สธ.ปรับเกณฑ์บูสต์วัคซีนโควิด ทุกสูตรฉีดเข็ม 4 ห่างโดส 3 นาน 4 เดือน ไม่แนะนำเด็ก
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค แถลงถึงแนวทางการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของ สธ.ว่า ข้อมูล ณ วันที่ 20 มีนาคม 2565 ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนสะสมแล้ว 127 ล้านโดส ฉีดเข็มที่ 1 แล้วกว่า 54 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 78.9 ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดแล้วกว่า 50 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 72.1 เข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้นฉีดแล้วกว่า 22 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 32.2 ซึ่งเป็นไปตามแผนที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคโควิด-19 (ศบค.) ให้ความเห็นชอบ สำหรับผลการให้บริการวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายหลัก อย่างผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเข็มที่ 1 ฉีดไปแล้ว 10 ล้านคน ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดไปแล้วราว 10 ล้านคน เช่นกัน
“ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์ โดส) ซึ่งขณะนี้ฉีดไปแล้ว 4.2 ล้านคน ส่วนอีกกลุ่ม เป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี ฉีดเข็มที่ 1 ไปประมาณ 1.7 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ในส่วนเข็มกระตุ้นเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นผลมาจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายหลัก” นพ.วิชาญ กล่าวและว่า ล่าสุดจากการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ได้มีการพิจารณาเรื่องประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งในที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และให้คำแนะนำเพิ่มเติม โดยให้ความสำคัญการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยปรับแผนการฉีด ดังนี้
นพ.วิชาญ กล่าวถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้น ว่า สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ประกอบด้วย 1.แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปทุกสูตร 2.แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 4 โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 3 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป กรณีกระตุ้นด้วยวัคซีนไฟเซอร์ สามารถฉีดขนาดครึ่งโดส ภายใต้ดุลพินิจของแพทย์และความสมัครใจของผู้รับวัคซีน ทั้งนี้ มีข้อมูลการศึกษาในผู้ใหญ่ที่แข็งแรงดี ว่า สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี แต่ไม่มีการศึกษาในผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือเด็ก
นพ.วิชาญ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในเด็กอายุ 12-17 ปี ซึ่งเป็นคำแนะนำใหม่ โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มว่า ให้เด็กอายุ 12-17 ปี ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม เข้ารับวัคซีนชนิด mRNA เป็นเข็มที่ 3 ขนาดโดสมาตรฐาน โดยมีระยะห่างจากเข็มที่ 2 เป็นเวลาตั้งแต่ 4-6 เดือนขึ้นไป ซึ่งสอดคล้องกับคำแนะนำกับองค์การอนามัยโลก และราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
“อย่างไรก็ตาม การให้วัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อ แนะนำให้วัคซีนโควิด-19 ในผู้ที่มีประวัติติดเชื้อโควิด-19 ได้ตามหลักการเดียวกับผู้ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อน โดยให้วัคซีนหลังจากการติดเชื้อ เป็นเวลา 3 เดือน สรุปแนวทางใหม่ที่เพิ่มขึ้น การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้สามารถทำได้ในเด็กอายุ 12-17 ปี ให้มีระยะห่าง 4-6 เดือนขึ้นไป ส่วนคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มกระตุ้นของ สธ. ขอย้ำว่า หากเป็นเข็ม ที่ 3 ฉีดได้ตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ส่วนเข็มที่ 4 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ในทุกสูตรวัคซีนที่กำหนดไว้” นพ.วิชาญ กล่าว
นพ.วิชาญ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการฉีดวัคซีนได้ให้ความสำคัญการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ เพื่อเตรียมความพร้อมเทศกาลสงกรานต์นี้ โดยผู้สูงอายุมีความเสี่ยงการติดเชื้อและเสียชีวิตกว่ากลุ่มอื่น และผู้ที่ไม่ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น การเร่งรัดการฉีดวัคซีนกลุ่มผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญของ สธ. และ ศบค. ซึ่งต้องย้ำว่า การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะลดความเสี่ยงเสียชีวิตได้ 41 เท่า
ทั้งนี้ นพ.วิชาญ กล่าวว่า จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด-19 เปรียบเทียบปี 2564 และปี 2565 ซึ่งประสบการณ์ในปี 2564 หลังสงกรานต์ พบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตมากขึ้น แต่ด้วยปี 2564 ข้อจำกัดของวัคซีนเข้ามายังมีน้อย แต่ปี 2565 เราไม่ประมาท จึงต้องเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันและปกป้องผู้สูงอายุ ลูกหลานที่จะเดินทางกลับบ้านขอให้ฉีดวัคซีน และคลีนอัพตัวเองก่อนเดินทางกลับ 1 สัปดาห์
“แผนการเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุ สธ.ได้กำหนดเป้าหมาย ซึ่งผ่านมติอีโอซี สธ.และของศบค. โดยได้สั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ในการเร่งรัดค้นหาผู้สูงอายุ ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยผู้ที่ถึงกำหนดการฉีดเข็มกระตุ้น ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย ร้อยละ 70 ก่อนจะถึงสงกรานต์ ซึ่งเราเตรียมวัคซีนไว้ 3 ล้านโดส ซึ่งเราได้มีการร่วมมือกับทุกภาคส่วน” นพ.วิชาญ กล่าว