รีเซต

ศบค.เปิดไทม์ไลน์ 'ลุง 72 ปี' ติด 'โควิด-19' เข้า 'บาร์เบอร์' ย่านประชาชื่น ใครสงสัยเข้าตรวจทันที

ศบค.เปิดไทม์ไลน์ 'ลุง 72 ปี' ติด 'โควิด-19' เข้า 'บาร์เบอร์' ย่านประชาชื่น ใครสงสัยเข้าตรวจทันที
มติชน
25 พฤษภาคม 2563 ( 12:42 )
357
ศบค.เปิดไทม์ไลน์ ‘ลุง 72 ปี’ ติด ‘โควิด-19’ เข้า ‘บาร์เบอร์’ ย่านประชาชื่น ใครสงสัยเข้าตรวจทันที

โควิด-19 เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ว่า จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยชายไทย อายุ 72 ปี ที่กรุงเทพมหานคร ที่สวมหน้ากากตลอดเวลา และมีประวัติไปที่ร้านตัดผมย่านประชาชื่น พบว่ามีการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ หลายแห่ง โดยมีช่วงเวลา (ไทม์ไลน์) คือ

เริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน เข้ารับยาเคมีบำบัดที่โรงพยาบาล รพ.รัฐแห่งที่ 1
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ได้เข้ารับผลตรวจกระดูก (bone scan) ที่ รพ.รัฐแห่งที่ 2 นำผลไปให้แพทย์ที่ รพ.รัฐแห่งที่ 1 โดยใช้เวลาประมาณ 5 นาที
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ได้เข้าเจาะเลือดที่ รพ.รัฐแห่งที่ 1 ใช้เวลา 10 นาที
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เดินทางไปทำซีที สแกน (CT Scan) ที่ รพ.รัฐแห่งที่ 1 ในแผนกไอแมค ใช้เวลา 1 ชั่วโมง โดยสวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นช่วงดื่มสารทึบแสงในการทำเอกซเรย์ ประมาณ 5 นาที
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ไปตลาดแห่งหนึ่งใน จ.นนทบุรี
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม เดินทางไปตรวจที่ รพ.เอกชนแห่งที่ 1 ช่วงเช้า
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม โดยเริ่มมีอาการป่วยคือ หนาวสั่น อ่อนเพลีย
เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ช่วงเช้าตรวจรักษาที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง หลังจากนั้นได้ไปรับประทานอาหารร้านแห่งหนึ่ง และเดินทางไปร้านตัดผมย่านประชาชื่น ภายหลังในช่วงบ่ายเข้าตรวจที่ รพ.เอกชน แห่งที่ 1 ในเวลา 23.30 น. เริ่มมีอาการไข้ หนาวสั่น ไอ จึงเรียกรถพยาบาลไปรับตัวไปยัง รพ.เอกชนแห่งที่ 2
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ได้ย้ายเข้าไปรับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์จักรีนฤบดินทร์

“การสอบสวนโรคเป็นการสอบสวนอย่างละเอียด และต้องสอบสวนพฤติกรรมโดยปกติของผู้ป่วย พบว่า มีการสวมหน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลา โดยเมื่อเริ่มมีอาการในวันที่ 17 พฤษภาคม และในวันที่ 18 พฤษภาคม เป็นต้นมา จึงเป็นช่วงการติดต่อไปยังผู้อื่นกรณีสัมผัสใกล้ชิด และเข้า รพ. จึงได้ย้ายเข้าไปรับการรักษาที่ศูนย์การแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โดยบังเอิญว่า ในวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันแรกที่มีการให้ใช้แพลตฟอร์มไทยชนะ มีร้านเข้าร่วมไม่เยอะ และเข้าใจว่า 2 ร้านนี้ ไม่ได้เข้าร่วมในระบบและผู้เข้าใช้บริการ ไม่มีการสแกนคิวอาร์โค้ดก่อน-หลังเข้าร้าน แต่หากมีการใช้ระบบไทยชนะขึ้นมา ทุกอย่างจะง่ายกว่านี้ ระบบจะบอกออกมาได้ทันทีทันใด” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า โดยผู้ที่ไปร้านอาหารและร้านตัดผมตามไทม์ไลน์ ได้มีการสอบสวนต่อ พบว่า ร้านตัดผมที่ผู้ป่วยไปตัดผม ในวันที่ 18 พฤษภาคม ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนด มีการตรวจ และกักกันตัวพนักงานที่เสี่ยงสูงอย่างน้อย 14 วันแล้ว โดยร้านเป็นห้องแอร์ มีพนักงานให้บริการในวันที่ 18 พฤษภาคม จำนวน 8 คน และก่อนเข้ามารับบริการหน้าร้านจะมีคนคัดกรองลูกค้าก่อนเข้าร้าน โดยการวัดอุณหภูมิร่างกายและให้ล้างมือด้วยแอลกออล์เจล มีการบันทึกชื่อและเบอร์โทรผู้มารับบริการ โดยภายในร้านมีการตั้งจุดล้างมือด้วยแอลก กอฮอล์เจล พนักงานทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และ Face shield ตลอดเวลาที่ให้บริการ เก้าอี้ตัดผมที่ไห้บริการจัดวางห่างกัน 1.5 เมตร ลูกค้าเข้ารับบริการได้มากสุด 3 คน ไม่มีการให้ลูกค้านั่งรอรับบริการภายในร้าน

โฆษก ศบค.กล่าวว่า ร้านอาหารที่ผู้ป่วยไปรับประทานในวันที่ 18 พฤษภาคม ปฏิบัติตามมาตรการที่รัฐกำหนด มีการตรวจ และกักกันตัวพนักงานที่เสี่ยงสูงอย่างน้อย 14 วัน แล้ว ร้านอาหารห้องแอร์ มีการจัดวางโต๊ะแต่ละโต๊ะมีระยะห่างมากกว่า 1 เมตร ภายในร้านมีจุดให้บริการล้างมือสำหรับลูกค้า มีการทำความสะอาดพื้น โต๊ะ ก่อนและหลังการให้บริการแก่ลูกค้า พนักงานที่ให้บริการทุกคนมีการสวมหน้ากากอนามัย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องของสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยรายนี้ ที่ประชาชนมีความกังวลว่าจะเป็นการแพร่เชื้อ โดยทางทีมโฆษก ศบค.ได้มีการหารือกันว่าจะเปิดเผยชื่อของ รพ.ดีหรือไม่ แต่เข้าใจว่าโลกออนไลน์ได้เผยแพร่ข้อมูลไปแล้ว ประชาชนก็สามารถติดตามได้ เบื้องต้นเป็น รพ.ของรัฐที่มีชื่อเสียงรวมถึงเป็น รพ.สังกัดกองทัพบกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่สงสัยว่าเกี่ยวโยงกับผู้ป่วยรายนี้ หรือ ไม่เกี่ยวกันก็สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ทันที

ข่าวที่เกี่ยวข้อง