รีเซต

จอร์จ ฟลอยด์ : ตำรวจอเมริกัน คิดอย่างไรกับการประท้วงการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจ

จอร์จ ฟลอยด์ : ตำรวจอเมริกัน คิดอย่างไรกับการประท้วงการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจ
ข่าวสด
27 มิถุนายน 2563 ( 02:06 )
110
จอร์จ ฟลอยด์ : ตำรวจอเมริกัน คิดอย่างไรกับการประท้วงการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจ

 

จอร์จ ฟลอยด์ : ตำรวจอเมริกัน คิดอย่างไรกับการประท้วงการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจ - BBCไทย

ตอนที่เกิดกระแสประท้วงต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรงของตำรวจไปทั่ว สหรัฐฯ เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ชาร์ลส์ บิลล์อัพส์ ไม่แปลกใจเลยสักนิด

เขาเป็นตำรวจผิวดำที่ทำงานในนิวยอร์กมานานหลายทศวรรษก่อนจะเกษียณ

"นี่เป็นสิ่งที่คุกรุ่นมาสักพักแล้ว" อดีตตำรวจวัย 60 ปีผู้นี้กล่าว

 

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ความรู้สึกโกรธเคืองต่อเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายทำให้ชาวอเมริกันเรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 20 มา มีความพยายามปรับปรุงหน่วยตำรวจที่มีเกือบ 18,000 หน่วยทั่วประเทศที่ต่างมีหลักการทำงานและอำนาจหน้าที่ไม่เหมือนกัน

การเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน ทำให้การปฏิรูปตำรวจกลับมาเป็นประเด็นเร่งด่วนอีกครั้ง

แต่ตำรวจเองก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันไปว่าควรจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร

 

สำหรับนายบิลล์อัพส์ ซึ่งเป็นประธานสภาใหญ่แห่งผู้พิทักษ์ (Grand Council of Guardians) ซึ่งเป็นองค์กรสำหรับตำรวจชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันในรัฐนิวยอร์ก มองว่าปัญหาอยู่ที่คนระดับผู้บังคับบัญชา

ความคิดแบบเก่า ๆ

East Bay Times via Getty Images
ตำรวจบางกลุ่มเข้าร่วมการประท้วงกับผู้ชุมนุมด้วย

ไม่นานมานี้เองที่ตำรวจอเมริกันเริ่มเลิกใช้หลักปฏิบัติแบบเข้มงวดรุนแรง แต่นายบิลล์อัพส์มองว่า ความเชื่อว่าการใช้ความรุนแรงทำให้เกิดประสิทธิภาพ ยังเป็นสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาตำรวจซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนผิวขาวและทำงานมานานยังยึดถืออยู่

"ส่วนหัวมีหน้าที่คิด และร่างกายก็จะทำตามที่หัวสั่งการ หากส่วนหัวมีสุขภาพไม่ดี ร่างกายก็ไม่สามารถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาได้" นายบิลล์อัพส์ กล่าว เขาบอกว่ายังมีคนจำนวนมากที่เชื่อว่าการทำหน้าที่ตำรวจในแบบดั้งเดิมยังได้ผลอยู่

เทเรนซ์ ฮอปกินส์ ตำรวจจากเมืองดัลลัสบอกว่า ตำรวจผิวดำรับรู้และคิดเรื่องนี้แตกต่างมาตลอด

"เราเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันก่อนที่เราจะมาเป็นผู้รักษากฎหมาย" ฮอปกินส์ เล่า โดยบอกว่านี่ทำให้พวกเขามีมุมมองแตกต่างจากเพื่อนร่วมงานผิวขาว

เมื่อปี 2006 ศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Centre) สำรวจความคิดเห็นตำรวจอเมริกันเกือบ 8,000 นาย และพบว่าตำรวจผิวดำ 69% เชื่อว่าประเทศควรจะปฏิรูปให้คนผิวดำได้รับความเท่าเทียมเท่าคนผิวขาวต่อไป ขณะที่มีตำรวจผิวขาวแค่ 6% ที่เชื่อเช่นกัน

Getty Images
เหตุประท้วงหลังจากการเสียชีวิตของอีริค การ์เนอร์ จากความรุนแรงของตำรวจในนิวยอร์กเมื่อปี 2014

แบบสำรวจในครั้งนั้นทำขึ้นหลังจากมีการปะทะระหว่างตำรวจและชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกันจนมีผู้เสียชีวิตหลายครั้ง ตำรวจผิวขาวและตำรวจที่มีเชื้อสายลาตินส่วนใหญ่เชื่อว่าแต่ละเหตุการณ์เกิดขึ้นแยกกัน ไม่ได้มีความเชื่อมโยงในเชิงเชื้อชาติแต่อย่างใด

แต่ตำรวจผิวดำ 57% เชื่อว่าเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นสัญญาณบ่งชี้ปัญหาใหญ่เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ

ความเปลี่ยนแปลง

นายฮอปกินส์ ซึ่งเป็นตำรวจมา 30 ปี บอกว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปตำรวจ

เขาเชื่อว่าต้องจ้างตำรวจที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากขึ้น อย่างในเมืองดัลลัสก็มีนโยบายที่มุ่งทำให้หน่วยตำรวจเป็นสถาบันที่สะท้อนความหลายหลายทางเชื้อชาติของเมืองที่พวกเขาปฏิบัติหน้าที่อยู่

ในขณะเดียวกันเขาก็เข้าใจว่าทำไมบางคนถึงต่อต้านการเปลี่ยนแปลงนัก

"คุณมักจะปกป้องสายงานที่คุณทำอยู่ เมื่อมีคนมาบอกว่า คุณกำลังทำผิดอยู่นะ เรามักจะคิดสวนทาง ไม่ยอมรับว่าเรามีส่วนผิดในเรื่องนั้น"

นายบิลล์อัพส์ ก็เห็นด้วย เขาบอกว่ามีฝ่ายหนึ่งที่อยากเปลี่ยนแปลง และอีกฝ่ายที่อยากจะรักษาสถานะเดิมไว้

ตำรวจบางฝ่ายออกมาแสดงความโกรธเคืองต่อผลกระทบที่ตำรวจต้องได้รับจากเหตุเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ และไม่เห็นด้วยที่มีการเรียกร้องให้เลิกให้ทุนหรือไม่ก็ยุบหน่วยตำรวจบางแห่ง

"หยุดปฏิบัติกับเราเหมือนสัตว์และอันธพาลเสียที" ไมค์ โอเมียรา กล่าว เขาเป็นประธานสมาคมการกุศลนิวยอร์ก (New York Benevolent Association) ซึ่งเป็นสหภาพของตำรวจชั้นผู้น้อยที่ถูกมองว่ามีท่าทีอนุรักษ์นิยม

Getty Images

"ผมไม่ใช่เดเร็ค เชาวิน (ผู้จับกุมนายฟลอยด์) และพวกเขา(ตำรวจคนอื่น)ก็ไม่ใช่เขาเหมือนกัน"

โอเมียรา บอกว่า ทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติ สื่อมวลชน และทุกคนพยายามทำให้พวกเขาอับอายในอาชีพตนเอง เขาบอกว่ามันน่าขยะแขยงมากที่พวกเขาถูกตัดออกจากบทสนทนาโดยสิ้นเชิง

มีการตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก 'Blue Lives Matter' เพื่อเคลื่อนไหวตอบโต้กลุ่ม 'Black Lives Matter' ซึ่งตอนนี้มีผู้ติดตามกว่า 2.2 ล้านคนแล้ว ผู้สนับสนุนบอกว่าตำรวจสมควรได้รับความเห็นใจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อันยากลำบาก และการยุบหน่วยตำรวจจะนำไปสู่การจลาจลและทำให้บ้านเมืองอยู่ในสภาพไร้ขื่อแป

เมืองแคมเด็น ในรัฐนิวเจอร์ซีย์ เป็นตัวอย่างที่ดี หลังจากยุบหน่วยตำรวจในปี 2012 และตั้งหน่วยตำรวจขึ้นใหม่ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น อัตราการก่ออาชญากรรมก็ลดลง อย่างไรก็ดี ในเมืองวัลเลโฮ รัฐแคลิฟอร์เนีย กลับมีการปะทะรุนแรงระหว่างตำรวจกับประชาชนมากขึ้นหลังจากยุบหน่วยตำรวจในปี 2008

LightRocket via Getty Images
ผู้สนับสนุนกลุ่ม 'Blue Lives Matter' บอกว่าตำรวจสมควรได้รับความเห็นใจที่ต้องปฏิบัติหน้าที่อันยากลำบาก และการยุบหน่วยตำรวจจะนำไปสู่การจลาจล

โรเบิร์ต แมคคอร์มิค อดีตตำรวจ บอกว่า ปัญหานี้ไม่มีทางแก้ได้ง่าย ๆ ในเวลาเดียวกันยังมีความซับซ้อนอื่น ๆ เช่น การจัดการกับปัญหาที่มีมุมมองเรื่องสุขภาพจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง

เวลาตำรวจรับโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉิน พวกเขาไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเหตุที่เกิดมีปัจจัยเรื่องสุขภาพจิตเกี่ยวข้องหรือไม่ ดังนั้น แมคคอร์มิค บอกว่าการมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เข้ามาเสริมกำลังก็จะช่วยได้

เกือบหนึ่งในสามของชาวอเมริกันมีปืนในครอบครอง เพราะฉะนั้น ตำรวจต้องเผชิญความเสี่ยงสูงมากเวลาปฏิบัติหน้าที่

ฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ตำรวจมองว่าควรยกเลิกสิทธิคุ้มกันไม่ให้ตำรวจต้องถูกเอาผิด เมื่อไปละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของคนที่พวกเขาเข้าจับกุม

แมคคอร์มิค บอกว่า นี่เป็นสิทธิที่จำเป็นเพื่อให้ตำรวจตำหน้าที่ของตัวเองได้ "แต่ในทางกลับกัน มันก็ยากเหลือเกินที่จะไล่ตำรวจไม่ดี ที่ไม่ทำงานออกไป...เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตัดสินให้ตำรวจมีความผิด นั่นเป็นเรื่องที่บ้ามาก"

นายบิลล์อัพส์ ประธานสภาใหญ่แห่งผู้พิทักษ์ บอกว่า ที่สำคัญที่สุดคือตำรวจต้องเรียนรู้ "ภาษาใหม่" ในการประเมินจุดมุ่งหมายและลำดับความสำคัญของหน้าที่ตำรวจ

"หน่วยตำรวจต่าง ๆ ต้องมีวิวัฒนาการให้เข้ากับยุคศตวรรษที่ 21"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง