พร้อมกับติดป้ายครอบครองปรปักษ์ หลังจากที่เจ้าของบ้านไม่ได้เข้ามาอยู่อาศัยเป็นเวลานาน ทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่ากฏหมายการครอบครองปรปักษ์มีไว้ทำไม เพราะในบางกรณีอาจสร้างปัญหาที่คาดไม่ถึงแก่ผู้ที่ถือครองโฉนดอย่างถูกต้อง และเป็นเจ้าของทรัพย์สิน 


ล่าสุดทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้ออกมาอธิบายประโยชน์ของ กฏหมายครอบครองปรปักษ์ โดยระบุว่า การครอบครองปรปักษ์นั้น  สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่า ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นเจ้าของ  และมีบุคคลเข้าไปครอบครอง แล้วลงมือ ลงแรง พัฒนาที่ดิน จนเจริญรุ่งเรือง  โดยมีเจตนาเป็นเจ้าของ นานเกินกว่า 10 ปี


 ตลอดระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีที่ผ่านมานั้น ไม่ปรากฏว่ามี บุคคลใดมาหวงห้าม หรือแสดงความเป็นเจ้าของ เพราะขณะนั้นยังเป็น ‘ที่ดินรกร้างว่างเปล่า’ แต่เมื่อผู้ที่เข้าครอบครอง ได้ดำเนินการ พัฒนาที่ดิน จนเจริญงอกงาม เป็นเวลาหลายปี จนที่ดินมีราคา และความเจริญเข้าถึง กลับมาแสดงตนว่า ตนเองเป็นเจ้าของ


กฎหมายจึงคุ้มครอง ผู้ที่เข้าครอบครอง ที่ดินแปลงนั้น ให้ได้รับกรรมสิทธิ์ โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่ไม่ควรคุ้มครองคนที่เข้า ไปแย่งทรัพย์สินคนอื่นโดยตัวเอง ไม่ได้พัฒนา  หรือ แผ้วถาง สร้างสรรค์มาก่อน แต่อย่างใด



ครอบครองปรปักษ์ คืออะไร? 


การครอบครองปรปักษ์ คือการที่ บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของคนอื่นไว้โดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ครอบครองติดต่อกัน 10 ปี หรือสังหาริมทรัพย์ครอบครองติดต่อกัน 5 ปี ถือว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์” (ป.พ.พ.มาตรา 1382)


ในทางปฏิบัติ แม้จะเข้าองค์ประกอบตามมาตรา 1382 กำหนดแล้ว บุคคลที่อ้างการครอบครองปรปักษ์นั้น ต้องดำเนินการ  ‘ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์’ พร้อมแสดงหลักฐาน


ก่อนศาลจะพิจารณา ศาลจะมีหมายส่งไปยังเจ้าของที่ดิน ที่มีชื่อในกรรมสิทธิ์ดังกล่าว เพื่อให้มา ‘คัดค้าน’ และศาลจะมีคำสั่งให้ผู้กล่าวอ้างการครอบครองปรปักษ์ดำเนินการเกี่ยวกับการรังวัดที่ดินพิพาท เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย


กรณีไม่มีผู้คัดค้าน ศาลอาจจะมีคำสั่งให้บุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้นั้นต้องนำคำสั่งศาลไปติดต่อกรมที่ดินเพื่อขอเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นได้


ข้อมูลจาก: ทนายเกิดผล แก้วเกิด , สำนักงานกิจการยุติธรรม 

ภาพจาก ทนายเกิดผล แก้วเกิด, TNN ONLINE